Digital Economy

‘สมคิด’ชูหัวเว่ยพันธมิตร ดึง 5G ใช้งานในไทย

huawei innovation day

เป็นการแสดงสัญญาณความสัมพันธ์ไทย-หัวเว่ย (Huawei) ที่เหนียวแน่น หลัง ‘สมคิด’ ชี้เป็นพันธมิตรที่ช่วยเหลือหลายด้าน พร้อมประกาศประเทศไทยอาจได้ใช้ 5G ในอีกสองปีข้างหน้า เตรียมนำร่องโซลูชันสมาร์ทซิตี้ในหัวเมืองใหญ่ ด้านหัวเว่ย ชูความพร้อมด้านนวัตกรรมผ่าน “หัวเว่ย เอเชีย-แปซิฟิก อินโนเวชั่น เดย์” พร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพิ่มเติม

 ถือเป็นการรุกคืบอย่างต่อเนื่องสำหรับแบรนด์หัวเว่ยกับการเข้ามามีบทบาทในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทย ล่าสุดในงาน Innovation Day ที่หัวเว่ยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2556 และเลือกเมืองสำคัญ ๆ ของโลก เป็นสถานที่จัดงานมาตลอดนั้น มาในปีนี้ก็ได้จัดขึ้นที่ประเทศไทย  น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงดังกล่าวได้พอสมควร

ขณะที่ฟากตัวแทนจากรัฐบาล  นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวปราศรัยในงาน Innovation Day  ว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้จำเป็นต้องมีพันธมิตร  ที่ผ่านมาหัวเว่ยเป็นพันธมิตรที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาชนบท, ด้านเอสเอ็มอี และการศึกษา จนมาสู่งานใหญ่ในวันนี้ที่ นายสมคิด มองว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม เนื่องจากมีความพร้อมมากขึ้นทั้งในด้านตัวบุคคล, เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี

huawei innovation day
ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

“ต้องยอมรับว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่คนไทยเริ่มตื่นตัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เรามีหมายเลขโทรศัพท์ 121 ล้านเลขหมาย มีคนเข้าอินเทอร์เน็ตกว่า 40 ล้านคน มีมูลค่าของอีคอมเมิร์ซกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์ และภาคธุรกิจก็มีการลงทุนในเรื่องอินเทอร์เน็ตอย่างมาก ทั้งตัวอุปกรณ์, IoT, AI และ BigData สถาบันการเงินก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะรู้ว่าดิจิทัลไฟแนนซ์กำลังมา เรามีอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน เหล่านี้เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุขอย่างแท้จริง”

“จุดที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งคือ ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว แต่ต้องใช้เวลาสักพักในการให้การฟื้นตัวนี้ลงไปถึงรากหญ้า เราจึงต้องเร่งการขับเคลื่อนประเทศโดยต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง”

นอกจากนี้ นายสมคิด ยังได้วิเคราะห์สองประเทศมหาอำนาจ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 โดยระบุว่าจีนแผ่นดินใหญ่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าสหรัฐอเมริกามาก  มาจาก 3 ปัจจัยได้แก่

  • การเติบใหญ่ของสตาร์ทอัปในสหรัฐอเมริกาไม่รวดเร็วเท่าที่จีน
  • ผู้ประกอบการรายใหม่ของสหรัฐอเมริกาที่สามารถสร้างคุณค่าได้นั้นจำกัดวงอยู่แค่ในซิลิคอนวัลเลย์ ขณะที่จีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมือง ๆ เดียว แต่กระจายออกไปทั่วประเทศ โดย ดร.สมคิดระบุว่า ทุกคนเป็น engine of growth ของประเทศได้ทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ที่จุดใด
  • การมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้ผู้ผลิตสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง และผลิตสินค้าได้แบบเฉพาะเจาะจงเพื่อรองรับความต้องการนั้น ๆ นอกจากนั้น การนำดิจิทัลเข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนการในแวลูเชนทั้งหมด ตั้งแต่จัดซื้อ ผลิต ออกแบบ ขนส่ง ค้าปลีก ได้ จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล

 สิ่งที่จะเร่งให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้เหมือนที่เกิดขึ้นในจีนนั้น คือเทคโนโลยี 5G และ นายสมคิดยังได้ประกาศในเวทีดังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยอาจไม่ต้องรอถึง 5 ปี จึงจะได้ใช้ 5G แต่อาจเป็นในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้านี้ก็เป็นได้  หากเวลานั้นมาถึงจะเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เลยทีเดียว

หนุนสร้างสมาร์ทซิตี้ทั่วโลก

huawei innovation day
นายกั๋ว ผิง

ส่วนนายกั๋ว ผิง รองประธานกรรมการและประธานกรรมการหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศตัวอย่างในการนำเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกับระบุว่าที่ผ่านมา ไทยมีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ (Ecosystem) โดยใช้เทคโนโลยีในการผลักดันนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ให้ก้าวหน้า

ทั้งนี้ในมุมของหัวเว่ย การพัฒนาเมืองไปสู่ดิจิทัล ก็ไม่แตกต่างจากการพัฒนาตัวเองของมนุษย์ และมีการนำกฎความต้องการพื้นฐานของมาสโลว์มาปรับใช้กับการพัฒนาเทคโนโลยีได้ 4 ข้อ ประกอบด้วย

  • ความต้องการขั้นต้น Infrastructure
  • ความต้องการขั้นที่สอง Security Assurance
  • ความต้องการขั้นที่สาม Industry Digitization
  • ความต้องการขั้นสูงสุด Digital Brain

เมื่อหันมาดูด้านการประยุกต์ใช้ นายกั๋ว ผิง ยังได้ยกตัวอย่างการร่วมมือกับธุรกิจเอสเอ็มอีในเมืองอิงทัน (Yingtan) ประเทศจีน กับการสนับสนุนเทคโนโลยี IoT เพื่อนำมาตรวจจับการรั่วไหลของน้ำประปา ทำให้สามารถแจ้งเตือนได้ทันที หรือเทคโนโลยีที่่ช่วยในการตรวจจับหมอกควัน ก็มีหัวเว่ยให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเช่นกัน

นอกจากนั้น ยังมีเมืองหลงกังที่หัวเว่ยนำมาแสดงให้ดูเป็นกรณีศึกษาในงานดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้เมืองหลงกังมีผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมค่อนข้างถี่ แต่เมื่อทางหัวเว่ยนำเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ เข้าไปประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติต่างๆ ด้สะดวกขึ้น (สามารถกำหนดพารามิเตอร์ที่ต้องการได้ เช่น อาจเลือกเป็นตรวจจับใบหน้า หรือตรวจจับจากพฤติกรรม ฯลฯ เป็นต้น) ซึ่งความสามารถเหล่านี้เกิดขึ้นได้ต้องมีการร่วมมือกับภาครัฐในการเชื่อมโยงกับ BigData ด้วย

ทุกวันนี้ หัวเว่ยมีการร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ พัฒนาสมาร์ทซิตี้แล้วกว่า 100 แห่งทั่วโลก

huawei innovation day
แดชบอร์ดสำหรับสมาร์ทซิตี้ที่มีการใช้งานจริงในเมืองหลงกัง ประเทศจีน

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ระบุถึงการสานความร่วมมือระหว่างผู้ลงนามด้านการวิจัยและนวัตกรรม อันจะช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมดิจิทัล และช่วยนำนวัตกรรมต่างๆ ที่คิดค้นโดยคนไทยหรือในประเทศไทยไปสู่เวทีโลก ตัวอย่างของความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ได้แก่

  • การประยุกต์ใช้ Deep Technology
  • เสริมสร้างความร่วมมือในการวางแผนและพัฒนานวัตกรรม
  • เสริมสร้างความร่วมมือในสาขาความร่วมมือที่มีอยู่เดิม
  • สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรและครบวงจร ต่อธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย
  • ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน พัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถผ่านหัวเว่ย โอเพ่นแล็บ (OpenLab) และศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ CSIC (Customer Solution Innovation & Integration Experience Center)
  • ช่วยให้การสื่อสารระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ นวัตกร และนักวิจัยอื่นๆ เป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น
  • ช่วยปรับเปลี่ยนการวิจัยให้เป็นทฎษฎีทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรูปแบบใหม่

ไม่กระทบการจ้างงาน

ภายในงานดังกล่าว ยังได้ ดร. มีร์โก ดรากา นำเสนองานวิจัยหัวข้อ “บทบาทที่เพิ่มขึ้นของไอซีทีต่อเศรษฐกิจ” ที่หัวเว่ยดำเนินการวิจัยร่วมกับวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน ที่อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จะช่วยเพิ่มผลิตภาพได้เป็นอย่างมาก และคนทั่วไปจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ 5G, คลาวด์, IoT, BigData และ AI ในอนาคตอย่างแน่นอน

ส่วนข้อกังวลที่ว่า ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์นั้นอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ หากแต่เป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และผลพวงที่ตามมาจากภาวะถดถอยนั้นจะส่งผลลบต่อการจ้างงานมากกว่าปัญญาประดิษฐ์ด้วย

huawei innovation day

เปิดงบลงทุนหัวเว่ย 81 ล้านดอลลาร์

ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า หัวเว่ยมีแผนลงทุนกว่า 81 ล้านดอลลาร์ในโครงการ Huawei OpenLab บ่มเพาะนักพัฒนาระบบคลาวด์ และสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีที พร้อมกันนี้ หัวเว่ยยังมีแผนจะเปิด Huawei OpenLab ในกรุงเดลี ประเทศอินเดียในเดือนสิงหาคมปีนี้ด้วย หลังจากเปิดในกรุงเทพฯ ไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่ง OpenLab จะเป็นสถานที่สำหรับให้บริการเกี่ยวกับแพลทฟอร์มนวัตกรรมแบบเปิดให้พันธมิตรท้องถิ่นเข้ามาร่วมกันพัฒนาโซลูชั่นทางอุตสาหกรรมได้ด้วย

งานนี้แสดงให้เห็นว่า หัวเว่ยหยั่งรากฝังลึก อย่างแข็งแรงมากแล้วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สำหรับการมาถึงของเทคโนโลยี 5G ที่แต่ละประเทศพร้อมจะควักกระเป๋าลงทุนในเร็ว ๆ นี้ อาจทำให้คู่แข่งจากซีกโลกตะวันตกต้องทำงานหนักมากขึ้นก็เป็นได้

Avatar photo