Digital Economy

ไม่ย้ายค่าย สำรวจพบคนอเมริกันยังรักเฟซบุ๊ก

อเมริกันยังรักเฟซบุ๊ก

แม้ประเด็นเรื่องเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่ปล่อยให้มีการดูดข้อมูลโปรไฟล์ของผู้ใช้งานและเพื่อนออกไปใช้ประโยชน์ในการทำแคมเปญทางการเมือง จะทำให้ฝ่ายต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาออกมาแสดงความวิตกกังวลเรื่องนโยบายด้านความเป็นส่วนตัว ทว่า เมื่อมีการทำแบบสอบถามชาวอเมริกันจำนวน 2,237 คนในระหว่างวันที่ 21- 23 มีนาคมที่ผ่านมา คำตอบที่ได้รับกลับน่าสนใจยิ่งกว่า

โดยการทำสำรวจครั้งนี้มีขึ้นโดย Ipsos ที่พบว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการล็อกอินของตนเองบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ

นอกจากนั้นยังพบว่า 96% เผยว่า พวกเขาไม่คิดจะเปลี่ยนใจไปใช้บริการค่ายอื่น เช่น วอทส์แอป (WhatsApp) หรือ ซิกแนล (Signal) แอปพลิเคชันแชทของอดีตผู้ก่อตั้งวอทส์แอป ที่มีการเข้ารหัสข้อมูลก่อนส่งเพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ 17% ของผู้ตอบแบบสอบถามเผยถึงวิธีการปกป้องความเป็นส่วนตัวด้วยการหาเทปมาแปะบนกล้องบนคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊กใช้กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของตนเอง

ผลการสำรวจดังกล่าวยังระบุด้วยว่า แพลตฟอร์ม “เฟซบุ๊ก” ยังคงเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยมากกว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าพวกเขาใช้งานเฟซบุ๊กตลอดทั้งวัน ขณะที่แพลตฟอร์มอย่างอินสตาแกรม และสแนปแชทไม่ได้รับคะแนนในระดับนี้

ความนิยมของเฟซบุ๊กที่ไม่ถดถอยลงนี้ สวนทางกับคอมเม้นท์จากพี่น้องในวงการเทคโนโลยี โดยล่าสุด ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล (Apple) ได้ออกมาตำหนิเฟซบุ๊กอย่างตรงไปตรงมาในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเพื่อผลกำไรของบริษัท

แง่คิดที่ซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่รายนี้ฝากไว้ให้กับเฟซบุ๊กคือการที่แพลตฟอร์มต้องมีจริยธรรมมากพอที่จะสามารถ “กำกับดูแล” ตัวเองได้ หาใช่รอผู้อื่นออกกฎหมายควบคุม

“จริง ๆ แล้ว เราสามารถทำเงินจากผู้ใช้งานแอปเปิลได้เช่นกัน ถ้าเรามองลูกค้าเป็นสินค้า แต่แอปเปิลเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น เพราะความเป็นส่วนตัวเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นเอกลักษณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด”

โดยหากยังจำกันได้ แอปเปิลเคยมีกรณีที่บริษัทรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอย่างเคร่งครัดจนถูกโจมตีอย่างหนักมาแล้วหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การไม่ยอมช่วยเอฟบีไอปลดล็อกโทรศัพท์ไอโฟนของผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์กราดยิงจนมีผู้เสียชีวิต 14 ศพในแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2558 (ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ในเวลาต่อมา เอฟบีไอได้ออกมาแถลงว่าบริษัทสามารถปลดล็อกไอโฟนได้ด้วยตัวเอง)

“ถ้าเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกครั้ง แอปเปิลก็ยังคงยืนยันที่จะทำเหมือนเดิม เพราะนี่คือตัวตนของอเมริกา” ทิม คุกกล่าวปิดท้าย

อ่านเพิ่มเติม
ทางรอดเลือกตั้ง ต้องกระชับพื้นที่ ‘โซเชียลมีเดีย’

Avatar photo