Digital Economy

บทเรียนญี่ปุ่น 5 สเต็ป Transformation องค์กรสู่ดิจิทัล

abeam-digital-transformation
นายอิชิโร ฮาระ

“ในญี่ปุ่นมีการตื่นตัวและศึกษาเรื่องการทำ Digital Transformation มาประมาณ 3 – 5 ปีก่อนหน้านี้ โดยอาจทดลองทำเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อศึกษาผลลัพท์ว่าเป็นอย่างไร ขณะที่ปัจจุบัน ธุรกิจในญี่ปุ่นอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศไทย ตอนนี้อาจกล่าวได้ว่า มีเพียง 2 ธุรกิจ คือโทรคมนาคม และสถาบันการเงินเท่านั้นที่มีการปรับตัวนำหน้าไปก่อนแล้ว แต่ในส่วนของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับญี่ปุ่นเมื่อ 3 – 5 ปีก่อน”

คำกล่าวนี้เป็นของนายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัทที่ปรึกษา เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือเอบีม คอนซัลติ้ง ของญี่ปุ่น ที่เปรียบเทียบภาพของการทำ Digital Transformation ระหว่างสองประเทศให้ฟัง และปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยในเวลานี้ มีหลายองค์กรที่ต้องการแนวคิด หรือวิธีปฏิบัติในการใช้งานดิจิทัลให้เกิดประสิทธิภาพรออยู่มากมาย

โดยประสบการณ์ที่่ผ่านมาของเอบีม คอนซัลติ้งในการให้คำแนะนำและวางกลยุทธ์ให้กับองค์กรต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจการเงินและเช่าซื้อ และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ทางนายฮาระมองว่า สำหรับองค์กรไทยที่ต้องการทำ Digital Transformation สามารถนำคำแนะนำไปปรับใช้ได้ดังนี้

ต้องมีการวางกลยุทธ์

ที่ผ่านมามีหลายธุรกิจที่มีการเก็บข้อมูลอยู่มากมายเต็มไปหมด แต่อาจรวมอยู่ในไฟล์สเปรดชีท ที่ไม่รู้ว่าจะนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร องค์กรที่จะปรับตัวจึงต้องวางกลยุทธ์ด้านข้อมูล และหาทางทำให้ข้อมูลเหล่านั้นมีมูลค่าเพิ่มให้ได้

ต้องเปิดใจ

ความท้าทายข้อหนึ่งที่บริษัทในประเทศไทยมีก็คือ การเป็นธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งการจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ต้องมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารจึงจะสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างมูลค่าให้ธุรกิจได้

นำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้งานให้มากขึ้น

เอบีมยกตัวอย่างการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ ซึ่งสามารถช่วยลดงานของพนักงานขายในด้านการจัดการบนเอ็กเซลลงได้ 70 – 80% ซึ่งจะทำให้พนักงานมีเวลาไปทำงานที่สำคัญกว่า เช่น หาทางเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น

network 782707 1280

เก็บข้อมูลเพิ่มด้วย IoT

การนำอุปกรณ์ IoT เข้ามาใช้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการเก็บข้อมูล และเมื่อมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับดาต้าจากส่วนอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน

ปรับสู่การเป็นแพลตฟอร์ม

จากเดิมที่ธุรกิจอาจเคยพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไปเพื่อใช้งานภายในองค์กร แต่ในยุคปัจจุบัน การปรับเป็นแพลตฟอร์มทำให้สามารถเชื่อมต่อกับพาร์ทเนอร์อื่น ๆ ได้ง่ายมากขึ้น และเอบีมมองว่า จะได้เห็นการปรับตัวในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการทั้งหมดนี้ จำเป็นที่องค์กรจะต้องมีพาร์ทเนอร์ เพื่อช่วยในการแชร์องค์ความรู้ และทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งนายฮาระชี้ว่าจะทำให้การทำ Digital Transformation รุดหน้าได้อย่างรวดเร็วกว่านั่นเอง

“ยุคดิจิทัลทำให้คู่แข่งทางธุรกิจเกิดขึ้นจากทุกทิศทาง และการก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัลก็ไม่ได้เป็นเรื่องของอนาคตอีกต่อไป โดยบริษัทต่าง ๆ เริ่มมีการเชื่อมต่อเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ คู่แข่งสำคัญก็คือ สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยผู้บริโภคมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจเสมือนเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้วงจรธุรกิจหรือวงจรผลิตภัณฑ์มีอายุที่สั้นลงมาก ฉะนั้น การก้าวผ่านคลื่นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว องค์กรธุรกิจต้องระบุคู่แข่งทางธุรกิจให้ถูกต้อง นำเทคโนโลยีมาใช้ เพิ่มมูลค่าของข้อมูล สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ” นายฮาระกล่าวทิ้งท้าย

Avatar photo