Digital Economy

‘โมเน็ต เทคโนโลยี’ สะท้อนภาพการแข่งขันธุรกิจในโลกใหม่

e-Palette
รถแห่งอนาคตภายใต้แนวคิด e-Palette ของโตโยต้าที่นำมาจัดแสดงในงาน CES เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (ภาพจากเอเอฟพี)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา การประกาศจับมือกันของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และซอฟท์แบงก์ คอร์ป ในการผุดบริษัทร่วมทุน “โมเน็ต เทคโนโลยี” เพื่อสานต่อแนวคิดรถอัจฉริยะสำหรับให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ได้ทำให้หลายประเทศจากทั่วโลกที่กำลังพัฒนายานยนต์อัจฉริยะหันมาจับตากันมากขึ้น

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เกิดการจับตาคือ การเป็นผู้ผลิตรถยนต์แต่เพียงอย่างเดียว กับบริษัทเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับธุรกิจในโลกใหม่ เราจึงจะได้เห็นการจับมือกันระหว่างบริษัทผู้ผลิตสินค้า กับบริษัทเทคโนโลยีมากขึ้นนั่นเอง

สองคือภาพของธุรกิจที่จะเปลี่ยนไปให้บริการในลักษณะเครือข่ายที่ธุรกิจบริหารร่วมกัน เหมือนเช่นชื่อของบริษัทโมเน็ต ที่มาจากสองคำสำคัญอย่าง Mobility Network และอาจเป็นการสะท้อนด้วยว่า ชื่อของบริษัทเพียงรายเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคแล้ว หากเป็นบริการที่กระทบต่อผู้คนจำนวนมาก เช่น บริการขนส่งสาธารณะโดยรถอัจฉริยะ

ทั้งนี้ ภายในปี 2563 โมเน็ตวางแผนจะผุดธุรกิจ Autono-MaaS ย่อมาจาก Autonomous Mobility As A Service โดยใช้แนวคิดของรถยนต์ e-Palette ซึ่งเป็นรถยนต์เอนกประสงค์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าของโตโยต้ามาใช้ในการรับส่งผู้โดยสาร โดยภาพการจับมือกันระหว่างโตโยต้าและซอฟท์แบงค์ยังแสดงให้เห็นว่า จะเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสองบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และเส้นแบ่งของการแข่งขันจะจางลงเรื่อย ๆ เช่นกัน

monet
บริการที่จะเกิดขึ้นจากโมเน็ต เทคโนโลยี (ขอบคุณภาพจากซอฟท์แบงค์)

จากแผนภูมิด้านบน สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจใหม่นี้ยังหมายรวมถึงข้อมูลที่ทั้งสองบริษัทจะได้จากบริการของโมเน็ตเทคโนโลยีด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้ง 5 อุตสาหกรรมหลักนั้นจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่มากในอนาคต รวมถึงสามารถตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุได้อย่างลงตัว

Avatar photo