Digital Economy

ช้อปปี้แนะ “ซีเคร็ทซอส” เจาะอีคอมเมิร์ซไทย

01 เทอเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการของช้อปปี้
นายเทอเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการของช้อปปี้

ช้อปปี้เปิดตัวเลขนักช้อปออนไลน์ไทย พบมีแล้วกว่า 12 ล้านคน ใช้จ่ายเฉลี่ย 8,000 บาทต่อคน คาดภายในปี 2564 ตัวเลขนักช้อปออนไลน์แตะ 20% ของจำนวนประชากร หรือ 13.9 ล้านคนแน่นอน

เตรียมจัดงานใหญ่แห่งปีอีกแล้ว สำหรับช้อปปี้ ในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน กับงาน 9.9 Super Shopping Day ซึ่งในวันนี้ ทางแพลตฟอร์มจึงได้มีการเปิดตัวเลขอีคอมเมิร์ซไทยเพื่อเรียกน้ำย่อยกันก่อน 

โดยตัวเลขที่ช้อปปี้นำมาเผยในงานดังกล่าวระบุว่า จำนวนคนไทยที่ช้อปปิ้งออนไลน์นั้นมีแล้วถึง 12.1 ล้านคน (ในปี 2561) และมียอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 8,000 บาทต่อคน โดยตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 13.9 ล้านคนในปี 2564 หรือคิดเป็น 20% ของจำนวนประชากร รวมถึงยอดใช้จ่ายต่อคนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 12,700 บาทต่อคนด้วย

สำหรับปัจจัยที่ทำให้คนเข้ามาช้อปปิ้งบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้น มาจาก 5 ประเด็นหลัก เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ เรื่องของราคา, ความหลากหลายของสินค้า, ความมีชื่อเสียง, บริการจัดส่งฟรี และการมีทางเลือกในการชำระเงินที่หลากหลาย

ส่วนช่องทางในการช้อปปิ้งนั้น ช้อปปี้พบว่า ส่วนใหญ่มาจากแอพพลิเคชันบนอุปกรณ์โมบายล์ 67.3% เว็บไซต์ 10.5% และการใช้ทั้งสองช่องทางผสมกัน 22.2%

นอกจากนั้น การที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้งานโซเชียลมีเดียสูงที่สุดในโลก (โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ที่เฉพาะกรุงเทพฯ มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากถึง 22 ล้านคน) ยังทำให้โซเชียลมีเดียมีบทบาทสูงต่อวงการอีคอมเมิร์ซด้วยเช่นกัน โดยช้อปปี้พบว่า 71% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะให้ความเชื่อถืออินฟลูเอนเซอร์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่ม KOL (Key Opinion Leaders) และ 74% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีการซื้อสินค้าหรือบริการหลังจากเห็นโฆษณาที่มีการใช้ KOL รีวิว

นายศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์
นายศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ช้อปปี้ให้ข้อมูลตลาดอีคอมเมิร์ซ

ช้อปปี้เองก็เคยจัดเซสชั่นรีวิวสินค้าโดยใช้ KOL เช่นกัน และพบว่าใน 37 เซสชั่นที่จัดผ่าน Facebook Live ในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคมที่ผ่านมานั้นสามารถสร้าง Reach ได้ถึง 5.8 ล้าน Reaches เลยทีเดียว

จากภาพรวมดังกล่าว นายเทอร์เรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการช้อปปี้กล่าวว่า ช้อปปี้มีการเติบโตอย่างมากในปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเรามียอดผู้ใช้งานอยู่ที่ 160 ล้านคนทั่วภูมิภาค และมีผู้ใช้งานชาวไทยดาวน์โหลดแอพพลิเคชันแล้วกว่า 23 ล้านคน ส่วนยอดของร้านค้า (ผู้ขาย) บนแพลตฟอร์มก็มีมากถึง 8 แสนร้านค้า

นอกจากนั้น ยังมีการสร้างความแปลกใหม่บนแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัว Shopee Mall ในเดือนมีนาคม การเปิดตัว Shopee Celebrity Club ในเดือนเมษายน และการจัด Super Brand Day ในเดือนพฤษภาคม

shopee
ทีมผู้บริหารของช้อปปี้เปิดโครงการ9.9อย่างเป็นทางการ

ซอสลับ 9.9

สำหรับการจัดงาน 9.9 Super Shopping Day นั้น ในปีนี้ ถือเป็นปีที่ 3 ของการจัดงาน ซึ่งตัวเลขของ 9.9 Super Shopping Day ในปีที่ผ่านมาพบว่า ในปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 ช้อปปี้มีจำนวนผู้ขายบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า มีนักช้อปเพิ่มขึ้น 4.4 เท่า มียอดการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 5.2 เท่า และมียอดขายที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 7.5 เท่า

สำหรับในปีนี้ ช้อปปี้เผยว่า ความพิเศษคือมีหน่วยงานภาครัฐของไทยให้ความสนใจเข้าร่วมงาน รวมถึงยังมีแบรนด์ขนาดใหญ่ให้ความสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์, Grab, เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์, อะโกด้า, Booking.com, นกแอร์ ฯลฯ อีกทั้งยังมีช่วงช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยจับมือกับทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดตัวแคมเปญ Thailand 9.9 Selected SME Online ที่นำสินค้าเอสเอ็มอี 99 ชนิดจากทั่วประเทศมาให้เลือกช้อปกันด้วย

“ที่ผ่านมา ช้อปปี้ในประเทศไทยทำได้เหนือกว่าที่คาดหมาย เคล็ดลับ หรือซีเคร็ทซอสที่ทำให้เราประสบความสำเร็จมี 3 ข้อด้วยกัน นั่นคือ เราเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ภาษาไทยทั้งหมด, สองคือการพัฒนาอีโค่ซิสเต็มส์ในไทยที่ตอบโจทย์และรองรับการเติบโต ทั้งในด้านโลจิสติกส์ – ระบบชำระเงิน และข้อสุดท้ายคือการเข้าใจมายเซ็ทของผู้บริโภค”

เทอเรนซ์ แพง
นายเทอเรนซ์ แพง

อย่างไรก็ดี นายเทอร์เรนซ์ มองว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยถือเป็นช่วงเริ่มต้น เพราะคนไทยยังใช้ซื้อสินค้าแฟชั่น, เครื่องสำอาง, Gadget IT เป็นหลัก ในขณะที่ประเทศที่ระบบอีคอมเมิร์ซพัฒนาแล้ว การซื้อของบนอีคอมเมิร์ซจะเปลี่ยนไปเป็นการซื้อของใช้ประจำวันผ่านอีคอมเมิร์ซได้เลย เช่น ในไต้หวันที่คนนิยมซื้ออาหาร ของใช้ในบ้าน

ด้วยเหตุนี้ ช้อปปี้ในประเทศไทยจะยังไม่โฟกัสเรื่องการทำเงิน แต่จะโฟกัสเรื่องการดึงดูดคนให้เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขยายโปรดักซ์ออกไปยังกลุ่มกีฬา รถยนต์ ฯลฯ ด้วย

Avatar photo