COLUMNISTS

เลือกวิธีนี้!! แลกจบดีล ‘ทรู-ดีแทค’

Avatar photo
420

ประชุมบอร์ดกสทช.วันนี้ ยึดวิธีการ “โหวต” หวังจบดีลควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ หลังจ้างบริษัทต่างชาติศึกษาผลกระทบการควบรวม ขณะที่กระแสต่อต้านแรงต่อเนื่อง 

มาตามนัด!! วันนี้แล้วซินะที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช. ถึงเวลาได้ฤกษ์ การพิจารณาดีลการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นไปตามที่ ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการกสทช. บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า ขอรอรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระ จากต่างประเทศ เกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ที่ส่งมาให้สำนักงาน กสทช. เมื่อ 14 ตุลาคม 2565 เพราะต้องนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณา

หลังจากที่ปลอ่ยข่าวลวง ข่าวลือ กันมาหลายรอบ กับการเสนอเรื่องเข้าบอร์ดกสทช. ดีลควบรวมทรูและดีแทค จนทำให้เกิดกระแสคัดค้านต่อต้านดีลนี้ หนักช่วงที่ผ่านมา เพราะเป็นห่วงผลกระทบต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็มี 71 องค์กรผู้บริโภคภาคตะวันตก ขอแถลงการณ์แสดงจุดยืน “ไม่อนุญาตให้ควบรวมทรู-ดีแทค” กระแสคัดค้านเกิดขึ้นต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา แต่ความชัดเจนกลับไม่ปรากฎขึ้น

ประชุมบอร์ดกสทช.

ท่ามกลางการคัดค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทค ก็มีข่าวลือข่าวปล่อยกันเกือบทุกครั้ง ที่มีการประชุมบอร์ดกสทช.ว่าจะมีการนำดีลนี้เข้าที่ประชุม เรียกว่า “เขย่าขวัญ” มาอย่างต่อเนื่อง

ว่ากันว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้เรื่องนี้ ไม่ดั่งใจใคร ไม่สามารถ“หลับหูหลับตา”อนุมัติได้ หรือสนองความต้องการใครได้ง่ายๆ

เริ่มต้นจากบอร์ดชุดนี้ได้ ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ดีลนี้ถึง 4 คณะ อันประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย, คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง, คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ คณะอนุกรรมการแต่ละชุดทำการประชุมทำงานกัน หน้าดำคร่ำเครียด เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์ที่ได้รับไป เพื่อที่จะนำมาเสนอบอร์ดกสทช. กับข้อมูลในแต่ละด้าน เพื่อความรอบคอบก่อนที่จะ “จรดปลายปากกา” อนุมัติให้เกิดดีลควบรวมทรู-ดีแทค ขึ้น

เป็นเรื่องน่าเศร้า น่าเสียดายยิ่ง ที่ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ กลับไม่ได้รับความสนใจที่จะนำผลการศึกษาจากคณะอนุกรรมการเข้าที่ประชุมบอร์ดกสทช. เสมือนถูก “ลอยแพ” ผู้เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับเรื่องนี้ สั่งให้ศึกษาแต่กลับไม่เหลียวแลผลที่ออกมา แต่ที่น่าเสียดายยิ่งคือประชาชนไม่ได้รับรู้เลยว่า ผลศึกษาที่อุตส่าห์ไปซุ่มหารือกันเป็นอย่างไร ผลดีผลเสียต่อผู้บริโภคเป็นอย่างไร

แม้แต่ผลการศึกษาที่ไปจ้างฝรั่งทำการศึกษาเกือบจะ “ไม่ปรารถนา” ที่จะเอาผลการศึกษาเข้าที่ประชุม แต่บังเอิญมีกรรมการบางส่วนไม่เห็นด้วยไม่ยอม มองว่าเสียเงินจ้างแล้วอยู่ดีๆ จะไม่นำผลการศึกษามาพิจารณาได้อย่างไร อาการ “ลุกลี้ลุกลน” แบบเร่งที่จะจบดีลนี้ มีออกมาบ่อยๆ จาก“ไอ้โม่งในกสทช.” เร่งรีบแบบมีนัยะจนทำให้กรรมการบางคนมีข้อสงสัยจะเร่งรีบไปทำไม?

นับจากบอร์ดกสทช.ชุดนี้เข้ามา ร่วม 6 เดือน การทำงานดูเหมือนยัง “วังวล” อยู่กับดีลควบรวมทรู-ดีแทค ความล่าช้าไม่แน่ใจว่า อยู่บนเส้นขนานของความไม่ไว้วางใจต่อกันด้วยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ บอกเลยบอร์ดกสทช.ชุดนี้ เขาว่ากันว่า ไม่ค่อยจะ “เสือคล้อย” กันสักเท่าไหร่ อาจจะมองว่า“ไม่กลมกลืนกัน” ก็ไม่ใช่แปลก แน่นอนความ“ไม่กลมกลืนกัน” ย่อมทำให้เกิดการคานอำนาจซึ่งกันและกันได้ดี

ฉะนั้นวันนี้ (20 ต.ค.65) น่าจะถึงเวลาแล้วที่การประชุมบอร์ดกสทช. ต้องลดแรงกดดัน หาข้อยุติ ดีลควบรวมทรู-ดีแทค ที่มีทั้งจากฝ่ายเอกชนและภาคประชาชน ที่ต้องการเห็นผลสรุปของการประชุมครั้งนี้ แม้จะมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ตาม

ประชุมบอร์ดกสทช.

ถึงเวลาแล้วที่บอร์ดกสทช.ต้องตัดสินใจ และมีคำตอบให้สาธารณชนรับรู้ว่าจะเอาอย่างไร ในเมื่อข้อมูลผลการศึกษาจากฝรั่งออกมาแล้วก็ควรจัดการให้สังคมรับรู้ แม้จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจก็ตาม แต่เมื่อจ้างให้ ศึกษาแล้วผลการศึกษาควรต้องเปิดเผย

เอาล่ะ……แม้วันนี้จำเป็นต้องหาจุดจบของดีลนี้ ตามความปราถนาดีของใครบางคนถึงขั้นถกเถียงกันมาแล้ว ก่อนที่จะลงเอยด้วยการ“โหวตเสียง” ฉะนั้นกรรมการกสทช.จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ต้องโหวตกัน แน่นอนวิธีการแบบนี้บอกเลย“เสียงแตกชัวร์” แต่ยังไงก็ขอให้ทำกันอย่างตรงไปตรงมา ฟันธงงานนี้คงไม่โหวตแค่ว่าจะควบรวมหรือไม่ควบรวม แต่ที่แน่ๆ โหวตในเรื่องที่สำคัญๆ … เรียกว่าโหวตกันยาวๆไปเลย !! ส่วนประเด็นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการควบรวม น่าจะเป็นโหวตสุดท้ายก็เป็นได้!!!

อ่านข่าวเพิ่มเติม