Technology

ชี้ ‘ช่องว่างนโยบาย AI’ สร้างความเสี่ยง ‘ธุรกิจเทคโนโลยี’ ในเอเชีย

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นักวิเคราะห์อุตสาหกรรม และธุรกิจต่างๆ ระบุ “ช่องว่างนโยบาย AI” ของเอเชีย กำลังทำให้บริษัทต่าง ๆ ที่กระตือรือร้นจะเปิดตัวเทคโนโลยีนี้ทั่วทั้งภูมิภาค เกิดความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ไล่ตั้งแต่จีน ไปจนถึงสิงคโปร์ รัฐบาลประเทศเหล่านี้ลังเลที่จะทำให้เกิดกฎข้อบังคับที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาค สำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI)  แต่เลือกที่จะใช้กฎระเบียบที่ปรับให้เหมาะสมกับประเทศของตัวเองเท่านั้น

ช่องว่างนโยบาย AI

วิธีการดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ตรงกันข้ามกับ สหภาพยุโรป (อียู) ที่เพิ่งอนุมัติกฎหมายเอไอออกมานั้น ทำให้บริษัทต่าง ๆ ตกอยู่ในความเสี่ยงที่เกิดความเสียหายขึ้นมา

เอเดรียน ฟิชเชอร์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมประจำภูมิภาคเอเชีย ของ ลิงค์เลเทอร์ส บริษัทกฎหมายอังกฤษ แสดงความเห็นว่า ปัญหาจะเกิดขึ้น เมื่อประเทศหลัก ๆ ในเอเชีย 15 ประเทศ หรือ 20 ประเทศ เริ่มบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

“เมื่อถึงตอนนั้น ถ้าคุณจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์อะไร ก็จะต้องทำความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า ควรจะทำอะไรบ้างในแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก”

“ช่องว่างนโยบาย AI” ยังกลายเป็นปัจจัยที่บริษัทชั้นนำของโลกอย่าง “เคพีเอ็มจี” หยิบยกขึ้นมาระบุว่า เป็นความเสี่ยงอย่างมาก สำหรับการเติบโตของธุรกิจในช่วงไม่กี่ปีต่อจากนี้ แม้ว่าระหว่างปี 2556-2566 จะมีการลงทุนในด้านนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าก็ตาม

กฎระเบียบข้ามพรมแดน กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อ generative AI ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2565 โดยสหรัฐ และจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งขันหลักในสาขานี้ ได้พบกันที่สวิตเซอร์แลนด์ในปีนี้ เพื่อหารืออย่างเป็นทางการครั้งแรกเกี่ยวกับความเสี่ยงของ AI แม้ว่าจะไม่มีผลลัพธ์ที่รูปธรรมออกมาจากการประชุมก็ตาม

ขณะเดียวกัน อียู ได้ผ่าน กฎหมาย AI ฉบับแรกของโลก ที่มีเนื้อหาอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีนี้ โดยจะบังคับใช้กับผู้จัดหา และนักพัฒนาระบบเอไอ ที่ทำการตลาด หรือใช้งานภายในสหภาพยุโรป โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในขั้นตอนต่างๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ส่วนในเอเชียนั้น จีนถือเป็นประเทศที่มีความกระตือรือร้นที่สุด ในแง่ของการจัดทำกฎข้อบังคับเกี่ยวกับเอไอ ซึ่งแม้จะยังไม่มีกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ แต่จีนมีการบังคับใช้แนวทางการดำเนินงานสำหรับอุตสาหกรรมนี้มาตั้งแต่ปี 2565 ไล่ตั้งแต่ คำแนะนำเกี่ยวกับอัลกอริทึม ไปจนถึงคำแนะนำเกี่ยวกับการปลอมแปลงเชิงลึก และความจำเป็นที่ AI จะส่งเสริมคุณค่าหลักของลัทธิสังคมนิยม

นอกจากนี้ จีนยังได้มีการจัดทำร่างกฎหมายเกี่ยวกับ AI รวมไว้ในแผนนิติบัญญัติประจำปีของสภาแห่งรัฐ และคณะรัฐมนตรีของจีนตั้งเป้าที่จะส่งร่างกฎหมายไปให้ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศพิจารณาในปีนี้

ลาวีนา ไอเยอร์ นักวิเคราะห์จากอิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ดำเนินการควบคุม AI ภายใต้กฎหมายเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งขาดความชัดเจนในกระบวนการ และระบบที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

“จีนเป็นข้อยกเว้นเดียว เนื่องจากรัฐบาลมีความก้าวหน้า ในการเร่งออกแนวปฏิบัติ ในปี 2566 จนนำไปสู่การร่างกฎหมาย AI แห่งชาติ ที่อาจเปิดให้อภิปรายในปีนี้”

ช่องว่างนโยบาย AI

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบางประเทศมีความกังวลว่า การออกกฎข้อบังคับที่เข้มงวด อาจเป็นการผลักไสธุรกิจต่าง ๆ ที่อยากเข้ามาลงทุน และทำให้ประเทศของตัวเองต้องพลาดกระแสลงทุนในด้านเอไอ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ญี่ปุ่นเพิ่งปล่อยให้บริษัทต่างๆ กำกับดูแลตนเองตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนดไว้ และกำลังพิจารณาออกข้อบังคับสำหรับนักพัฒนา AI รายใหญ่ในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อจำกัดความเสี่ยง เช่น การแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยสภากลยุทธ์ AI ของรัฐบาลญี่ปุ่น ได้เริ่มหารือกันในเดือนพฤษภาคม เกี่ยวกับการร่างกรอบกฎหมาย และคาดว่าจะนำแนวทางของสหรัฐ และยุโรป มาศึกษาวิเคราะห์ด้วย

ทางด้านเกาหลีใต้นั้น กำลังมีการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรม AI และกรอบการทำงานเพื่อสร้าง AI ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งร่างกฎหมายนี้ตรงกันข้ามกับกฎหมาย AI ของยุโรป เนื่องจากตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ก่อน แล้วค่อยออกกฎระเบียบควบคุมในภายหลัง

เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ที่ไม่สนใจนำกฎข้อบังคับแบบเดียวกับยุโรปเข้ามาใช้ โดยเลือกที่จะออกแนวทางการใช้งานสำหรับเทคโนโลยีแทน

การขาดกรอบทางกฎหมายที่ชัดเจน ทำให้ธุรกิจบางรายดำเนินการเพื่อควบคุมตนเอง เช่น เวอไรซอน บริษัทโทรคมนาคมสหรัฐ เปิดตัวเครื่องมือ AI สำหรับวิเคราะห์ประวัติลูกค้า เพื่อให้บริการตามความต้องการได้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยบริษัทได้ให้คำมั่นถึงการใช้งาน AI “อย่างมีความรับผิดชอบ” ด้วย

ปรียา มหาชัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของเวอไรซอน แสดงความเห็นว่า ประเทศต่างๆ ควรพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลเพียงแห่งเดียวสำหรับ AI เพื่อ ป้องกันช่องว่างในกฎระเบียบ และหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎ AI ที่ซ้ำกันในหลายหน่วยงาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo