Digital Economy

รู้จัก ‘Content ID’ ดาบกายสิทธิ์บนแพลตฟอร์ม YouTube

youtube
ภาพจาก Pixabay

มีตัวเลขหนึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนไทยในการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เปิดเผยโดย ETDA ระบุว่า นอกจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip ที่ได้รับความนิยมสูงมากในประเทศแล้ว การรับชมวีดีโอสตรีมมิ่งก็มีสัดส่วนตัวเลขที่ไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน โดยในปี 2561 ตัวเลขการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม.​ 35 นาทีต่อวันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ที่มีแฟนคลับคนไทยเข้าใช้งานอย่างเหนียวแน่น ก็คือ YouTube โดยประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของประเทศที่มียอดเวลาชมบน YouTube มากที่สุดในโลก แถมชุมชนบน YouTube ในประเทศไทย ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา โดยเรามีช่องที่ได้รับรางวัล Diamond Button (ช่องที่มีผู้ติดตามเกิน 10 ล้านราย) แล้ว 2 ช่องได้แก่ GMM Grammy Official และ WorkpointOfficial ส่วน Gold Button (ช่องที่มีผู้ติดตามเกินหนึ่งล้านราย) มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในช่วง 12 เดือน (ปัจจุบันมี 80 ช่อง) และช่องที่ได้รับ Silver Button (ช่องที่มีผู้ติดตามเกินหนึ่งแสนราย) ก็มีมากถึง 600 ช่องแล้วเช่นกัน

แต่การอยู่บนแพลตฟอร์มเช่น YouTube นั้น สิ่งสำคัญที่สถานีโทรทัศน์ ค่ายเพลง ครีเอเตอร์ และทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ ก็คือเรื่องของ “ลิขสิทธิ์” ส่วนจะทำได้อย่างไร หรือมีตัวช่วยอะไรรออยู่เบื้องหลังบ้างนั้น วันนี้ ทีมงาน The Bangkok Insight ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “มุกพิม อนันตชัย” หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจบันเทิง YouTube ประเทศไทย ที่จะมาบอกเล่าถึงความลับเบื้องหลังนี้กัน

mookpim
คุณมุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจบันเทิง YouTube ประเทศไทย

“ต้องบอกว่า YouTube ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เรามีสิ่งที่เรียกว่า คอนเทนต์ไอดี ย่อมาจาก Content Identification Tools เป็นเครื่องมือสำหรับจัดการลิขสิทธิ์ และมีทีมวิศวกรพัฒนาเครื่องมือนี้อย่างจริงจัง สาเหตุที่พัฒนาเครื่องมือดังกล่าวขึ้นมานั้น เพราะเราตระหนักดีว่า สิ่งที่เจ้าของคอนเทนต์เป็นห่วงก็คือ ใครจะดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ให้เขา เพราะคอนเทนต์เมื่อมาอยู่ออนไลน์คนก็มักจะมองว่าต้องถูกละเมิดได้โดยง่ายนั่นเอง”

โดยผู้ที่จะเข้าใช้เครื่องมืออย่างคอนเทนต์ไอดีได้นั้น YouTube เผยว่าพิจารณาจากจำนวนคอนเทนต์ที่อัปโหลดขึ้นสู่ระบบเป็นสำคัญ ทำให้ในปัจจุบัน ผู้ที่มีคอนเทนต์ไอดีไว้ใช้งานจึงหนีไม่พ้น ค่ายเพลง สถานีโทรทัศน์ ฯลฯ นั่นเอง อย่างไรก็ดี ในจุดนี้ YouTube เผยว่ากำลังอยู่ระหว่างการหาทางให้ครีเอเตอร์ทั่วไปสามารถเข้าใช้คอนเทนต์ไอดีได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากทุกวันนี้ ครีเอเตอร์หลายรายก็อัปโหลดคอนเทนต์เข้ามาในระบบถี่มากขึ้น

คอนเทนต์ไอดี ทำงานอย่างไร

การทำงานของคอนเทนต์ไอดีตามการเปิดเผยของคุณมุกพิมเริ่มตั้งแต่การอัปโหลดคอนเทนต์ขึ้นมาบน YouTube ไม่ว่าคอนเทนต์ที่อัปโหลดขึ้นมาจะมีความยาวเท่าไรก็ตาม แต่ระบบของคอนเทนต์ไอดีจะจดจำคอนเทนต์ชิ้นนั้นเอาไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้น หากในอนาคต มีผู้ใช้งานรายอื่นนำคอนเทนต์ชิ้นนี้ไปอัปโหลดใหม่ ไม่ว่าจะแค่ภาพ หรือเสียง หรือทั้งภาพและเสียง ระบบจะตรวจพบได้ทันที และจะส่งแจ้งเตือน (Notification) ไปยังผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ให้เข้ามาจัดการ

youtube

โดยหลังจากได้รับ Notification เจ้าของลิขสิทธิ์มี 3 ทางเลือกว่าจะจัดการอย่างไรกับคอนเทนต์ที่โดนละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนี้

  • อนุญาตให้ใช้ได้ โดยทางเจ้าของลิขสิทธิ์จะเห็นว่ามียอดรับชมเท่าไร แต่จะไม่ได้รายได้จากคลิปนั้น และทางผู้ที่อัปโหลดคลิปขึ้นไปก็ไม่สามารถสร้างรายได้จากคลิปนั้นด้วยเช่นกัน
  • อนุญาตให้ใช้ได้ แต่รายได้ทั้งหมดต้องกลับมาเป็นของเรา โดยทางเลือกนี้ ทางเจ้าของลิขสิทธิ์จะเห็นทั้งยอดวิว และทราบว่าสร้างรายได้เท่าไร ส่วนผู้ที่นำคลิปไปใช้จะไม่ได้รายได้ใด ๆ เลย (เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมสูงสุด)
  • มีความกังวลที่จะอนุญาตให้นำไปใช้ จึงขอเอาลงจากระบบก่อน

นอกจากนั้น คุณมุกพิมยังเผยว่า การมีคอนเทนต์ไอดี ยังช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถจัดการได้ละเอียดมากขึ้น เช่น กรณีทำคลิปความยาว 10 นาที เจ้าของคลิปสามารถกำหนดเองได้ว่าอนุญาตให้นำไปใช้ได้กี่นาที หรือจะตั้งค่าเป็นระดับโลกก็ได้ เช่น ซีเอ็นเอ็นอัปโหลดคลิปข่าวขึ้นไป เขาอาจระบุว่า ถ้าเป็นคนไทยใช้ได้เลย แต่ถ้าเป็นอเมริกา เขาจะดึงลงทั้งหมด เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ที่มีคอนเทนต์ไอดีเป็นฝ่ายละเมิดลิขสิทธิ์เสียเองนั้น ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ระบบสามารถดูแลได้ก็คือ จะมีการส่งแจ้งเตือนไปยังฝั่งเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อแจ้งให้ทราบ และดำเนินการโต้แย้ง

“สมมติว่ามีคนมาเคลมคลิปไป ระบบจะขึ้น Notification ไปยังอีกฝั่งว่ามีเวลากี่วันในการโต้แย้ง ระหว่างนั้น เงินจะอยู่ตรงกลาง ไม่ได้ไหลเข้าใครทั้งสิ้น แล้วพอเคลียร์กันได้ เงินก้อนนั้นจะไหลไปยังฝั่งที่เป็นเจ้าของตัวจริง แต่ถ้าภายใน 15 วันไม่มีการดำเนินการใด ๆ เลย ระบบจะถือว่าคนที่เคลมมาก่อนคือเจ้าของสิทธิ์”

“ฉะนั้นทุกคนที่เอาเครื่องมือตรงนี้ไปใช้ เราจะบอกกฎเหล่านี้ทุกอย่าง ทีมเราจะย้ำเสมอว่า ToDoList ต้องเข้ามาเช็คทุกวัน เพราะถ้าคุณถูกเคลมมาแล้วไม่โต้แย้ง รายได้ในจุดนี้จะหายไปเลยทั้งก้อน” คุณมุกพิมกล่าวทิ้งท้าย

Avatar photo