Digital Economy

มอง 3 จุดต่าง “Google Station” ไทย-อินเดีย-เม็กซิโก-อินโดนีเซีย

google station
นางอันจาลี โจชิ ผู้บริหารด้าน Product Management ของกูเกิล

ได้ใช้งานจริงกันแล้วสำหรับบริการฟรีไวไฟความเร็วสูงจากกูเกิลที่ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการในชื่อ Google Station โดยเป็นการร่วมมือระหว่าง Google กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เพื่อให้บริการไวไฟคุณภาพสูงในพื้นที่ต่างๆ 10 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ พิจิตร และเลย และมีแผนจะขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มหลายจุด

โดยในการเปิดตัว Google Station ในงาน Google for Thailand นั้น นางอันจาลี โจชิ ผู้บริหารด้าน Product Management ของกูเกิลให้ทัศนะบนเวทีว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพันล้านคนต่อไปนั้น จะมาจากประเทศอินเดีย ไทย ฯลฯ นั่นเอง แต่สิ่งที่กูเกิลพบว่าเป็นอุปสรรคในการสร้าง The Next Billion Internet Users นั้นก็คือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่หลายประเทศไม่สามารถรองรับความต้องการใช้งานได้ อีกทั้งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังมีราคาแพง เมื่อเทียบกับค่าครองชีพและระดับรายได้ของประชากรในประเทศเหล่านั้น จึงเป็นที่มาของโครงการ Google Station ดังกล่าวในประเทศไทย

สำหรับชื่อบริการ Google Station นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการ Railwire Wi-Fi (www.railwire.co.in) ในอินเดีย โดย Google ร่วมมือกับ RailTel ผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตท้องถิ่นของอินเดีย และการรถไฟอินเดีย เพื่อร่วมกันให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงฟรีตามสถานีรถไฟในอินเดีย ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมกว่า 400 สถานี และมีผู้ใช้บริการ 8 ล้านคนในแต่ละเดือน 

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศที่สี่ในโลกที่กูเกิลให้บริการ Google Station ต่อจากอินเดีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก โดยในการเปิดให้บริการมาแล้ว 3 ประเทศ และมีประเทศไทยเป็นประเทศที่ 4 นั้น เราพบว่ามีความแตกต่างในบริบทการให้บริการอยู่เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น

การเลือกพื้นที่ให้บริการ

กูเกิลเปิดตัวโปรเจ็คนี้ในอินเดีย และเลือกพื้นที่อย่าง “สถานีรถไฟ” ซึ่งมีคนพลุกพล่านเป็นจุดให้บริการ และได้มีการขยายเน็ตเวิร์กออกไปอย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 400 จุด ส่วนการเลือกที่ตั้งในไทยจะแตกต่างจากในอินเดีย เพราะทำเลที่ตั้งของ Google Station ในไทยนั้นอาจไม่เน้นที่สถานีรถไฟเหมือนในอินเดีย แต่จะมุ่งเน้นในสถานที่ที่ผู้คนมีการสัญจรทางเท้าอย่างหนาแน่น ทำให้มีการขยายเครือข่ายไวไฟเข้าไปยังตลาด ชุมชนเมืองด้วย (นอกเหนือจากหัวลำโพงที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของสถานีรถไฟไทย) 

จำนวนพื้นที่ให้บริการ

โดยสถานที่ที่ให้บริการ Google Station ในประเทศไทยนั้นมี 10 จุด ยกตัวอย่างเช่น หัวลำโพง และเมกะบางนา และยังมีในส่วนของถนนคนเดิน เชียงคาน จังหวัดเลย และจังหวัดพิจิตร แต่สำหรับการเปิดตัว Google Staion ในเม็กซิโกที่มีขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น สื่อท้องถิ่นของเม็กซิโกอย่าง MexicoNewsDaily รายงานว่ามีการเปิดให้บริการกว่า 60 พื้นที่ใน 45 เมือง ซึ่งรวมถึงท่าอากาศยาน ช้อปปิ้งมอลล์ และสถานีขนส่งสาธารณะ และกูเกิล เม็กซิโกยังตั้งเป้าด้วยว่า จะเปิดให้บริการให้มากกว่า 100 จุดภายในสิ้นปีนี้ด้วย

สำหรับตัวเลขที่แตกต่างกันนี้ ส่วนหนึ่งอาจต้องยอมรับว่า โครงสร้างพื้นฐานของไทยนั้นมีความมั่นคงในระดับหนึ่งเลยทีเดียวสำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต เห็นได้จากข้อมูลจาก Hootsuite ที่ระบุว่าประเทศไทยมีการใช้งานโซเชียลมีเดียสูงเป็นอันดับ 8 ของโลกด้วย ซึ่งการจะใช้งานโซเชียลมีเดียระดับดังกล่าวได้นั้น อาจพิจารณาได้ว่า การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของบ้านเราต้องพร้อมระดับหนึ่งเลยทีเดียว

เพิ่มจีดีพี?

รายงานจากสื่อท้องถิ่นของอินเดียอย่างฮินดูสถานไทม์ระบุว่า การเปิดให้บริการฟรีไวไฟของกูเกิลในพื้นที่สาธารณะของอินเดียถูกมองว่าจะช่วยเพิ่มจีดีพีให้กับอินเดียได้อีก 20,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2560 – 2562  เนื่องจากคนอินเดียเมื่อได้สัมผัสประสบการณ์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอาจเกิดความพึงพอใจ และยอมลงทุนซื้อสมาร์ทโฟนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอาจตัดสินใจติดไวไฟในบ้านได้อีกด้วย

ส่วนในประเทศไทยนั้น การเพิ่มขึ้นของจีดีพียังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป เพราะปัญหาของประเทศไทยตามการเปิดเผยของกูเกิลนั้นมาจากเรื่องที่ว่า แม้ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการไวไฟในจุดต่าง ๆ แต่การเข้าใช้งานยังเป็นเรื่องยาก และมีความเร็วในการเชื่อมต่อช้านั่นเอง อย่างไรก็ดี การติดตั้งครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัทยูนิลีเวอร์ในการสนับสนุนด้านโฆษณา จึงอาจมีตัวเลขที่น่าสนใจเกิดขึ้นก็เป็นได้

 

 

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight