CSR

‘ดีป้า’ปั้นบุคลากร‘วีอาร์’ดันดิจิทัลคอนเทนท์ 2.6 หมื่นล้าน

เทคโนโลยีวีอาร์ หรือ Virtual Reality หรือ VR กำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่การสร้างโลกเสมือนจริง ผ่านแว่นวีอาร์ได้เท่านั้น แต่ยังสร้างประสบการณ์ต่าง ๆ ตามที่ผู้สร้างคอนเทนต์ ต้องการนำเสนอได้อีกด้วย

ทั้งยังเป็นช่องทางสำคัญของการทำ “ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง” ที่ผ่านมาข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีวีอาร์ ที่เผยแพร่ผ่านสื่อมักเป็นเรื่องราวที่อยู่ในวงการเกมเป็นส่วนใหญ่

แม้ช่วงแรกอุตสาหกรรมเกม จะเป็นตลาดหลักของเทคโนโลยีนี้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วมากมาย ทั้งในอุตสาหกรรมการแพทย์ , การศึกษา, ความมั่นคง, วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งคนไทยมีความสามารถไม่แพ้ต่างชาติ

 ดีป้า วีอาร์

ดิจิทัล คอนเทนท์พุ่ง 2.6 หมื่นล้าน

มนต์ชัย ศรีเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ สำนักงานงานเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทย เติบโตต่อเนื่อง  แนวโน้มปี 2561 คาดมีมูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท โดยอุตสาหกรรมเกมจะขยายตัวสูงสุด 12% แอนิเมชัน 10% และอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ 8.1%

โดย “จีน” เป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ที่สุดที่ทุ่มงบลงทุนในอุตสาหกรรมวีอาร์และเออาร์ ทั้งในด้านแพลตฟอร์มและคอนเทนท์ ทั้งยังร่วมกับกลุ่มสตาร์ทอัพในจีน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน

ดีป้าจึงได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการโครงการ VR Inventors จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 300 คน คัดเลือกจนเหลือ 80 คน และเหลือ 10 คนสุดท้าย เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ กรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมฝึกงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตและให้บริการเทคโนโลยีวีอาร์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์เทคโนโลยีวีอาร์ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลก

 ดีป้า วีอาร์

ส่องเทคโนโลยี“วีอาร์”14 บริษัทดัง

พร้อมศึกษาเทคโนโลยีวีอาร์ จากบริษัทต่าง ๆ กว่า 14 แห่ง อาทิ NOITOM ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี Motion Capture โดดเด่นด้วยโปรเจ็ค Perception Neuron ระบบจับภาพเคลื่อนไหวขนาดเล็กที่สุด มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง , โปรเจ็ค Alice แพลตฟอร์มวีอาร์แบบ B2B รองรับการใช้งานจำนวนมาก ๆ ได้พร้อมกัน และโปรเจ็ค Hi5 VR Glove ถุงมือจับความเคลื่อนไหว ใช้งานร่วมกับ HTC Vive และแพลตฟอร์ม Alice ซึ่งจะทำให้เสมือนจริงมากกว่าการใช้รีโมตในการควบคุม

นอกจากนี้ได้เดินทางไปยัง Industry of Virtual Reality Alliance ซึ่งเป็นสมาพันธ์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและบริษัทเอกชน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมวีอาร์ ทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ต่างๆ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นสมาชิกกว่า 300 บริษัท , Pico Interactive บริษัทชั้นนำในการผลิต VR Headset มีสาขาทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐ , สเปน , จีนและญี่ปุ่น

ศึกษา-วิจัยพัฒนาซอฟต์แวร์

ด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนา คณะได้เยี่ยมชม Software Engineering Center Chinese Academy of Sciences องค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์เทคโนโลยีต่างๆ รวมไปถึงวีอาร์ เพื่อนำมาใช้ในกิจการด้านต่างๆ ของรัฐบาลและภาคเอกชน มีผลงานโดดเด่นหลายด้าน อาทิ ด้านการทหาร มีการจำลองอาวุธและสถานการณ์ในการรบ มีระบบฝึกซ้อมรบ , ด้านอวกาศ แสดงชั้นของเมฆ การเคลื่อนที่ของแสงและลม , ด้านการออกแบบภายใน งานนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ต่างๆ เป็นต้น พร้อมร่วมทดลองขับวีอาร์สอนขับรถบรรทุก และวีอาร์ฝึกผจญเพลิงสำหรับนักดับเพลิง อีกด้วย

ทางด้าน TUS Holdings ได้นำเสนอผลงานวีอาร์สอนภูมิศาสตร์โลก ที่มีการนำไปใช้จริงในการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา โดยเมื่อชี้ไปบนแผนที่โลกผู้ใช้งานจะเห็นสภาพภูมิประเทศต่างๆ ในแบบ 360 องศา นอกจากนี้ยังได้ชมเทคโนโลยี Mix Reality ในการนำภาพจาก Hologram ผสมผสานกับฉาก Green Screen และมนุษย์ผู้แสดงตัวจริง มาสร้างสรรค์ผลงานให้มีมิติและสมจริง

ดีป้า วีอาร์

สำหรับผลงานวีอาร์ของนักพัฒนารุ่นใหม่เหล่านี้ จะจัดแสดง ณ บูท VR Inventors ในงาน Bangkok Comic Con X Thailand Comic Con 2018 ระหว่างวันที่ 27 – 29 เมษายน นี้ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight