COLUMNISTS

ฟอร์ดอเมริกาทุบหม้อข้าว เลิกขายรถเก๋งในปี 2020

Avatar photo
แอดมินเพจ Tesla News Thailand นำเสนอเรื่องราวบริษัทเทสล่า และความเคลื่อนไหวในวงการรถยนต์ยุคใหม่ และพลังงานไฟฟ้ายั่งยืน [email protected]
3122

ข่าวใหญ่จริงๆ สำหรับบริษัทฟอร์ด หนึ่งในบิ๊กทรีของผู้ผลิตของสหรัฐ ที่เพิ่งประกาศถึงทิศทางของบริษัทที่หันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนารถไฟฟ้า โดยจะเลิกผลิตรถยนต์รุ่นที่เป็นรถเก๋ง เรียกว่าเหมือนชาวบ้านบางระจันทุบหม้อข้าวเข้าตีเมืองจันท์กันเลยทีเดียว

หลังจากที่มีการเปลี่ยนตัว CEO ของฟอร์ดในช่วงกลางปีที่แล้ว จากคนเดิมที่ถูกอัปเปหิเพราะผลงานที่ไม่ตอบโจทย์เรื่องรุ่นรถยนต์ในอนาคต ที่ไม่ได้รวมรถไฟฟ้าอยู่ด้วยซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่มาแน่นอน และภายใต้ทิศทางที่ CEO คนใหม่อย่าง Jim Hackett ที่ย้ายมาจาก Uber ซึ่งให้ความสำคัญกับรถไฟฟ้า ที่สอดคล้องกับยุคหน้าของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่จะเปลี่ยนผ่านไปเป็นเทคโนโลยีรถไฟฟ้านั้น แสดงให้เห็นความชัดเจนถึงแนวทางของบริษัทอย่างแท้จริง

ตั้งแต่ที่ Jim Hackett ได้เข้ามาบริหารงานเมื่อปีที่แล้ว เขาก็ได้ประกาศแผนการลงทุนในอนาคตว่า จะโยกเงินลงทุนมากถึงหนึ่งในสามจากงบวิจัยเครื่องยนต์สันดาปภายใน มาไว้ที่ฟากระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นการลดความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีขับเคลื่อนที่กำลังจะตกยุคไปในศตวรรษนี้ รวมทั้ง ตั้งทีมพิเศษขึ้นมาหนึ่งทีม เพื่อภารกิจพัฒนารถไฟฟ้าโดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อที่เหมาะสมมากคือ Team Edison (ตั้งตามชื่อ Thomas Edison)

ในรายละเอียดของสิ่งที่ Jim Hackett แถลงไว้ในช่วงรายงานผลประกอบการของบริษัทล่าสุดนั้น เขากล่าวว่าบริษัทกำลังจะสร้างพอร์ตโฟลิโอของรถรุ่นต่างๆ ที่จะทำให้ฟอร์ดสามารถเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้ กล่าวคือ จะเป็นการลดจำนวนรุ่นรถยนต์นั่งในทวีปอเมริกาเหนือที่ขายไม่ดี โดยกำหนดไว้ว่าภายในปี 2020 ประมาณ 90% ของรุ่นรถยนต์จะเหลือเพียงรถบรรทุก รถ SUV และรถเพื่อการพาณิชย์

2018 5 1 news

บริษัทตัดสินใจที่จะไม่ลงทุนพัฒนาเจนเนอเรชั่นใหม่ของรุ่นต่างๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันภายในช่วงสองปีต่อจากนี้ คงเหลือไว้แค่เพียงฟอร์ด Mustang รถสปอร์ตที่ขายดีที่สุด และฟอร์ด Focus Active crossover ที่กำลังจะวางตลาดในปีหน้า รวมทั้งรถแบบใหม่ที่จะเป็นส่วนผสมของรถเก๋ง และรถเอนกประสงค์ที่อาจจะเป็นตัวถังแบบยกสูง มีพิ้นที่ใช้สอยเยอะ และใช้งานได้หลากหลายเท่านั้น

เขายังกล่าวย้ำถึงข้อมูลที่ได้เคยให้ไว้เกี่ยวกับจำนวนรุ่นของรถพลังงานไฟฟ้า ที่บริษัทวางเป้าหมายที่นำออกสู่ตลาดภายในปี 2020 ว่าจะเป็นรถ BEV (รถไฟฟ้าแบตเตอรี่) มากถึง 16 รุ่น โดยเริ่มที่รถแบบ CUV (Comtact SUV)  วิ่งได้ไกลถึง 300 ไมล์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

ข้อมูลดังกล่าว ทำให้เรามองเห็นทิศทางที่เหมือนการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสของฟอร์ดจริงๆ โดยพิจารณาจากสถานการณ์ยอดขายที่ไม่ค่อยดีของรถเก๋งรุ่นต่างๆ ซึ่งมียอดขายในปีที่แล้วลดลงตั้งแต่ 4-22% ของรถยนต์นั่ง 5 รุ่นที่มีขายในสหรัฐ (Taurus, Fiesta, Focus, C-max และ Fusion)

ณ จุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีเช่นเวลานี้ การตัดสินใจเลิกพัฒนา และเลิกขายรุ่นที่สู้คู่แข่งไม่ไหว ถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกำไรโดยรวมของบริษัทแบบกล้าได้กล้าเสียมากๆ

นโยบายดังกล่าวจะไม่รวมตลาดยุโรปที่รถยนต์ของฟอร์ดยังทำยอดขายได้ดี แต่นั่นก็น่าจะหมายถึงการทำตลาดแค่รุ่นที่เป็นเจนเนอเรชั่นปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มเติมระบบไฮบริดในช่วงสองสามปีจากนี้เพื่อยืดอายุการขายออกไป

ทิศทางการปรับแก้พอร์ตโฟลิโอแนวนี้ของฟอร์ดยังไม่เคยเห็นจากบริษัทไหนมาก่อนเลย อย่างที่เคยทราบจากข่าวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Benz  BMW หรือ Volkswagen ต่างก็ใช้วีธีเพิ่มรุ่นที่เป็นไฟฟ้า หรือแตกเป็นแบรนด์ใหม่ ซึ่งก็คือการเพิ่มรุ่นเข้าไปแบบกลายๆ

นอกจากจะเป็นการลงทุนเพิ่มเติมในการพัฒนารถไฟฟ้าแล้ว ก็ยังต้องพัฒนารถยนต์รุ่นปกติเพิ่อรักษาฐานยอดขายเดิมให้ขายได้ต่อไป

ดูไปก็เหมือนรักพี่เสียดายน้องเพราะของใหม่ก็โตแน่ๆ ส่วนของเก่าก็ดูมีคุณค่าใครๆ ก็ซื้อแบบไม่ต้องคิดมาก แต่สำหรับฟอร์ดนั้นคงไม่มีตัวเลือกอะไรที่ดีไปกว่าการเฉือนเนื้อร้ายทิ้ง ที่อาจจะทำให้อย่างน้อยก็พอจะก้าวทันคู่แข่งเจ้าเก่าอย่าง GM ที่ออกตัวไปตั้งแต่สองปีที่แล้วด้วย Chevrolet Bolt EV ซึ่งมียอดขายไปได้สวยในสหรัฐ และถือเป็นรถที่สามารถเป็น benchmark ให้บริษัทอื่นต้องนำเปรียบมวยด้วย เพราะระยะทางที่ไปได้ไกลถึง 238 ไมล์ จากราคาค่าตัวที่ไม่สูงจนเกินไปในระดับเดียวกับเทสล่า Model 3 ที่เป็นรถไฟฟ้าราคาเอื้อมถึงได้รุ่นแรก

ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดก็คือสถานการณ์ยอดขาย และส่วนแบ่งการตลาดของฟอร์ดในบ้านเราช่างดูคล้ายกับตลาดที่สหรัฐเสียเหลือเกิน กล่าวคือทำได้ดีในตลาดรถกระบะรวมทั้งรถดัดแปลงจากรถกระบะรวมทั้งรถ SUV แต่สำหรับรถยนต์นั่งแล้วเป็นเหมือนหนังคนละม้วนกันเลย

รถยนต์นั่งของฟอร์ดในปัจจุบันเหลือเพียง Fiesta และ Focus เท่านั้นที่ยังวางจำหน่ายอยู่ ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้นมีตัวเลขที่ดูแล้วนึกว่าดูผิด เพราะขายได้แค่หลักร้อยคันเท่านั้น

รถยนต์นั่งทั้งสองรุ่นนี้นอกจากยอดขายจะน้อยมากๆ แล้ว ยังมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับเจ้าอื่นๆ ที่โตวันโตคืน ซึ่งก็อาจจะเกิดจากปัจจัยเรื่องอายุที่ย่างเข้าสู่ปลายไซเคิลแล้วก็เป็นได้ (แต่เจ้าอื่นก็ไม่ได้สดใหม่มาก)

ส่วนรุ่นที่ขายดีมากๆ ก็เป็นใครไปไม่ได้นอกจากเจ้ากระบะ Ranger ที่หน้าตาดูหล่อเร้าใจ และ ขายดีที่สุดในแถบเอเชียแปซิฟิก รวมทั้ง Everest ที่วางตำแหน่งทางการตลาดให้เป็นรถหรูที่สุดของฟอร์ดก็ทำยอดขายได้ดีวันดีคืน

อีกทั้งเจ้า CUV อย่าง Eco Sport ซึ่งก็มีดีไม่แพ้กัน มาเป็นตัวช่วยให้บริษัทเติบโตขึ้นมารั้งตำแหน่งที่ 6 เมื่อวัดจาก ยอดขายรวมของปี 2017

เมื่อดูทรงแล้วทำให้คิดว่าหากฟอร์ดจะมีนโยบายลงพื้นที่ส่วนรถไฟฟ้าก็น่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะถ้าหัวขยับหางก็ต้องไปทางเดียวกัน 

ที่สำคัญที่สุดคือบ้านเราเองก็มีการเคลื่อนไหวในการเตรียมความพร้อมเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่มีให้เห็นมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้หนทางสะดวกมากขึ้นในการวางตลาดรถไฟฟ้าในอนาคตสำหรับฟอร์ดประเทศไทย

แต่หากมองในอีกแง่หนึ่งที่จะไม่เอารถไฟฟ้ามาวางจำหน่ายในอนาคตแล้วยึดเอาแค่ตลาดรถกระบะกับ SUV เท่านั้น จะทำให้บริษัทวิ่งไปได้ไกลมั้ย ก็คงต้องบอกว่าได้เหมือนกันเพราะยอดขายที่มาจากรถยนต์นั่งทั้งสองรุ่นคิดเป็นสัดส่วนแค่ 1% เท่านั้น ซึ่งน้อยจนไม่นึกว่ายังมีขายอยู่ หากจะตัดทิ้งไปเลยก็ดูไม่ยากที่จะทำ ยิ่งหากมองถึงเรื่องปัญหาที่เคยเกิดกับระบบเกียร์ที่เป็นข่าวกับผู้บริโภคแล้วก็ยิ่งน่าตัดทิ้งเป็นอย่างมาก

ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าหากฟอร์ดคิดการใหญ่จะก้าวนำใครก่อนในเรื่องรถไฟฟ้าก็น่าจะทำได้ แต่ถ้าจะอยู่ใน save zone แบบสบายๆ ก็ยังคงทำได้แบบชิลชิลเช่นกัน น่าติดตามครับ

ที่มา : https://goo.gl/K7H6gb, https://goo.gl/NULc6p