Digital Economy

ฟอร์บส์เจาะวิสัยทัศน์ซีอีโอ ธุรกิจรับมืออย่างไรในยุค ‘The World Reboots’

 

O17z6Y8g.jpeg

ซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ตบเท้าเข้าร่วมงาน “Forbes Global CEO Conference” คับคั่ง พร้อมเผยมุมมองโลกใหม่ผ่านธีมสัมมนา “World Reboot” ชี้โลกกำลังเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชนบูรณาการร่วมกันได้มากขึ้น ขณะที่ยังมีซีอีโอและผู้เชี่ยวชาญหลายเสียงกังวลสงครามการค้า “จีน-สหรัฐ” ทำสมดุลโลกเปลี่ยน

สำหรับงาน Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 18 ในปีนี้จัดขึ้นในธีม The World Reboot หวังตอบโจทย์บริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการแนวทางรับมือกับความท้าทายด้านดิจิทัล และใช้การเปลี่ยนแปลงนี้มาสร้างการเติบโตที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรธุรกิจของตนเองให้มากที่สุด โดยที่ยังคงสมดุลโลกเอาไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านในด้าน เช่น รายได้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การศึกษา ฯลฯ เอาไว้ได้ด้วย

ทั้งนี้ ริค คาร์ลการ์ด บรรณาธิการใหญ่ ฟอร์บส์มีเดียเผยว่า การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่จะกระทบต่อโลกมากที่สุดมาจาก 5 ซูเปอร์พาวเวอร์ ประกอบด้วย AI, IoT, Blockchain, 5G และควอนตัม คอมพิวติ้ง ซึ่งจะทำให้โลกเข้าสู่ภาวะของการรีบูทรอบใหม่ที่จะเปลี่ยนโลกนี้ไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากจะมีเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น เช่น ฟินเทค เงินคริปโต

ในภาพรวมเศรษฐกิจโลก (คาดการณ์ปี 2562 – 2563) นั้น ผู้ร่วมเวทีเสวนาในภาคเช้าต่างมองว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตได้ดี โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนเอเชียนั้นเติบโตในอัตราที่ดีมาก ด้านจีนก็จะสามารถประคับประคองเศรษฐกิจของตัวเองได้ดี จึงยังไม่เห็นวี่แววว่าจะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจกับจีนและประเทศในเอเชียแต่อย่างใด และตลาดเกิดใหม่ก็ไม่ได้อ่อนแออย่างที่คิด

สำหรับสหภาพยุโรป ผู้ร่วมเวทีเสวนาในภาคเช้ามองเห็นว่ายังมีปัญหาด้านการคลังอยู่บ้าง โดยเฉพาะในประเทศอิตาลี แต่เชื่อว่าสหภาพยุโรปจะไม่ปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนประเทศอื่น ๆ ได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ซ่อนไว้ข้างหลังภาพที่สวยงามข้างต้นก็คือสงครามการค้า ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งในจุดนี้ นายยูวา เฮดริก หว่อง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ มาสเตอร์การ์ด ให้ความเห็นว่า เป็นการสะกัดดาวรุ่งจากสหรัฐอเมริกาที่ไม่ต้องการให้จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทสูงมากเกินไป อีกทั้ง แม้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์จะกดดันจีนมาโดยตลอด แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังขาดดุลการค้าจีนต่อเนื่อง ซึ่งในจุดนี้จะทำให้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ถูกกดดัน และหาทางหยุดยั้งจีนมากขึ้นนั่นเอง

HExLpMWw.jpeg
นายยูวา เฮดริก หว่อง

“สงครามเย็นระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเริ่มขึ้นแล้ว” นายหว่องกล่าว “จีนไม่ใช่ประเทศธรรมดาทั่วไป การจะจัดการกับจีน จำเป็นต้องอาศัยหลายประเทศร่วมมือกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายประเทศพร้อมจะร่วมมือกับทรัมป์ในการจัดการจีน แต่วิธีการทำงานของทรัมป์ ได้ทำลายการร่วมมือนั้นไปทั้งหมด”

สิ่งที่เวทีเสวนามองว่าเหมาะสมสำหรับภาคธุรกิจท่ามกลางสงครามการค้าจึงเป็นการ “ไม่เลือกข้าง” และ “การรักษาเงินสำรองของประเทศให้ดี” เพื่อที่ประเทศจะสามารถต้านทานได้ หากมีการโจมตีด้านการเงินในอนาคต

นอกจากนั้น การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สาธารณูปโภคของแต่ละประเทศแข็งแกร่งก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน ดังจะเห็นได้จากหลาย ๆ ประเทศเช่น เมียนมาร์ ที่มีการลงทุนสร้างนิวย่างกุ้ง (กำหนดแล้วเสร็จธันวาคม 2563) โครงการยักษ์ที่ครอบคลุม 5 เมืองคิดเป็นพื้นที่ 20,000 เอเคอร์ ภายในมีโรงงานขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้า โรงงานกำจัดน้ำเสีย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าในการก่อสร้างที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเกิดการจ้างงาน 2 ล้านตำแหน่ง หรือในประเทศไทยเอง ก็มีการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย – จีน และญี่ปุ่นในการสร้างรถไฟความเร็วสูง เหล่านี้จะเป็นส่วนเติมเต็มด้านสาธารณูปโภคให้กับภูมิภาคนี้ได้มากขึ้น

nPBdz7YQ.jpeg
ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์

ด้าน ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้ สามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น หรือลดลงก็ได้ แต่สิ่งที่คาดว่าจะเติบโตจากการรีบูทตัวเองของโลก นั่นคือ การมีธุรกิจสีเขียวมากขึ้น พร้อมกับหวังว่า ประเทศที่เคยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมาแล้ว ควรเรียนรู้จากเหตุการณ์นั้นและหวังว่าจะไม่ทำผิดซ้ำในปัญหาเดิม

เศรษฐกิจใหม่ท้าทายนักลงทุน

อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกนำมาถกเถียงกันบนเวทีคือเรื่องของการลงทุนในธุรกิจบนโลกใหม่ เช่น การลงทุนในสตาร์ทอัพ หรือเงินดิจิทัล โดยมีผู้ร่วมเสวนาบางรายอย่าง ฌอง เอริค ซัลลาตา หัวหน้าคณะผู้บริหาร Baring Private Equity Asia ตั้งคำถามถึงการเติบโตของธุรกิจใหม่เหล่านี้ว่าเป็นเพียงฟองสบู่หรือไม่ และนักลงทุนเสี่ยงเกินไปหรือไม่กับการลงทุนในเเงินดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็ว หรือลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่ยังทำไม่ได้แม้แต่กำไร แต่กลับมีมูลค่ามหาศาล

ยกตัวอย่างเช่น ตัวเลขมูลค่าของอูเบอร์ที่ถูกประเมินไว้กว่า 70,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทจีเอ็ม บริษัทยักษ์ใหญ่ถูกประเมินมูลค่าเอาไว้แค่ 48,000 ล้านดอลลาร์ ไม่เพียงเท่านั้น อูเบอร์ยังไม่ทำกำไร แต่เรากลับพบว่า ผู้ถือหุ้นของอูเบอร์สนับสนุนให้บริษัททดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา ขณะที่จีเอ็ม ผู้ถือหุ้นกลับไม่ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่จีเอ็มใหญ่มากพอที่จะทำได้ ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในแง่ของการแข่งขัน การบริหาร และการประเมินมูลค่าธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ในมุมของผู้บริหารธนาคารยักษ์ใหญ่ของไทย นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ในอีกด้านหนึ่ง การมีเทคโนโลยีก็ทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงลูกค้าได้แบบรายบุคคล และสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้นได้ รวมถึงสามารถให้บริการลูกค้าทั้งคอร์เปอเรทและเอสเอ็มอีได้ดีกว่าเดิม

ด้าน เซา ชังเปง ซีอีโอของ Binance แย้งว่าธุรกิจธนาคารกำลังอยู่ในความเสี่ยงจากการมาถึงของบล็อกเชน เนื่องจากที่ผ่านมา เรานำเงินไปฝากธนาคาร เพราะหวังว่าความน่าเชื่อถือของธนาคารจะเป็นตัวกลางในการเก็บเงินให้เราได้ แต่มาถึงตอนนี้ บล็อกเชนทำให้เรามีอำนาจและสามารถครองความน่าเชื่อถือนั้นได้ไม่ต่างจากธนาคารแล้ว

หรือในแง่การลงทุนที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นหน้าที่ของธนาคาร ปัจจุบัน เงินคริปโตก็กลายเป็นเครื่องมือใหม่ในการลงทุนที่สะดวกรวดเร็ว และลดการใช้พลังงานลงได้มากกว่าธนาคาร

ปัญหาเดียวของบล็อกเชน และเงินคริปโตคือการที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ อาจยังไม่ยอมรับ และนำมาใช้งานมากพอ ส่วนในภาคธุรกิจ ความไม่เข้าใจของภาคธุรกิจ รวมถึงเวลาในการปรับใช้ที่น้อยเกินไป ก็คือจุดที่ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจนั่นเอง

Avatar photo