CSR

เปิดภารกิจ 30 ปี ‘อีสท์ วอเตอร์’ มุ่งพัฒนาท่อส่งน้ำ ป้อน ‘อุตสาหกรรม-ชุมชน -ความมั่นคง’ ผู้ใช้น้ำพื้นที่ EEC 

ด้วยประสบการณ์การบริหารจัดการนํ้า ในภูมิภาคตะวันออก มายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ของ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จํากัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ บูรณาการการบริหารจัดการน้ำดิบผ่านท่อส่งน้ำขนาดใหญ่อย่างเป็นเอกภาพให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคอุปโภคบริโภค

ทำให้ภาคตะวันออกกลายเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำที่สมบูรณ์ของประเทศไทย ผลจากการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง พร้อมจะก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีสท์ วอเตอร์ ได้นำแนวคิดการสร้างระบบน้ำสู่ความยั่งยืนมาให้บริการแก่ผู้ใช้น้ำ เน้นการใช้น้ำทุกหยดอย่างคุ้มค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำให้กับเศรษฐกิจของประเทศ

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า “น้ำ” มีความสำคัญกับโลกมากเพียงใด นอกจากจะหล่อเลี้ยงทุกชีวิตให้เติบโตแล้ว ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการเติบโตของอุตสาหกรรม ที่เป็นตัวชี้วัดสภาพทางเศรษฐกิจ และทิศทางการเติบโตของประเทศ

 อีสท์ วอเตอร์

การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณขายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard Development Program (ESDP) ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2525-2529 นับเป็นนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อปูรากฐานผลักดันให้เขตพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็น “ประตูสู่การค้าและฐานการผลิตอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน”

โดยแผนด้านการจัดการน้ำจึงเป็นหนึ่งในแผนสำคัญหลักของ ESDP ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพื่อการลงทุนระบบท่อส่งน้ำเพิ่มอีกกว่า 4,500 ล้านบาท ประกอบกับขณะนั้นมีหน่วยงานรัฐหลายส่วนงานที่เกี่ยวข้องเรื่อง “น้ำ” ทั้งกรมชลประทาน กรมโยธาธิการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)

หลังจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงเสนอแนวคิดการจัดตั้ง “บริษัท” รูปแบบ concession company ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะเป็น One Stop Service ด้านน้ำ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นภาพรวม ในระยะเริ่มต้นของการจัดตั้งบริษัท จึงให้หน่วยงานรัฐที่ดูแลทรัพย์สินที่มีอยู่เดิม โอนทรัพย์สินให้ “กรมธนารักษ์” เพื่อสะดวกแก่การทำสัญญาเช่ากับบริษัท การลงทุนใดๆ หลังจากนั้น ต้องเป็นหน้าที่ของบริษัทในการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อลดภาระการใช้งบประมาณภาครัฐ ในการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำเพิ่มเติมในอนาคต

ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ “อีสท์ วอเตอร์” บริการสาธารณะ และมีกำไรพอสมควรแก่นักลงทุน จึงกำหนดอัตราค่าเช่าทรัพย์สินไว้ค่อนข้างต่ำ  ให้มีหน่วยงานรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สามารถกำกับดูแลนโยบายได้ตามมติ ครม. และได้เงินปันผลพร้อมกับนักลงทุน

 อีสท์ วอเตอร์

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 โดยที่การประปาส่วนภูมิภาคเป็นผู้ถือหุ้น 100% เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการน้ำดิบผ่านท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ อย่างเป็นเอกภาพให้ แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคอุปโภคบริโภค

อีสท์ วอเตอร์ กับภารกิจระบบท่อส่งน้ำ

ต่อมาในปี 2540 “อีสท์ วอเตอร์” ได้เพิ่มทุนและแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมเงินทุน ลงทุนสร้างระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำให้รองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 1,663.73 ล้านบาท มีหน่วยงานรัฐเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถือหุ้นรวมกันประมาณร้อยละ 45

นอกจากระบบท่อ ที่ได้รับสัญญาบริหารจากกรมธนารักษ์ ความยาว 135.90 กิโลเมตรแล้ว “อีสท์ วอเตอร์” ยังเพิ่มทุนและระดมทุนเพื่อก่อสร้างสถานีสูบน้ำ โครงข่ายท่อส่งน้ำ และแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม พร้อมนำระบบควบคุมการสูบส่งระยะไกล หรือ SCADA มาประยุกต์ใช้ สามารถติดตามผลและแก้ปัญหาการสูบส่งน้ำได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบ Control center เป็นศูนย์กลางการควบคุม มีมาตรการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดิบ จากทุกแหล่งน้ำตลอดเวลาแบบ Real Time ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียน้ำในเส้นท่อ และเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำได้ดียิ่งขึ้น เชื่อมโยงแหล่งน้ำหลักของภาครัฐ (อ่างเก็บน้ำ) แม่น้ำสายหลัก และแหล่งน้ำเอกชนกับลูกค้าในพื้นที่บริการทั้ง 3 จังหวัด เกิดเป็นโครงข่ายท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ (Water Grid) ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย และสมบูรณ์ที่สุดในอาเซียน ความยาวรวม 512 กิโลเมตร เป็นการเชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเกือบทั้งหมด ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ดอกกราย คลองใหญ่ และประแสร์ แม่น้ำระยองและคลองทับมา ในจังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำหนองค้อและบางพระในจังหวัดชลบุรี รวมถึงแม่น้ำบางปะกงในจังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านโครงข่ายท่อส่งน้ำขนาดใหญ่เชื่อม 2 ลุ่มน้ำใน 3 จังหวัด

นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับท่อของกรมชลประทาน ในจังหวัดจันทบุรี ทำให้ “อีสท์ วอเตอร์” สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมพื้นที่ EEC ลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในสภาวะภัยแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง อีกทั้งช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มรุกในแม่น้ำบางปะกง การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนอย่างสม่ำเสมอ และด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

จากสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน มาตรการรองรับวิกฤตขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรานั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน ได้ร่วมมือกันบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ในการขอความร่วมมือจากนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 แล้ว  อีสท์ วอเตอร์ ในการจัดหาแหล่งน้ำอื่น เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำ และกรมชลประทานในการเตรียมความพร้อม ด้านเครื่องมื่อเครื่องจักร ขอความร่วมมือควบคุมการใช้น้ำของภาคเกษตรกรรม และทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ให้มีน้ำเพียงพอ

 อีสท์ วอเตอร์

นอกเหนือจากสถานการณ์ภัยแล้ง ในปี 2547-2548 ต่อมา อีสท์ วอเตอร์ ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำ จัดตั้ง War Room กับผู้มีส่วนร่วม เช่น กรมชลประทาน กนอ. กปภ. ผู้ใช้น้ำ และ อีสท์ วอเตอร์ ทำให้เกิดการร่วมกันแก้ไขอย่างมีเอกภาพ ทำให้เกิดโครงการลงทุนท่อเชื่อมลุ่มน้ำ แหล่งน้ำต่างๆ เข้าด้วย โครงการของ อีสท์ วอเตอร์ เช่น ท่อส่งน้ำบางปะกงเชื่อมท่อแหลมฉบัง ท่อส่งน้ำประแสร์-คลองใหญ่ และโครงการของภาครัฐ เช่น ท่อส่งน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยยานุชิต-บางพระ เป็นต้น และโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการ ทำให้ภาคตะวันออกรอดพ้นจากการขาดแคลนน้ำไปได้

ต่อมาในปี 2562-2563 ได้เกิดภัยแล้งอีกครั้ง แต่เนื่องจากความร่วมมือในการทำงานของ War Room และโครงข่ายท่อส่งน้ำที่สมบูรณ์ จึงทำให้ภาคตะวันออก ผ่านพ้นไปได้อีกครั้ง โดยการมีโครงข่ายท่อที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์และการบริหารงานที่เป็นเอกภาพเป็นปัจจัยสำคัญ

เชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีส วอเตอร์ กล่าวว่า “อีสท์ วอเตอร์” มีระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำ Water Grid ที่ใช้ในการบริหารจัดการส่งน้ำในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีความยาวรวมทั้งสิ้น 512 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบโครงข่ายท่อเพิ่มเติมด้วยความยาวอีกกว่า 120 กิโลเมตร  เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 อีสท์ วอเตอร์
เชิดชาย ปิติวัชรากุล

“การขยายการลงทุนครั้งนี้ เพื่อสร้างมั่นใจให้กับผู้ใช้น้ำว่า “อีสท์ วอเตอร์” ยังคงมีขีดความสามารถในการให้บริการส่งจ่ายน้ำในพื้นที่ EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป และยังคงยึดมั่นภารกิจในการบูรณาการการบริหารและจัดการระบบท่อส่งน้ำดิบในพื้นที่ภาคตะวันออก เน้นความเป็นเอกภาพและเสถียรภาพ รวมถึงดูแลบำรุงรักษาระบบท่อส่งน้ำให้สามารถตอบสนองความต้องการการใช้น้ำได้อย่างเพียงพอ ทันต่อเหตุการณ์ และสามารถขยายระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ในอนาคต เป็นสิ่งที่ “อีสท์ วอเตอร์” ยึดมั่นมาตลอด 30 ปี” นายเชิดชาย กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight