COLUMNISTS

สร้างเสริม ‘ระบบนิเวศ’ ที่ใช่!! เพื่อให้ธุรกิจไปต่อ

Avatar photo
402

ระบบนิเวศ (Ecosystem) เป็นคำที่ถูกพูดถึงมากว่าร้อยปี เพื่อใช้อธิบายความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่หนึ่ง ที่พึ่งพาอาศัยกัน เพื่อทำให้ทุกองค์ประกอบในระบบดำรงอยู่ได้ เช่นเดียวกัน 

ในทางธุรกิจก็มีคำว่า ระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญมากในโลกธุรกิจนับตั้งแต่ปี 1993 หลังจาก Harvard Business Review ได้ตีพิมพ์บทความ Predators and Prey: A New Ecology of Competition ซึ่งเขียนโดยศาสตราจารย์เจมส์ มัวร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สรุปใจความได้ว่า ธุรกิจไม่สามารถเติบโตหรือพัฒนาได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางธุรกิจที่ทำงานประสานกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ผู้จัดจำหน่าย ลูกค้า รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนนโยบายและกฎกติกาที่เกี่ยวข้อง

ระบบนิเวศ

ในขณะเดียวกัน วงจรการทำธุรกิจไม่ได้มีแค่ความร่วมมือ แต่มีการแข่งขัน และความเป็นไปได้ที่องค์กรหนึ่งจะสูญสลายไป หากไม่พัฒนาและปรับตัวอย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ ชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาและนักชีววิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ที่กล่าวไว้นานมาแล้วว่า ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่เข้มแข็งหรือฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด แต่เป็นเผ่าพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีที่สุดภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาต่างหาก

แนวทางการบริหารธุรกิจในทุกวันนี้สอดคล้องกับสองแนวคิดดังกล่าวอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะกิจการจะมั่นคงและพร้อมที่จะเติบโตต่อไปอย่างแข็งแกร่งในอนาคตได้ Ecosystem ทางธุรกิจขององค์กรต้องสมบูรณ์และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ

ระบบนิเวศ
นายกิรณ ลิมปพยอม

ผมมองว่า การปรับตัวที่ใช่ขององค์กร คือการใช้ประโยชน์จาก Ecosystem ที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็เสริมสิ่งใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์เข้ามาใน Ecosystem ให้สมบูรณ์ขึ้น เรียกง่าย ๆ ว่าองค์กรต้องเสริมสร้างให้ Business Ecosystem มีความแข็งแกร่งจากการพึ่งพาอาศัยประโยชน์จากทรัพยากรทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ แข่งขันได้ และขยายการเติบโตท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ได้

แข็งแกร่งจากภายใน เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

เมื่อโลกธุรกิจถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (digital disruption) ไม่ว่าองค์กรจะประกอบกิจการใด ต่างหนีไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวขนานใหญ่ (transformation) ซึ่งหัวใจสำคัญคือการเพิ่มขีดความสามารถ (competency) ภายในด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนั่นเอง ยกตัวอย่างกลุ่มบริษัทบ้านปูที่แม้จะทำธุรกิจแบบดั้งเดิม คือการทำเหมือง การขนส่ง และการผลิตไฟฟ้า แต่เราก็สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นทรัพยากรใน Ecosystem ของบริษัท เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำธุรกิจ

โดยนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาใช้ในการ optimization เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดและคุ้มค่าที่สุดในการบำรุงรักษาเครื่องจักร หรือการใช้ machine learning ที่เปรียบเหมือนสมองของ AI เพื่อศึกษาและคาดการณ์อุปสงค์ในอนาคต และหาทางเพิ่มรายได้ให้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่ผันผวน ถือเป็นการนำองค์ความรู้ใหม่มาสร้าง Competency ภายในองค์กร

ระบบนิเวศ

แข็งแกร่งจากภายนอก ผสานพลังกับพันธมิตร (partnership)

นอกจากการเสริม Competency ใหม่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจภายในองค์กรแล้ว การสร้าง Ecosystem จากภายนอกอย่างการร่วมมือกับพันธมิตรก็จำเป็น ในที่นี้ผมหมายถึงการผสานความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพและความเชี่ยวชาญซึ่งกันละกัน รวมถึงการส่งมอบคุณค่าหรือผลิตภัณฑ์และการบริการที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าขององค์กร ช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน

พันธมิตรที่ว่านี้อาจไม่ใช่องค์กรขนาดใหญ่ แต่เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีกระบวนการทำงานที่คล่องตัว ซึ่งเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาทดลองใช้ได้อย่างรวดเร็ว จนเมื่อการทดลองประสบความสำเร็จ ก็นำผลลัพธ์นั้นมาปรับใช้กับองค์กรพันธมิตรที่อาจมีขนาดใหญ่กว่าได้

ระบบนิเวศ

ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในโลกที่ถูกเทคโนโลยีดิจิทัล disrupt ไปเรียบร้อยแล้ว องค์กรต่าง ๆ จึงต้องวางแผนกลยุทธ์เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่โลกธุรกิจยุคใหม่อย่างไร้รอยต่อ หากเป็นเมื่อก่อน ระยะเวลาในการวางกลยุทธ์ระยะสั้นคือ 1 ปี แต่ในปัจจุบันอาจหมายถึง 1-3 เดือน ในขณะที่ระยะกลางที่เคยเป็น 2-3 ปี ก็เหลือเพียง 6-12 เดือน และสำหรับระยะยาวคือ 1 ปีขึ้นไป และยิ่งเมื่อมองปัจจัยรอบด้านว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบมาถึงองค์กรได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะหากองค์กรมีธุรกิจอยู่ในหลายประเทศ ความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นก็ยิ่งทวีคูณ

ดังนั้น ไม่ว่าองค์กรจะทำธุรกิจอะไร ก็ต้องปรับ Ecosystem ให้พร้อมตอบรับกระแสโลก สามารถสร้างรูปแบบที่เหมาะสมและเสริมความแข็งแกร่งของระบบนั้น อีกทั้งพาองค์กรเข้าไปอยู่ใน Business Ecosystem ที่เข้มแข็งให้ได้ มันไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นไฟต์บังคับที่ผู้บริหารทุกองค์กรต้องทำเป็นอันดับแรก

กิรณ ลิมปพยอม
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

อ่านข่าวเพิ่มเติม