Digital Economy

เปิดจุดต่าง ‘ทวิตเตอร์’ โตผ่าน #LookAtThis

daat day 2018
นาย Arvinder Gujral กรรมการผู้จัดการ ทวิตเตอร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ทวิตเตอร์เปิดตัวเลขผู้ใช้งาน โต 2 หลักต่อเนื่อง 7 ไตรมาสติดต่อกัน (ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 – ไตรมาสที่ 2 ปี 2561) พร้อมยกปรากฏการณ์ “หมูป่าติดถ้ำหลวง” ผ่านแฮชแท็ก #ThaiCaveRescue จากประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสริมการเติบโตจากการเข้าร่วมงาน DAAT Day 2018 ของทวิตเตอร์ในปีนี้ นาย Arvinder Gujral กรรมการผู้จัดการ ทวิตเตอร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผยว่า ปัจจุบัน การใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วไป มักเป็นการใช้เพื่อให้ผู้อื่นหันมาสนใจตัวของเรา หรือ #LookAtMe แต่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ กลับต่างออกไป เพราะผู้ใช้ทวิตเตอร์จะทวีตในสิ่งที่ตนเองสนใจ (#LookAtThis) ออกไปสู่โลกภายนอกมากกว่า หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยสะท้อนให้นักการตลาดเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ใช้งานแต่ละรายมีความสนใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ

“เราเห็นการแชร์ทวีต ไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทีวี อินสตาแกรม แต่น้อยครั้งที่จะมีข้อมูลจากแพลตฟอร์มอื่นแชร์มาที่ทวิตเตอร์ ดังนั้น แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องการความรวดเร็วมักใช้แพลตฟอร์มของทวิตเตอร์ในการสร้างการติดตาม”

Arvinder กล่าวด้วยว่า “ผู้ใช้งานไม่ติดตามพี่น้อง หรือญาติตัวเองบนทวิตเตอร์ ตรงกันข้าม เขาจะติดตามเรื่องที่พวกเขาสนใจมากกว่า” ดังนั้นแล้ว ในฐานะนักการตลาด นาย Arvinder มองว่า ทวิตเตอร์สามารถเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ต่างจากโซเชียลมีเดียยี่ห้ออื่น ๆ เช่นกัน

นาย Arvinder ยังอ้างถึงพฤติกรรมของกลุ่มมิลเลนเนียลที่ชอบชมวิดีโอออนไลน์มากเป็นพิเศษว่าช่วยให้คอนเทนต์วิดีโอที่สร้างขึ้นบนทวิตเตอร์ได้รับการจดจำที่ดีกว่า เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นแสดงผลในสิ่งที่ผู้ติดตามสนใจ

daat day 2018
การรับชมคอนเทนต์วิดีโอบน twitter

นอกจากนั้น Arvinder ยังนำตัวเลขการรับชมคอนเทนต์วิดีโอบนทวิตเตอร์ที่ชี้ว่า มีผู้ชมถึง “ครึ่งเรื่อง” เยอะกว่าเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมมาอวดในงานด้วย

สำหรับผู้ที่มายกตัวอย่างการใช้งานทวิตเตอร์อย่างที่สร้าง Engagement ได้อย่างมากนั้น คือนายชนะชัย ไชยปัญญา จาก MediaDonuts (Twitter Exclusive Partner ของไทย) โดยเขาเผยว่า ความสำเร็จของแบรนด์บนทวิตเตอร์นั้นเกิดจากการสร้างคาแรคเตอร์ให้มีความเป็นมนุษย์ มีอารมณ์ขัน ฯลฯ เช่น กรณีของเน็ตฟลิกซ์

daat day 2018
นายชนะชัย ไชยปัญญา

“ไม่ต้องเตรียมคอนเทนต์สวยหรู เพราะทวิตเตอร์ชอบคอนเทนต์ที่ Short & Sharp” นายชนะชัยกล่าว

นอกจากนั้น ยังมีกรณีศึกษาของการ Collaborate ระหว่างแบรนด์เกิดขึ้นในเหตุการณ์ถ้ำหลวงด้วยเช่นกัน นั่นคือกรณีของเอ็มไทย และเซเล่นอีเลฟเว่น จนเกิดแฮชแท็ก #เว่นเอ็ม ที่โด่งดัง

อย่างไรก็ดี สำหรับการใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ นายชนะชัยเผยว่า หากมาใช้บนทวิตเตอร์ สิ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ก็คือ การที่แบรนด์ให้อิสระอินฟลูเอนเซอร์นำเสนอสินค้าหรือบริการในสไลต์ของตัวเอง แบรนด์ไม่ควรสร้างประโยคมาให้ เพราะจะทำให้ไม่รู้สึกถึงความจริงใจ และเข้าไม่ถึงผู้ใช้งานได้ในที่สุด

Avatar photo