CSR

‘เครือซีพี’ ร่วมฟื้นฟูประมงชายฝั่ง วางประการังเทียมเพิ่ม สร้าง ‘ทะเลไทยยั่งยืน’

เครือซีพีชูแนวคิด “SEACOSYSTEM : เพื่อทะเลไทยที่ยั่งยืน” ผนึกกำลังทุกภาคส่วนร่วมอนุรักษ์ท้องทะเลไทย เดินหน้าจับมือกับกรมประมง ขยายพื้นที่วางปะการังเทียม 1,000 แท่ง ในจ.สงขลา และจ.นราธิวาส เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและการประมงชายฝั่งเชิงบูรณาการอย่างยั่งยืน

ศุภชัย เจียรวนนท์
ศุภชัย เจียรวนนท์

ในวันนี้ (12 กันยายน 2562)กรมประมง ร่วมกับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) จัดพิธี “ส่งมอบปะการังเทียม ภายใต้ความร่วมมือการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และฟื้นฟูการประมงชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน” โดยมี นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง, พลเรือตรีภูมิพันธ์ นิลกำแหง ผู้แทนจากทัพเรือภาคที่ ๒ กองทัพเรือ, นายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, นายเรวัตร คงประดิษฐ์ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่ ร่วมกันส่งมอบและจัดวางปะการังเทียมจำนวน 1,000 แท่งให้กับชุมชน อ.ระโนด จ.สงขลา และอ.เมือง จ.นราธิวาส

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากวิกฤตและปัญหาที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลของประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะภาคเอกชนที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเลไทย จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งภาคตะวันออกอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยดำเนินการผ่านแนวคิดหลัก “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน”

ปะการังเทียม 3

 

ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. นโยบายในการพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (SD in Process) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ชูการทำงานที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย 2. ส่งเสริมศักยภาพชีวิตชุมชน เช่น การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดียั่งยืน ด้วยรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม และส่งเสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนในชุมชน 3. สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำ เช่น โครงการป่าชายเลน โครงการปะการังเทียม บ้านปลา แนวเขตและกติกาเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน 4. การขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น โครงการธนาคารสัตว์น้ำ และ 5. การวิจัยและพัฒนา โดยร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านทรัพยากรทางทะเลระดับประเทศ ผ่านงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

สำหรับการร่วมมือกับกรมประมงในการจัดวางปะการังเทียมครั้งนี้ นับเป็นการดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2 จำนวน 1,000 แท่ง ในพื้นที่ชุมชนทะเลชายฝั่ง อ.ระโนด จังหวัดสงขลา และอ.เมือง จ.นราธิวาส โดยมุ่งหวังให้ท้องทะเลภาคใต้ของไทยฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ พี่น้องชาวชุมชนมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถือเป็นพัฒนาการอีกหนึ่งก้าวของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการพัฒนาความยั่งยืนสู่ท้องทะเลไทย

ปะการังเทียม 12 ก.ย. 62 ๑๙๐๙๑๒ 0013

การดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการการดำเนินงานในระยะที่ 1 พบว่า การวางปะการังเทียมทั้งหมดไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อท้องทะเลบริเวณดังกล่าว ทั้งทางเคมีและทางกายภาพ ในทางกลับกัน ท้องทะเลบริเวณดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น โดยสำรวจพบว่ามีปลามากถึง 35 ชนิด และจำแนกเป็นปลาเศรษฐกิจมากถึง 22 ชนิดและปลาสวยงามอีก 8 ชนิด ทำให้ชุมชนประมงชายฝั่งในบริเวณดังกล่าวสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น

จนถึงปัจจุบันเครือซีพีได้จัดวางปะการังเทียมในทะเลไทยรวมทั้งสิ้น 2,000 แท่ง ทำให้ชุมชนประมงชายฝั่งในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากทะเลได้อย่างยั่งยืนสามารถสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้านนายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การจัดวางปะการังเทียมครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าในระยะที่ 2 จากการลงนามความร่วมมือในโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งภาคตะวันออกอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ระหว่างกรมประมง เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์และบริษัท ทรู คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

ปะการังเทียม 5

“จากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของท้องทะเล ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำของไทยมีปริมาณลดน้อยลงอย่างมากจนบางชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง และทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว กรมประมงจึงได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งทะเลโดยการจัดสร้างปะการังเทียมอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน”

ขณะที่ปะการังเทียมมีประโยชน์ในการใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัว วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ ทั้งยังเป็นการป้องกันการทำการประมงที่มีลักษณะทำลายทรัพยากร จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเล รวมทั้งเป็นการพัฒนาแหล่งทำการประมงทั้งการประมงพื้นบ้านและการประมงพาณิชย์ ทำให้ชาวประมงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนถึงปัจจุบันกล่าวได้ว่าท้องทะเลไทยมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นจากการจัดวางปะการังเทียม

ปะการังเทียม

นายวิชาญกล่าวปิดท้ายว่า การจัดสร้างปะการังเทียมนั้น กรมประมงได้ดำเนินการตามพระราชเสาวณีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัว วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ โดยเริ่มจัดสร้างมาตั้งแต่ปี 2521 อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันกรมประมงได้ดำเนินการจัดสร้างปะการังเทียม เพื่อให้เป็นแหล่งทำการประมงในพื้นที่ 20 จังหวัดชายทะเล รวม 584 แหล่ง ครอบคลุมพื้นที่ 2,063.13 ตารางกิโลเมตร ซึ่งผลการจัดสร้างพบจำนวนประชากรสัตว์น้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีสัตว์น้ำในอดีตที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจแล้วหายไป ได้กลับมามีขึ้นอีกมากมาย ที่สำคัญคือ ชาวประมงควรใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ให้รักและหวงแหนในทรัพยากรพื้นถิ่นของตน เพื่อให้ลูกหลานไทยได้มีสัตว์น้ำไว้ใช้อย่างยั่งยืน

Avatar photo