COLUMNISTS

ต่อลมหายใจ…ทีวีดิจิทัล

Avatar photo
EcoIndy คิดต่างสร้างสรรค์
1140

eco indy

 

ถือเป็นการต่อลมหายใจ…เฮือกสุดท้ายให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่จะครบกำหนดชำระค่าใบอนุญาตในงวดต่อไป ในเดือนพฤษภาคม 2561 ที่กำลังจะมาถึงไม่อีกกี่วันข้างหน้า

หลังจาก คสช. ได้ข้อสรุปมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซี่งส่วนใหญ่ยังคงมีผลขาดทุน หลังการเปลี่ยนผ่านการออกอากาศรายการโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกมาเป็นทีวีดิจิทัล

เพราะนับตั้งแต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการจัดประมูลคลื่นทีวีดิจิทัล ในช่วงปลายปี 2556

ช่องทีวีดิจิทัล ผุดขึ้นเป็น “ดอกเห็ด” จากเดิมมีเพียงไม่กี่ช่อง ไม่ว่าจะเป็น 3 5 7 9 11 ไทยพีบีเอส

ขณะที่มูลค่าโฆษณาผ่านโทรทัศน์มีมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสื่อโฆษณาที่มีกว่า 115,029 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของโฆษณาทั้งหมด

พร้อมกับมีโฆษณาชวนเชื่อว่าภายในปี 2562 หลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบ “ทีวีดิจิทัล” เม็ดเงินโฆษณษจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หรือราว 140,000 ล้านบาท

ทำให้หลายบริษัทเฮโล ร่วมประมูลทีวีดิจิทัลอย่างคึกคัก มีผู้ชนะประมูลสูงถึง 20 บริษัท รวม 24 ใบอนุญาต กสทช.รับเงินประมูลทีวีดิจิทัลงวดแรกเกือบ 12,000 ล้านบาท

แต่เส้นทางหาได้โรยด้วย “กลีบกุหลาบ” ทุกอย่างไม่เป็นไปตามเป้า กสทช.ผิดสัญญา ไม่สามารถแจกกล่องทีวีดิจิทัลได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะที่ท่อส่งสัญญาณ ก็ไม่พร้อมให้บริการ ทำให้เม็ดเงินโฆษณาที่กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ไม่เป็นไปตามที่ประเมินไว้

และเป็นชวนเหตุให้ประสบปัญหา “ขาดทุน” อย่างต่อเนื่อง

และมีความเป็นไปได้ว่า…การชำระเงินค่าประมูลในรอบเดือนพฤษภาคม 2561 ที่จะมาถึง อาจมีหลายบริษัทไม่สามารถชำระได้

สาระสำคัญของประกาศ คสช.ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล พอที่จะสรุปได้ดังนี้คือ

  • มาตรการพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เป็นเวลา 3 งวด (งวดปี 2561 ,2562 และ 2563) โดยผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงากรต้องยื่นขอกับคณะกรรมการ กสทช. ภายใน 30 วัน โดยผู้ประกอบการยังต้องจ่ายเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยตามอัตราที่ ธปท.กำหนด (1.5% ต่อปี)
  • กสทช.จะสนับสนุนเรื่องโครงข่ายภาคพื้นดิน โดยการช่วยชำระค่าโครงข่าย (MUX) 50% เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ คสช.ออกคำสั่ง
  • เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถถ่ายโอนใบอนุญาตให้ผู้ที่สนใจได้

ปัจจุบันมาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างการเตรียมอกคำสั่งตามมาตรา 44 และร่างรายละเอียดในมาตรการดังกล่าว พลันที่มีข่าว คสช. ออกมาตรการอุ้มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ราคาหุ้นได้ทะยานตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ตั้งแต่ +0.93% จนเกือบจะถึง 10%

ราคาหุ้นกลุ่มทีวีดิจิตอล เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2561

 

345
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระพัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ม.44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ออกมา จะเป็นเซนติเมนท์เชิงบวกต่อหุ้นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

“คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นและลดภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช่องทีวีดิจิทัลที่มีเรตติ้ง และเริ่มประสบปัญหาทางการเงินจะสามารถยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้”

การพักชำระค่าใบอนุญาต 3 ปี จะช่วยลดภาระทางด้านกระแสเงินสดได้ตั้งแต่ 50 – 255 ล้านบาทต่อช่องต่อปี

ส่วนการลดค่าเช่าโครงข่าย 50% เป็นเวลา 2 ปี จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ราว 30 – 90 ล้านบาทต่อช่องต่อปี

โดยมองว่า บมจ.บีอีซีเวิลด์ (BEC) จะได้ประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากมีทีวีดิจิทัล 3 ช่อง คือ 3HD, 3SD และ 3Famiy คาดจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 21-26%

ส่วน บมจ.อสมท (MCOT) ที่มี 2 ช่อง จะพลิกจากขาดทุนเป็นกำไร 89 ล้านบาท ในปี 2562

สำหรับ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ที่มี 2 ช่อง เช่นกัน คือ ONE31 และ GMM25 คาดว่าจะไม่ได้ประโยชน์มากนัก แต่ทำให้กระแสเงินสดจ่ายลดลงราว 46-106 ล้านบาทต่อปี และค่าใช้จ่ายลดลง 15-23 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่ บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) คาดว่าจะได้ประโยชน์จากประเด็นค่าเช่าโครงข่ายที่ลดลงเท่านั้น เช่นเดียวกับ บมจ.อาร์เอส (RS)

ถือเป็นการต่อลมหายใจ…เฮือกสุดท้าย ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจริงๆ เพราะถ้าใครรู้ตัวว่าไม่สามารถไปต่อได้…ตอนนี้มี “ประตู”ให้ออกอย่างไม่เจ็บตัวแล้ว

คราวนี้ก็ต้องมาวัดกันที่ฝีมือแล้วละว่าใครจะเป็น “King of Content” ตัวจริง !!!! ในสังเวียนทีวีดิจิทัล