Digital Economy

K Plus ปรับโฉม! ฟังเหตุผลกสิกรไทย เบอร์หนึ่งทำไมถึงเปลี่ยน

20181010 110830
นายพชร สมะลาภา (ขวา) ในงานเปิดตัว K PLUS โฉมใหม่

แอพพลิเคชัน K PLUS ของธนาคารกสิกรไทยที่ปัจจุบันครองเบอร์หนึ่งด้านผู้ใช้บริการที่มีมากถึง 9.4 ล้านราย ออกมาประกาศปรับโฉมแอพพลิเคชันใหม่แล้วอย่างเป็นทางการ โดยเพิ่มฟีเจอร์ใหม่เข้ามามากมาย รวมถึงการลงทุนด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม พร้อมดาวน์โหลดไปใช้งานได้ภายใน 14.00 น.ของวันนี้

โฉมใหม่ของ K PLUS ที่จะเกิดขึ้นประกอบด้วย

  • การเปลี่ยนยูสเซอร์อินเทอร์เฟสในหลายส่วน โดยเฉพาะหน้าแรกที่เปลี่ยนมากที่สุด และมีการนำฟังก์ชันที่ได้รับความนิยมสูงมาวางไว้ให้ใช้งานง่าย ๆ
  • การฝังเอไอ KADE เพื่อศึกษาตัวตน ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน
  • มีระบบแจ้งเตือน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการ โดยประมวลจากบิ๊กดาต้าเพื่อให้นำเสนอบริการที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากระบบทราบว่าลูกค้ามีการจ่ายเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน ก็อาจถามว่า จะซื้อประกันการเดินทางร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น
  • จะเห็นการร่วมมือกับพันธมิตรจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น เอไอเอส, ปตท., การบินไทย, แอร์เอเชีย, สมิติเวช, บางจาก, บูทส์, เซ็นทรัล, เดอะมอลล์ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้แอพ K PLUS สามารถสะสมแต้ม หรือนำแต้มจากพาร์ทเนอร์มาแลกเป็นสินค้าได้ นอกเหนือจากการตัดเงินจากบัญชี
  • ถอนเงินไม่ใช้บัตรเอทีเอ็ม แม้จะเป็นฟีเจอร์ที่ค่ายอื่นอาจมีแล้ว
    แต่กสิกรไทยบอกว่า แทนที่จะสร้างรหัสเพื่อให้ผู้ใช้ไปป้อนที่ตู้เอทีเอ็มแบบค่ายอื่น ซึ่งรหัสนั้นอาจรั่วไหลและทำให้คนอื่นได้เงินไปแทน กสิกรไทยจึงเลือกสร้าง QR Code ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้งานแสดงที่หน้าตู้ เพื่อยืนยันตัวตน
  • รองรับอีคอมเมิร์ซ ด้วยฟีเจอร์ใหม่ มี QR Code ในสลิป ในจุดนี้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สามารถสแกน QR Code เพื่อตรวจสอบว่า มีการโอนเงินเข้ามาจริงหรือไม่ได้เลย
  • โลโก้ใหม่

New Home Resized

KADE ผู้อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลง

KADE หรือที่ย่อมาจาก K PLUS AI-Driven Experience คือผู้อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลง โดยทีมพัฒนา KADE จะนำพาเอไอตัวนี้ก้าวไปสู่ 4 ระดับของการให้บริการ นั่นคือ

  • ระดับที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อทำการติดตั้งแอพพลิเคชัน นั่นคือการทำความรู้จักสไตล์การใช้งานของลูกค้า
  • ระดับที่ 2 เป็นระยะที่กสิกรไทยบอกว่า KADE จะเริ่มรู้ใจ และสามารถเสนอบางอย่างที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้
  • ระดับที่ 3 เป็นระยะที่ KADE พาลูกค้ากสิกรไทยให้เข้าถึงบริการต่าง ๆ ทั้งของกสิกรไทย และพาร์ทเนอร์ได้ตามความต้องการ
  • ระดับที่ 4 คือการพัฒนาให้ KADE สามารถตอบโจทย์ชีวิตผู้ใช้งานได้ เช่น ท่องเที่ยว, แต่งงาน, วางแผนทางการเงิน เป็นต้น

นอกจากนั้น KADE จะยังแทรกตัวอยู่ในหลายเซคชั่นของแอพพลิเคชัน K PLUS ด้วยไม่ว่าจะเป็น K+ Market, K+ Shop เพื่อช่วยคัดกรองสินค้าและบริการที่ตรงกับความชอบหรือไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละรายได้

แต่การเปลี่ยนที่น่าจับตาที่สุดในงานคือการที่นายพชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ออกมากล่าวว่า ตั้งเป้าถึงการมีผู้ใช้งานแอพพลิเคชัน K PLUS ที่ 100 ล้านราย สำทับด้วยนายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ที่ให้สัมภาษณ์ว่า หวังว่าจะได้ตามเป้าภายใน 5 ปี

Logo new K PLUS
โลโก้ใหม่ K PLUS

เบอร์หนึ่งทำไมต้องเปลี่ยน

แนวคิดที่ว่า การเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด แค่รักษาการเติบโตเอาไว้ให้ดี ก็เพียงพอแล้ว อาจเป็นแนวคิดที่ไม่เหมาะกับกสิกรไทยในเวลานี้อีกต่อไป เพราะในงานแถลงข่าว สิ่งที่ประมวลได้จากการกล่าวบนเวทีของผู้บริหาร K PLUS ในประเด็นของ โอเพ่นแพลตฟอร์ม, เอไอ, ข้อมูล (Data) และพาร์ทเนอร์ คือการแสดงให้เห็นว่า กสิกรไทยในวันนี้มองภาพการแข่งขันของ K PLUS ต่างออกไป ไม่ใช่ภาพของการแข่งขันในตลาดไทยอีกต่อไป หากแต่เป็นการออกไปเติบโต และสามารถจับมือกับพันธมิตรจากต่างประเทศ ซึ่งก่อนจะออกไปได้ หลังบ้านทั้ง 4 ต้องมีพร้อม

“ทุกวันนี้เราคิดเรื่องการสร้างแพลตฟอร์มหนักมาก เพราะถ้าเราจะไประดับโลก ต้องมีผู้ใช้งานอย่างน้อย 100 ล้านราย ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น จะสามารถดึงดูดพาร์ทเนอร์ดี ๆ เข้ามาได้มากขึ้น K PLUS จะไม่ใช่บริการด้านการเงินแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ละเป็นศูนย์รวมของผู้ให้บริการ หรือก็คือการก้าวไปสู่การเป็นโอเพ่นแพลตฟอร์ม” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิด
นายสมคิด จิรานันตรัตน์

อนาคตของ KADE ในมุมของ KBTG จึงมีแนวทางที่เตรียมไว้หลายด้าน เริ่มจากการเพิ่มทีมงานด้านเอไอจาก 60 คนเป็น 200 คน การผลักดันให้ KADE เป็น Robo-Advisor (ที่ปรึกษาทางการเงิน) รวมถึงการทดสอบบริการเช่น Facial Recognition หรือการใช้คำสั่งเสียง (Voice Command) ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ

“เป้าหมายในการพัฒนา K PLUS คือการทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องง่าย ๆ ให้ทุกคนเข้าถึงได้ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ แต่ศักยภาพของ K PLUS ในอนาคตจะทำให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถทำธุรกรรมได้ เกิดธุรกรรมทางการเงินข้ามประเทศ ทำให้เราตั้งเป้าหมายว่า จะมีผู้ใช้ K PLUS ถึง 100 ล้านคนทั่วโลก และทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียมกัน” นายสมคิดกล่าวปิดท้าย

Avatar photo