Digital Economy

กรณีศึกษา เมื่อนักแข่งรถญี่ปุ่นใช้ IoT และบิ๊กดาต้าชนะสนาม Indy Car

Grand Prix at TSportland2
ทาคุยะ ซาโตะ (กลาง)

เชื่อว่าตอนนี้หลาย ๆ คนคงกำลังให้ความสนใจกับการแข่งโมโตจีพีที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้ เห็นได้จากความคึกคักในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสนามการแข่งขันประลองความเร็วระดับโลกนั้น ต้องยอมรับว่าในหลายสนามได้มีการนำเทคโนโลยีเช่น IoT และบิ๊กดาต้าเข้ามาใช้เป็นเบื้องหลังด้วยเช่นกัน และมีนักแข่งที่ประสบความสำเร็จจากเทคโนโลยีดังกล่าวแล้วด้วย

โดยหนึ่งในนั้นคือนายทาคุมะ ซาโตะ (Takuma Sato) นักขับรถแข่ง อดีตแชมป์การแข่งขัน Formula 1 ซึ่งปัจจุบันได้เข้าร่วมในการแข่งขันรถประเภทอินดี้ หรือ IndyCar series สังกัดทีม Rahal Letterman Lanigan Racing Team (RLL) และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งกัน Grand Prix ของพอร์ตแลนด์เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสนใจก็คือเป็นการชนะที่เขยิบจากลำดับที่ 20 มาสู่ลำดับที่ 1 เลยทีเดียว

ความพิเศษของการใช้ IoT ร่วมกับบิ๊กดาต้าที่ช่วยทาคุมะ ซาโตะในครั้งนี้ คือ ทำให้เกิดโซลูชันด้านการวิเคราะห์ข้อมูลที่นอกจากจะวิเคราะห์ข้อมูลของทีมตัวเองแล้ว ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลของทีมหลักอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิเคราะห์การตั้งค่าองศาเครื่องยนต์ (Geometry Settings Analysis) ที่ช่วยให้การคาดการณ์เกี่ยวกับการประหยัดเชื้อเพลิงทำได้ดีขึ้น และยังช่วยด้านการตัดสินใจหยุดที่จุดพักรถ (pit stop) ให้น้อยลง จนทำให้นายซาโตะขยับจากลำดับที่ 20 เป็นผู้ชนะที่ 1 ในที่สุด

นอกจากนั้น การใช้เทคโนโลยี IoT ยังสามารถหาและเก็บข้อมูลได้ผ่านเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งตามจุดต่าง ๆ ของรถแข่ง และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านคลาวด์ รวมถึงนำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหา เช่น การนำข้อมูลมากมายมาสร้างเป็นภาพเพื่อช่วยในการตัดสินใจการตั้งค่าเครื่องยนต์ที่เหมาะสมและการจัดการการควบคุมต่าง ๆ ของนักแข่ง ด้วยการนำข้อมูลจากการควบคุมพวงมาลัย การเร่งความเร็ว การเบรก โหลดของเครื่องยนต์ อาการเครื่องยนต์กับการขับเคลื่อน ฯลฯ มาสร้างเป็นภาพ เพื่อใช้เป็นข้อมูล ประกอบการพูดคุยปรึกษาหารือเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าว ช่วยให้สามารถตัดสินใจการตั้งค่าเครื่องยนต์ รวมทั้งสามารถจัดการกับการควบคุมรถของนักแข่งได้อย่างเหมาะสม

การวิเคราะห์วิดีโอการแข่งขันเพื่อช่วยให้นักแข่งเข้าโค้งได้ดีที่สุด จากการวินิจฉัยเพื่อชี้ให้เห็นว่าในการเข้าโค้งหลาย ๆ ครั้งที่ช่องว่างระหว่างตัวรถมีแนวโน้มขยายกว้างขึ้นไป และนำไปเปรียบเทียบกับเส้นทางการวิ่ง ความเร็ว และปัจจัยอื่น ๆ ของรถแต่ละคันที่มีการเข้าโค้งที่คล้าย ๆ กัน นอกจากนี้ ยังมีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศ ความชื้น อุณหภูมิพื้นถนน ในช่วงเวลาต่าง ๆ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการพูดคุยภายในเพื่อหาวิธีให้นักแข่งเข้าโค้งได้ดีที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการใช้ข้อมูลสด (live data) ด้วยระบบอัตโนมัติแบบ Robotic process automation (RPA) ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลสดจากการแข่งขันเพื่อใช้ประโยชน์ของข้อมูลอย่างทันท่วงทีและถูกต้องแม่นยำ

พันธมิตรด้านเทคโนโลยีของ ทาคูมะ ซาโตะ อย่างบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ยังเผยด้วยว่า ปัจจุบัน พบเทรนด์ที่ทีมนักแข่งรถเริ่มให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ แทนที่จะโฟกัสเฉพาะประสิทธิภาพของรถยนต์ ความสามารถของนักแข่งรถ และความพร้อมของทีมสนับสนุนแต่เพียงอย่างเดียวมากขึ้น 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight