Digital Economy

‘แกร็บ’ ในวันที่ไม่มี ‘อูเบอร์’

grab vision

ผู้บริหาร “แกร็บ” (Grab) เปิดใจอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังควบกิจการอูเบอร์ (Uber) ลุยปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โฟกัสสามธุรกิจ “บริการเดินทาง – บริการขนส่ง – บริการทางการเงิน” ตั้งเป้าเป็นแอพพลิเคชันแบบวันสต็อปเซอร์วิส ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้ชีวิตประจำวันของทุกคน ปฏิเสธไม่มีความขัดแย้งในทีมบริหาร ส่วนพนักงานอูเบอร์นั้น อยู่ระหว่างเจรจาและเสนอตำแหน่งในแกร็บ รวมถึง “ศิริภา จึงสวัสดิ์” อดีตผู้จัดการประจำประเทศไทยของอูเบอร์ด้วย

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “หลังจากการควบรวมกิจการกับอูเบอร์ ในฝั่งของคนขับถือว่าได้รับการตอบรับดี เนื่องจากส่วนหนึ่งคนขับจากทางอูเบอร์ก็คือคนขับแกร็บ เมื่อควบรวมแล้วทำให้ชีวิตเขาง่ายขึ้น และหากมองจริง ๆ อูเบอร์ในไทยก็เล็กกว่าแกร็บ ส่วนจะถูกมองว่าผูกขาดตลาดหรือไม่นั้น ขอตอบว่าไม่ เพราะระบบขนส่งมวลชนบ้านเรามีตัวเลือกอีกมาก ดังนั้น เราจึงไม่มองว่านี่เป็นการผูกขาด แต่มองว่าต้องแข่งขันกันเพื่อทำบริการให้ดีที่สุด”

ส่วนเรื่องราคานั้น ผู้บริหารแกร็บมองว่า ยังคงเป็นการคิดโดยใช้อัลกอริธึมเช่นเดิม ซึ่งหลังจากควบรวมแล้ว จะทำให้ระบบมีรถให้บริการมากขึ้น โอกาสที่ตัวคูณจะเขยิบสูงนั้น จึงเป็นไปได้น้อยลง อย่างไรก็ดี ในวันที่ฝนตกหนัก หรือมีเหตุการณ์ไม่ปกติ ที่จะส่งผลให้รถออกมาวิ่งบนถนนน้อยลงนั้น ก็จำเป็นที่ระบบจะต้องเพิ่มตัวคูณให้สูงขึ้นมาก เพื่อดึงดูดให้คนนำรถออกมาขับเพื่อรับผู้โดยสาร ในจุดนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบัน แกร็บมีผู้ดาวน์โหลดไปใช้งานแล้วกว่า 95 ล้านครั้ง และมีคนขับรถมากกว่า 6 ล้านคนในระบบ โดยใน 8 ประเทศที่แกร็บเปิดให้บริการ ได้แก่ ประเทศไทย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, เมียนมาร์, กัมพูชา, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และอินโดนีเซียนั้น มีทั้งสิ้น 209 เมืองที่สามารถเรียกแกร็บได้ ส่วนฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ได้แก่ บริการเดินทาง และขนส่งอาหาร

grab vision
นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย)

นอกจากนี้ ตามการเปิดเผยของนายธรินทร์ ระบุว่า แกร็บมีพนักงานทั้งสิ้น 400 คน (ไม่รวมพนักงานจากอูเบอร์) ในจำนวนนี้ มีประมาณ 120 – 150 คน เป็นพนักงานคอลล์เซ็นเตอร์ สำหรับรับเรื่องราวร้องเรียน และให้ความช่วยเหลือทั้งคนขับและคนนั่ง สำหรับพนักงานจากอูเบอร์นั้น ผู้บริหารแกร็บเล่าว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการหาโซลูชันที่ดีที่สุดให้ แต่ถ้าเขาไม่รับ ก็เป็นสิทธิที่พนักงานอูเบอร์จะมองในตลาดงานถึงโอกาสใหม่ ๆ

สามธุรกิจใหม่มีอะไรบ้าง

แกร็บในวันนี้ยังมองไปถึงสามธุรกิจใหม่ที่บริษัทระบุว่าจะให้ความสำคัญมากขึ้น นั่นคือ บริการเดินทาง, บริการขนส่ง (อาหารและสิ่งของ) และบริการทางการเงิน โดยในส่วนแรกอย่างบริการเดินทางนั้น แกร็บมีแผนจะเปิดตัวในจังหวัดหัวเมืองต่าง ๆ ของประเทศไทยให้ได้ 20 จังหวัดภายในสิ้นปี โดยในตอนนี้เปิดตัวไปแล้ว 16 จังหวัด จึงคาดว่าปลายปีนี้ แผนดังกล่าวจะทำได้สำเร็จอย่างแน่นอน

ส่วนเรื่องการขออนุญาตในการให้บริการนั้น ทางแกร็บเผยว่ายังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีข้อยุติเมื่อไร แต่ก็ยังมีการเจรจาเกิดขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่บริการขนส่งอาหารและสินค้านั้น นายธรินทร์กล่าวว่า ร้านค้าของอูเบอร์อีสต์มีประมาณ 1,000 แห่ง เมื่อรวมกับของแกร็บฟู้ดที่มีอีกประมาณ 3,000 แห่ง ทำให้ตัวเลือกของร้านค้าบนแอพพลิเคชันมีสูงมากในรัศมี 5 กิโลเมตร อีกทั้งในช่วงซอฟท์ลอนซ์ (ไตรมาสแรกของปี 2561) แกร็บมีการให้บริการจัดส่งฟรีด้วย (โปรโมชันจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้) ทำให้ตัวเลขการใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นถึง 440% (เปิดให้บริการเต็มรูปแบบวันที่ 8 พฤษภาคม 2561)

“ถ้าเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว ราคาค่าจัดส่งก็ยังคงเป็นราคาที่จับต้องได้ ไม่แพง เช่น อาจจะเที่ยวละ 10 บาทเป็นต้น”

grab vision

นอกจากนี้ แกร็บยังมีแผนเปิดตัวแอพพลิเคชันสำหรับพันธมิตรร้านอาหาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับเปลี่ยนเมนู หรือแก้ไขเวลาทำการ เบอร์ติดต่อ ฯลฯ โดยเริ่มมีบางร้านที่กำลังทดสอบแอพพลิเคชันดังกล่าวแล้ว

ในส่วนสุดท้ายอย่างบริการทางการเงินนั้น แกร็บเผยว่า อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สามารถนำบริการกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง “แกร็บเพย์” (Grab Pay) มาใช้งาน ซึ่งในอนาคต ฟีเจอร์นี้จะเป็นช่องทางนำเสนอแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ ให้กับผู้ขับด้วย ซึ่งเมื่อมองในภาพรวม บริการทางการเงินนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจของแกร็บ และทางบริษัทยังตั้งเป้าว่า จะสามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย 100 ล้านรายภายในปี 2563 ด้วย

ตั้งเป้าเป็นแอพพลิเคชันสร้างสมาร์ทซิตี้

ในจุดนี้ แกร็บเผยว่ามาจากการทำแบบสอบถามผู้บริโภคเพื่อค้นหาสิ่งที่ผู้บริโภคอยากให้แกร็บเป็นในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการให้แกร็บเป็นแอพพลิเคชันแบบเบ็ดเสร็จในตัวเอง เช่น ให้บริการแกร็บคาร์สำหรับเดินทางไปทำงาน ใช้บริการแกร็บฟู้ดในการสั่งอาหารได้ ไปประชุมหรือส่งของขวัญด้วยแกร็บไบค์ รวมถึงอาจพัฒนาแกร็บให้สามารถออกแบบการเดินทาง และจองรถได้แบบไร้รอยต่อ เช่น จองรถโดยสาร ลงจากรถโดยสารก็พบบริการมอเตอร์ไซค์สำหรับนั่งเข้าบ้าน ฯลฯ โดยทั้งหมดจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชัน เป็นต้น

และทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่แกร็บกำลังคิดสวนทางธุรกิจกับคำว่า “O2O” ที่แบรนด์อื่นอาจหมายถึง Offline to Online แต่สำหรับแกร็บ พวกเขากำลังใช้มันในฐานะ “Online to Offline” อย่างแท้จริง

Avatar photo