Digital Economy

‘2562’ มูลค่า Mobile Commerce แซงอีคอมเมิร์ซ

 

pexels photo 1038000

ผลวิจัยชี้ ตัวเลขการการจับจ่ายใช้สอยบนโทรศัพท์มือถือ หรือ M-Commerce จะแซงหน้า e-Commerce ภายในปี 2562 โดยประเทศผู้นำก็คือจีนแผ่นดินใหญ่ที่ปัจจุบันเป็นประเทศแรกของโลกที่มียอดการใช้จ่ายออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ไปแล้วเรียบร้อย

ผู้ที่ออกมาคาดการณ์ตัวเลขดังกล่าวคือบริษัทวิจัยชื่อ 451 Research ที่ระบุว่า ไม่เพียงแต่การช้อปปิ้งบนมือถือจะแซงหน้าเท่านั้น เพราะเมื่อคนเราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือจ่ายเงินได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะบนออนไลน์หรือออฟไลน์แล้ว ช่องทางที่จะ “คิดเงิน” ก็จะเปลี่ยนไปด้วย โดยบริการอย่าง Apple Pay และ Google Pay ซึ่งเป็นการชำระเงินชนิดแบบ Contactless นั้นจะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30.7% ภายในปี 2565 (แต่หากเทียบในภาพรวมของรูปแบบการชำระเงินที่จะถูกใช้ในร้านค้าปลีกแล้วก็ยังถือว่าน้อยมาก เพราะคิดเป็น 3.8% ของโลกปี 2565 เท่านั้น)

ส่วนการค้าออนไลน์ 451 Research คาดการณ์ว่าจะโตขึ้นอีก 6 เท่าเมื่อเทียบกับยอดขายของการค้าแบบออฟไลน์ และจะมีมูลค่า 5.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2565

pexels photo 919436

จากการคาดการณ์ดังกล่าว จะมีเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ได้รับอานิสงค์อย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ “เสิร์ชเอนจิน” ที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นในโลกยุคนั้น เพราะเสิร์ชเอนจินเป็นที่มาของทุกอย่างแห่ง M-Commerce ทั้งค้นหาสินค้า ค้นหารีวิว อ่านความเห็นจากบล็อกเกอร์ ฯลฯ ในขณะเดียวกัน หากเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีเครื่องมือที่ช่วยเปรียบเทียบราคา หรือช่วยตัดสินใจก็จะทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้นด้วย

ปัจจุบัน ตัวเลขการซื้อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่ที่ 10.2% ของตัวเลขการค้าปลีกทั้งหมด ซึ่ง 451 Research ระบุว่า ภายในปี 2565 ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 17.3%

สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการในตอนนี้คือการเตรียมช่องทาง หรือแผนให้ผู้บริโภคทำการซื้อผ่านโทรศัพท์มือถือเอาไว้แต่เนิ่น ๆ เพราะผู้บริโภคจะมีความคุ้นเคยกับการใช้โทรศัพท์มือถือซื้อของมากขึ้นเรื่อย ๆ

ประชากรโลกที่ปรับตัวไปแล้วอย่างรวดเร็วคือจีน ขณะที่สหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจกลับพบการปรับตัวที่ช้ากว่า เนื่องจากยังคุ้นเคยกับการใช้บัตรเครดิต และบัตรเดบิตในชีวิตประจำวัน โดยในญี่ปุ่น การจ่ายด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนเพียง 20% ของทั้งหมด รูปแบบการชำระเงินทั้งหมด ขณะที่เกาหลีใต้ ตัวเลขดังกล่าวมีถึง 90% ส่วนในจีนพบว่ามีถึง 60%

ขณะที่สหรัฐอเมริกา ตัวอย่างของการเติบโตที่ช้ากว่าหลายประเทศอาจเป็นตัวเลขของร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ที่คาดว่าจะมีลูกค้า 23.4 ล้านคน (อยุตั้งแต่ 14 ปีขึ้น) ซื้อสินค้าภายในร้านผ่านแอพพลิเคชัน 1 ครั้งในทุก ๆ 6 เดือน ขณะที่จีน กาแฟสตาร์บัคส์สามารถซื้อออนไลน์และจัดส่งได้ผ่านอาลีบาบาทุกวัน

ความน่าภูมิใจของสหรัฐอเมริกาในด้านการปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดในวันนี้คือการคาดการณ์ของ eMarketer ที่บอกว่า จะมีประชากร 25% ของสหรัฐอเมริกาที่อายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป หันมาใช้จ่ายผ่านโมบายล์เพย์เมนต์อย่างน้อย 1 ครั้งในทุก ๆ 6 เดือนนั่นเอง

Avatar photo