COLUMNISTS

‘เมกะวัตต์คุณภาพ’ มาตรวัดความสำเร็จที่ยั่งยืนของธุรกิจไฟฟ้า

Avatar photo
ดร.กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
341

“เมกะวัตต์คุณภาพ” มาตรวัดความสำเร็จที่ยั่งยืนของธุรกิจไฟฟ้า “เมกะวัตต์คุณภาพ” คือเมกะวัตต์ที่มีคุณลักษณะตาม “หลักความยั่งยืนด้านพลังงาน”

ธุรกิจด้านพลังงานกำลังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการภาคเอกชนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเล็งเห็นความสำคัญของไฟฟ้าที่ทวีบทบาทมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบันรวมถึงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความนิยมในยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นในภาคการผลิตสินค้าและบริการ (Electrification) ที่นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาล ทั้งนี้ นโยบายด้านพลังงานที่เหมาะสมของแต่ละประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมภาคเอกชนในการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้า และช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้รุดหน้า

เมกะวัตต์คุณภาพ 28106511

แต่การที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีแง่มุมให้วิเคราะห์มากกว่าจำนวนเมกะวัตต์หรือกำลังผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าหนึ่ง ๆ สามารถผลิตได้ เพราะสำหรับผมแล้ว คำว่า “เมกะวัตต์คุณภาพ” (Quality Megawatts) ต่างหาก คือสิ่งที่สามารถบ่งชี้ถึงความสำเร็จและความยั่งยืนในการผลิตและส่งมอบพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้คน ซึ่งแน่นอน ย่อมตามมาด้วยการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ

ก่อนที่เราจะพูดเรื่องเมกะวัตต์คุณภาพว่าเป็นอย่างไร ผมอยากพาท่านไปรู้จักกับ “สามเหลี่ยมแห่งความสมดุล” เพราะเป็นต้นทางหรือจุดกำเนิดของเมกะวัตต์คุณภาพนั่นเอง

ที่บ้านปู เพาเวอร์ (บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP) เรามีธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ไทย ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา) สิ่งที่เสมือนเป็นปราการด่านแรกในการวางแผนการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในพื้นที่ใด ๆ ของเราคือหลักการสามเหลี่ยมแห่งความสมดุล ได้แก่

B5154720 80A4 4F45 9B31 73F0E0049408

  1. ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (Economic) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาของเชื้อเพลิงที่จะนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า
  2. ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้เชื้อเพลิงนั้นมาผลิตพลังงานไฟฟ้า
  3. เสถียรภาพในการส่งมอบพลังงานไฟฟ้า (Security of supply) คือการเข้าถึงเชื้อเพลิงนั้น ๆ เพื่อให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การให้น้ำหนักกับแต่ละปัจจัยก็อาจแตกต่างกันตามบริบทของภูมิศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงนโยบายของแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (Shale Gas) อย่างอุดมสมบูรณ์ มีท่อขนส่งก๊าซครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน หลายภูมิภาคของสหรัฐก็ยังมีพื้นที่ที่สามารถรับแสงแดดและลมได้เป็นอย่างดี

โดยรวมจึงถือว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพในการส่งมอบพลังงานในระดับสูงจากประเภทเชื้อเพลิงที่หลากหลาย ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงเมกะวัตต์หรือพลังงานไฟฟ้าที่มีราคาสมเหตุสมผลได้ในฤดูกาลหรือช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป นับเป็นข้อดีสำหรับผู้บริโภค และไม่เป็นภาระหนักสำหรับภาครัฐ อีกทั้งยังเป็นสภาวะตลาดที่จูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นต่อไปอีกด้วย

74DCD170 2947 416C 864F 0E211711B441

อีกหนึ่งตัวอย่างคือกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คงไม่มีใครปฎิเสธว่า ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมคือทิศทางของโลกในอนาคต เพราะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ปัญหาสำคัญคือ ไม่ใช่ทุกที่ที่แสงแดดและลมจะมีความสม่ำเสมอตลอดเวลา ทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องมีนโยบายกระจายความเสี่ยงของเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ เพื่อให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ช่วงเวลาและทุกสภาพอากาศ และช่วยส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีแรงจูงใจในการลงทุน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การศึกษาวิจัยและลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เช่น แบตเตอรี่ เพื่อช่วยปลดล็อกเรื่องการขาดความสม่ำเสมอของสายลมและแสงแดด เป็นต้น

ลองนึกภาพตามว่า หากเราเลือกลงทุนในธุรกิจพลังงาน ณ พื้นที่ใด ๆ โดยคิดเรื่องความสามารถในการผลิตไฟฟ้าออกมาเป็นเมกะวัตต์จำนวนมาก ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงสามเหลี่ยมแห่งความสมดุล ก็อาจทำให้ได้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าที่มีราคาสูงเกินไป หรือจัดหาไม่ได้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงอาจเป็นเชื้อเพลิงที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเกินไป ซึ่งนั่นย่อมไม่ใช่การได้มาซึ่งเมกะวัตต์คุณภาพ ที่จะช่วยสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับการดำเนินชีวิตของผู้คน สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่นั้น ๆ และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน เมื่อวิเคราะห์แล้วว่าการลงทุนนั้น ๆ สามารถตอบโจทย์ 3 ปัจจัยข้างต้นได้ BPP ก็จะเดินหน้าแผนการลงทุนต่อไป และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมกะวัตต์คุณภาพครับ

Takeo 2
DCIM100MEDIADJI_0017.JPG

แล้วเมกะวัตต์คุณภาพ ควรมีหน้าตาอย่างไร? สำหรับผม เมกะวัตต์คุณภาพคือเมกะวัตต์ที่มีคุณลักษณะตาม “หลักความยั่งยืนด้านพลังงาน” ซึ่งประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ A.R.E. ได้แก่

  1. Affordable เป็นพลังงานไฟฟ้าที่มีราคาเหมาะสม ไม่ผันผวนตามปัจจัยต่าง ๆ และไม่เป็นภาระทางการเงินให้กับประเทศนั้น ๆ มากเกินไป หากมองจากมุมของภาคเอกชน ก็คือมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดี โดยภาครัฐเองก็จะได้ประโยชน์ เนื่องจากสามารถจูงใจภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนและช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้
  2. Reliable สามารถจัดหาพลังงานไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอทุกช่วงเวลา มีความต่อเนื่องของ supply และสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สภาพภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) หรือสภาพทางการเมืองของประเทศนั้น ๆ
  3. Eco-friendly ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทาง Greener Electricity หรือการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือแนวทางในอนาคตของ Decarbonized World เพราะทุกภาคส่วนต่างช่วยกันลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ไม่รุนแรงเกินการควบคุม เพื่อส่งมอบโลกที่สดใสให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้

มาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงเห็นตรงกับผมว่า ความสำเร็จที่ยั่งยืนของธุรกิจไฟฟ้าก็คือความสามารถในการผลิตและส่งมอบพลังงานไฟฟ้าหรือเมกะวัตต์ที่มีคุณภาพได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะแม้การสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ผลกำไร และผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น (Shareholder) จะเป็นสิ่งจำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ การสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ที่เราเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือภาคธุรกิจที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าที่มีราคาสมเหตุสมผล เข้าถึงได้อย่างสม่ำเสมอ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม