COLUMNISTS

เรื่องจริงหรือวาทกรรม พลังดูดส.ส.เข้าพรรค

Avatar photo
2

ทุกครั้งเวลาจะมีการเลือกตั้งขึ้นมา เปลี่ยนสังกัดเปลี่ยนที่อยู่ ดูเหมือนจะคึกคักขึ้นทุกทีสำหรับคนการเมือง เช่นเดียวกับรอบนี้น่าจะสร้างสีสันไม่น้อยทีเดียว หลังเงียบเหงามาหลายปี ประเภทย้ายสังกัดย้ายมุ้งคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเรื่องปกติทางการเมือง

แต่ก็พยายามมองหาสาเหตุที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่าการที่หลายฝ่ายมองรัฐบาลพยายามดึงนักการเมืองมาเป็นแนวร่วม ที่มีความพยายามใช้คำว่า “พลังดูด” หากจะเรียกว่า “ดูด” มีหลายวิธี ที่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจและสร้างความเข้าใจ สามารถทำได้หลายอย่าง

การใช้คำว่า “ดูด” เป็นเพียงวาทกรรม เพื่อสร้างความสะใจ แต่ความจริงอาจจะเป็นเพียงการชักชวนเข้ามาร่วมอุดมการณ์ด้วยกัน

เริ่มที่จะถึงบางอ้อ.. ว่าทำไมถึงใช้คำว่า “พลังดูด” เมื่อย้อนกลับไปวิเคราะห์เมื่อครั้งที่มีประกาศพรรคการเมืองใหม่ออกมาแบบว่าจะสนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก  ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนมาจาก  สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โดยให้ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค  สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค

ปกติการตั้งพรรคการเมืองสิ่งสำคัญมันต้องมีส.ส.อยู่ในมือพอสมควร ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแกนนำพรรค แต่เห็นพรรคใหม่ที่โผล่ขึ้นมา ยังไม่แน่ใจสักเท่าไหร่ว่าส.ส.ในมือมีอยู่หรือไม่ ฉะนั้นไม่แปลกใจที่อาจต้องใช้ “พลังดูดส.ส.” จากที่อื่นเข้ามาสมทบ ก็เพราะพรรคใหม่แทบจะหาชื่อส.ส.ไม่ได้เลย

แต่การใช้พลังดูดส.ส.ในภาวะปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่าจะทำได้สักแค่ไหน จะมีส.ส.ให้ย้ายพรรคสักเท่าไหร่ เพราะสถานการณ์ตอนนี้มีแต่ความไม่ชัดเจน ยิ่งนักการเมืองบ้านเราแต่ละกลุ่มแต่ละก๊วน เรียกว่าเก๋าเกมกันอย่างนี้ ความสำเร็จที่จะไปดึงใครเข้าไม่ใช่เรื่องง่าย จึงไม่แปลกใจที่ตอนนี้มีแต่ข่าวคราวการดูดส.ส.เข้าพรรคหรือร่วมก๊วนไม่เว้นแต่ละวัน

ที่สำคัญยังมีกติกาการเมืองอะไรอีกมากมาย ที่ยังเป็นข้อบังคับอะไรที่อีกมากมาย ใครที่จะเข้ามาเล่นการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่ ก็เขียนไว้ชัดเจนว่าจะต้องทำอย่างไร ต้องลาออกหรือไม่ หากจะลาออกต้องลาออกภายในกี่วัน มันเป็นเงื่อนไขที่ต้องปฎิบัติกันอยู่แล้ว

แต่วันนี้ยังไม่แน่ใจว่า มีใครคิดลาออกจากตำแหน่งแล้วหรือยัง ภายหลังจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ถ้าไม่ลาออกเมื่อมีการตั้งพรรคการเมืองแล้วคนที่คิดจะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรค มันจะเป็นกันได้อย่างไร

หากไม่วิเคราะห์ให้ท่องแท้สุดท้าย อาจจะไม่มีที่นั่งในพรรคเลยก็เป็นได้ หากมีพรรคใหม่เกิดขึ้นจริง ฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่ออกมาอาจจะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

ดังนั้นหากจะตั้งพรรคใหม่ เพียงเพื่อดูดส.ส.เข้าพรรค  ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นแค่วาทกรรมทางการเมืองก็เป็นได้กับ “พลังดูดส.ส.” อย่างที่วิษณุ ออกมาบอก