Digital Economy

ไม่สวยหรูดังคิด! ผลสำรวจชี้ 71% ของธุรกิจไทยลำบากจากยุคดิจิทัล

ดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัล digital
ตัวเลขจากดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัล โดยเดลล์ อีเอ็มซี และอินเทล ที่ได้สำรวจธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ 4,600 องค์กรใน 42 ประเทศ

อาจเป็นความจริงอีกด้านของการ Transformation ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อเดลล์ เทคโนโลยีส์ ร่วมกับอินเทล ได้เปิดเผยผลการสำรวจ “ดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัล” (Digital Transformation Index : The DT Index)  โดยอิงตามศักยภาพขององค์กรธุรกิจที่สามารถมองเห็นได้ในประเด็นต่าง ๆ เช่น คุณลักษณะสำคัญของธุรกิจดิจิทัล, กลยุทธ์ด้านไอทีที่มีอยู่เดิม, กลยุทธ์ในการปฏิรูปคนทำงาน (Workforce Transformation) และแผนงานด้านการลงทุนใน 4,600 องค์กร จาก 42 ประเทศ โดยในจำนวนนี้มีองค์กรจากประเทศไทยเข้าร่วมในการสำรวจด้วย 100 แห่ง

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า มีเพียง 7% ขององค์กรในประเทศไทยที่ถูกจัดอยู่ในระดับผู้นำ (Digital Leaders) หรือก็คือกลุ่มที่มีการปฏิรูปสู่ดิจิทัลในหลากหลายรูปแบบ และมีการปลูกฝังความเป็นดิจิทัลอยู่ในดีเอ็นเอของธุรกิจ ส่วนอีก 40% ถูกจัดอยู่ในระดับผู้ที่กำลังเริ่มก้าวสู่ดิจิทัล (Digital Adopters) โดยในกลุ่มนี้มีแผนงานด้านดิจิทัลที่เป็นรูปธรรม มีการลงทุน และสร้างนวัตกรรมภายในองค์กร

กลุ่มต่อมาคือ Digital Evalutors หรือผู้ที่กำลังประเมินดิจิทัล ซึ่งคิดเป็น 25% จาก 100 องค์กร บุคลิกของกลุ่มนี้คือมีความเข้าใจและตระหนักในความสำคัญของดิจิทัล แต่การลงทุนจะเป็นแบบค่อย ๆ ทำ ไม่รุนแรงดุดันเท่ากลุ่ม Digital Adopters

ส่วนสองกลุ่มสุดท้ายถือว่าน่าเป็นห่วง โดยมี 23% ขององค์กรไทยที่พบว่าเป็นกลุ่มผู้ตามในเรื่องดิจิทัล (Digital Followers) ซึ่งพฤติกรรมของกลุ่มนี้คือ มีแค่การวางแผนเริ่มต้นอย่างคร่าว ๆ เท่านั้น ยังไม่มีการหยิบจับหรือลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่ม Digital Laggards นั่นคือไม่มีการลงทุนใด ๆ เลย และไม่รู้จะทำอะไรต่อไปในยุคดิจิทัลด้วย

ทั้งนี้ การสำรวจพบว่า 71% ของผู้นำในองค์กรของไทย เชื่อว่า องค์กรของตนต้องดิ้นรนอย่างมาก เพื่อตอนโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปให้ทัน ขณะที่อีก 33% เกรงว่าองค์กรของตนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และ 45% ของธุรกิจกังวลว่า บริษัทของตนเองจะหายไปในอนาคต

อย่างไรก็ดี การสำรวจครั้งนี้เป็นการจัดทำครั้งแรกของประเทศไทย จึงยังไม่มีตัวเลขในปีก่อนหน้ามาใช้เปรียบเทียบได้

นายนพดล ปัญญาธิปัตย์
นายนพดล ปัญญาธิปัตย์

“ความท้าทายหนึ่งของธุรกิจไทยคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า ที่ไม่ได้กระทบแค่บริษัทขนาดเล็ก แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่เคยได้เปรียบในเรื่อง Economy of Scale ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากลูกค้าทุกวันนี้ ต้องการสินค้าที่ผลิตขึ้นแบบเฉพาะตัว จึงไม่สามารถใช้การผลิตจำนวนมากเพื่อจะได้ต้นทุนที่ถูกอีกต่อไป” นายนพดล ปัญญาธิปัตย์ ผู้จัดการ เดลล์ อีเอ็มซี ประจำประเทศไทยกล่าว

โดยสิ่งที่เดลล์ อีเอ็มซีพบก็คือ องค์กรในปัจจุบันมีทั้งกลุ่มที่กล้า และกลุ่มที่กลัวเทคโนโลยี ซึ่งความกล้านั้นเกิดขึ้นการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่มาจากการใช้เทคโนโลยี เช่น เอไอ หรือ IoT ส่วนกลุ่มที่กลัว เนื่องจากไม่มีความรู้ความเข้าใจ และไม่ทราบว่าจะใช้เทคโนโลยีอย่างไร

นายนพดลกล่าวต่อว่า “ตอนนี้เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งเรื่องของเทคโนโลยีเก่งขึ้น ทั้งเรื่องของธุรกิจที่มีการปรับเปลี่ยน และตัวเราเอง สามส่วนนี้ต้องมีการประสานงานกัน ไม่เพียงเท่านั้น วันนี้เราอาจต้องแข่งกับพาร์ทเนอร์และลูกค้าของเราด้วย”

เปิด 5 อุปสรรคใหญ่ของภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวระบุว่า อุปสรรค์ที่ขัดขวางการทำ Digital Transformation นั้นมีหลัก ๆ 5 ข้อ ประกอบด้วย

  • – ประเด็นเรื่อง Data Privacy และ CyberSecurity โดยพบว่าภัยคุกคามทุกวันนี้ทำให้ธุรกิจเปลี่ยนแนวคิดจากการป้องกันเป็นการลดความเสียหายให้น้อยที่สุด
  • – ประเด็นเรื่อง Digital Culture ที่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เช่น วัฒนธรรมองค์กรที่ทำงานได้แบบ Anywhere Anytime
  • – การขาดความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลของบุคลากร และผู้บริหาร
  • – การขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมเอามาใช้งาน

สำหรับคำแนะนำเพื่อให้ธุรกิจก้าวข้ามช่วง Digital Transformation นี้ไปได้นั้น งานวิจัยนี้พบว่ามีทางออกต่าง ๆ ดังนี้

  • – ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการสร้างผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด 69%
  • – พัฒนาแอพพลิเคชันแบบ Agile นั่นคือ พัฒนาเป็นส่วนย่อย ๆ และส่งออกไปให้ผู้ใช้งานได้ทดลองก่อน หากไม่พอใจก็รีบปรับแก้ เน้นความเร็วในการพัฒนาเป็นหลัก 45%
  • – ผู้บริหารต้องลงมาศึกษาทำความเข้าใจในดิจิทัล แทนการสั่งอย่างเดียว เพื่อให้มีวิสัยทัศน์เดียวกัน 65%
  • – ภายในองค์กรต้องมีการแชร์องค์ความรู้ต่าง ๆ ร่วมกัน 52%

แต่หากเป็นเรื่องของการลงทุน DT Index พบว่า 8 เทคโนโลยีที่องค์กรจะเลือกลงทุนมากที่สุดเพื่อรองรับโลกในยุค Digital Transformation ได้แก่

  • – ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ 73%
  • – มัลติคลาวด์ 63%
  • – ดาต้าเซนเตอร์ที่เน้นการประมวลผลเป็นหลัก 61%
  • – เอไอ 56%
  • – IoT 55%
  • – บล็อกเชน 55%
  • – Cognitive Systems 44%
  • – AR/VR 40%

สำหรับบริษัทผู้ทำวิจัยในครั้งนี้คือ Vanson Bourne ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยอิสระ และจะมีการเผยแพร่ผลวิจัยในระดับโลกในช่วงต้นปี 2562 นี้ตามมา

Avatar photo