COLUMNISTS

ทุเรียนแคลอรี่สูง!! กินอย่างไรไม่ให้อ้วน เบาหวานไม่พุ่ง

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
1536

รู้หรือไม่..กินทุเรียน ไม่ยั้ง 4-5 เม็ด ร่างกายได้แคลอรี่สูงเทียบเท่ากินอาหาร 2 มื้อ

เข้าสู่หน้าทุเรียนทีไร กลุ่มคนชอบทานทุเรียนเป็นต้องน้ำลายสอกับกลิ่นยั่วยวนหอม ๆ ของทุเรียน แต่พอนึกถึงแคลอรี่ในทุเรียนแล้ว ก็อดจะกลัวอ้วน น้ำหนักขึ้น ต้องแตะเบรกห้ามใจตัวเองแทบไม่ทัน เพราะอย่างที่เราทราบกัน ผลไม้ทุเรียนขึ้นชื่อ กินแล้วอ้วน ไขมันสูง แถมเบาหวานพุ่ง แต่ ไม่ต้องกังวลใจ เพราะถ้าเรากินอย่างถูกวิธี เราก็ยังได้ฟินกับรสชาติของทุเรียน แบบไม่ต้องกลัวอ้วน แถมยังมีสุขภาพดีด้วยค่ะ

ทุเรียน

“ทุเรียน” ราชาผลไม้มีหนาม มีประโยชน์เยอะ

“ทุเรียน” ราชาผลไม้ที่เป็นที่นิยมของใครหลายคน เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อว่ามีน้ำตาลสูง และแคลอรี่สูง แต่รสชาติที่หวานมันอร่อยของทุเรียน จึงยากมากที่จะอดใจไม่ให้กินได้ อยากกิน ก็อยากกิน กินแล้วก็รู้สึกผิดที่ในใจ เพราะเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง หากรับประทานมากเกินไป อาจส่งผลให้เจ็บคอ ร้อนใน ระดับน้ำตาลขึ้น และอ้วนได้ อย่างไรก็ตาม ทุเรียนก็ยังถือเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นกัน

ถึงแม้ว่าทุเรียน เป็นผลไม้ที่น้ำตาลสูง มีวิตามินซี โพแทสเซียม กรดอะมิโนซีโรโทเนอร์จิก ทริปโตเฟน คาร์โบไฮเดรต โปรตีนและเป็นแหล่งไขมันที่ดีในอาหารประเภทไม่ผ่านความร้อน นอกจากนี้ ในเนื้อทุเรียน ยังมีสารประกอบซัลเฟอร์หรือกำมะถัน เช่น ไทออล ไทโออีเทอร์ เอสเทอร์ และซัลไทด์ ซึ่งทำให้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีกลิ่นเฉพาะตัวที่แรงที่สุดในผลไม้ทุกชนิด แต่บางคนที่ชมว่า กลิ่นทุเรียน หอมมาก แต่ในบางคน บ่นกลิ่นทุเรียนเหม็นแรงมาก ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ทานได้ทั้งสุกและห่ามแล้วแต่คนชอบ ทั้งนี้ ยังนำไปใช้ทำอาหารได้อย่างหลากหลาย แม้แต่เมล็ดก็รับประทานได้ แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อน

ทุเรียน

คุณค่าทางโภชนาการของทุเรียน

จากการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการและปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในทุเรียน โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย พบว่า ทุเรียนแต่ละสายพันธ์จะมีคุณค่าทางโภชนาการ และปริมาณน้ำตาลที่แตกต่างกันไปตามชนิดหรือสายพันธ์

ประโยชน์ของทุเรียน มีอะไรบ้าง?

  • บำรุงผิวพรรณ เส้นผม ด้วยเนื้อทุเรียนมีสารโพลีฟีนอลส์ และฟลาโวนอยด์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และยังมีวิตามิน ซี วิตามิน อี และคอลลาเจน บำรุงผิวให้สวย นอกจากนี้ ยังมีธาตุอาหารหลายชนิด เช่น ทองแดง สังกะสี ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียม และสังกะสี ที่ช่วยบำรุงรากผม เส้นผมให้เงางาม
  • ช่วยระบบลำไส้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ ระบุว่า ทุเรียน เป็นผลไม้ที่มีใยอาหารค่อนข้างสูง เส้นใยเหล่านี้ มีส่วนช่วยระบบขับถ่าย โดยทุเรียนมีเส้นใยอาหาร ประมาณ 3 – 5% (แล้วแต่สายพันธ์)
  • ช่วยขับพยาธิ เนื้อทุเรียน มีกำมะถันที่ให้ความร้อนแก่ร่างกาย ทำให้มีฤทธิ์ขับพยาธิ ช่วยขับพยาธิไส้เดือน อีกทั้งใบทุเรียนยังมีสรรพคุณขับพยาธิได้อีกด้วย
  • แก้ลดไข้ ใบทุเรียน และราก ยังสามารถนำมาสกัดเป็นยาลดไข้ได้

ทุเรียนทำให้อ้วนได้อย่างไร?

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ให้พลังงาน และแคลอรี่สูง แตกต่างกันตามสายพันธ์ มีสารอาหารหลัก ๆ คือ จำพวกแป้ง น้ำตาลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เมื่อกินในปริมาณมาก และร่างกายเผาผลาญมาเป็นพลังงานน้อย (โดยเฉพาะกินแล้ว ไม่ออกกำลังกาย) ทำให้แป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาล และน้ำตาลเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในหลอดเลือด และสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจนอ้วน หลายท่านที่ชื่นชอบการทานทุเรียน เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาไขมันในเลือดสูง ตามมาด้วย

ทุเรียน

กินทุเรียนอย่างไร ไม่ให้ “ร้อนใน”

ทุเรียน เป็นผลไม้ที่เต็มไปด้วยแป้ง และน้ำตาล ที่ให้พลังงานสูงมาก เป็นอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน ดังนั้น การรับประทานทุเรียนเป็นจำนวนมาก ๆ ท่ามกลางอากาศในบ้านเราที่ร้อนมาก ก็อาจทำให้เกิดอาการ “ร้อนใน” ได้ แต่ก็มีเคล็ดลับมาฝากกัน ทานทุเรียนอย่างไร ไม่ให้ร้อนใน ดังนี้ :-

  • กินทุเรียน พร้อมผลไม้เย็น ๆ ขณะที่กินทุเรียน ควรกินผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น หรือผักมีน้ำมากและพลังงานต่ำ ควบคู่กันไปด้วย เช่นแตงโม บวบ รากบัว มังคุด เป็นต้น
  • กินทุเรียนพร้อมน้ำเปล่าเยอะ ในขณะที่กินทุเรียน หากไม่มีผลไม้ฤทธิ์เย็นจากที่แจ้งข้อแรก ก็ควรดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ เพื่อลดความร้อนในร่างกาย และที่สำคัญควรกินทุเรียนแค่ 2 – 3 เม็ดต่อวันก็พอ
  • งดผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ด้วยเพราะทุเรียน เป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงมากอยู่แล้ว ถ้ากินผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง อาจทำให้เกิด “ร้อนใน” ได้ง่าย เช่น ลำไย ขนุน องุ่นรสหวานจัด

กินทุเรียน กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เสี่ยงเสียชีวิตได้ จริงมั๊ย?

ผู้อ่านหลายคน เป็นนักดื่มตัวยง เมื่อเรากินทุเรียนเข้าไป “ทุเรียน” จะส่งผลให้เอมไซม์ Aldehyde Dehydrogenase ลดลง ด้วย
เพราะเอมไซม์ตัวนี้ มีหน้าที่เปลี่ยนสารแอลดีไฮด์ (Aldehyde) สารพิษที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญแอลกอฮอล์ไปเป็นพลังงานให้กลายเป็นสารอื่น และกำจัดออกจากร่างกายไป เมื่อกำจัดได้น้อยลง จึงทำให้สารแอลดีไฮด์ ไปสะสมในร่างกาย เกิดอาการ หน้าแดง ชา วิเวียนศีรษะ และอาเจียน นอกจากนี้ อาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยอีกด้วย

เบาหวาน กับ ทุเรียน

เรื่องแปลกแต่จริง ก็คือ คนที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่ (เน้นว่าส่วนใหญ่) ชอบทานทุเรียน! ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน หรือ ผู้ที่กำลังเป็นเบาหวานอยู่ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการทานทุเรียนติดต่อกันหลายวันติดต่อกัน โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำตาลพุ่งสูงเยอะเชียวค่ะ และส่วนใหญ่ แพทย์จะแนะนำให้ดูแลระดับน้ำตาลให้ได้เป้าปลอดภัยก่อน ก็จะสามารถทานทุเรียนได้ (แต่ก็จำนวนน้อย อาจระเริงทานเยอะนะคะ) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยเบาหวานมานานเกิน 5-10 ปี จะมีความเสื่อมของไต เกิดขึ้นตามมาด้วย ถ้าหากทานทุเรียนมากเกินไป จะส่งผลไปถึงค่า ไต ได้

ทุเรียน

6 วิธีกินทุเรียนอย่างไร ไม่ให้ “อ้วน”

  1. ลดอาหารมื้อหลัก ประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน ให้น้อยลง เช่น กินทุเรียนไป 3 เม็ดแล้ว ก็ควรงดข้าวลง
  2. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มันจัด หวานจัด ในวันที่เรากินทุเรียน
  3. ไม่แนะนำให้กินทุเรียนกับข้าวเหนียว (ถึงแม้มันจะเข้ากั๊น เข้ากัน) เนื่องจากมีความมัน
  4. กินมังคุดร่วมกับทุเรียนได้ เพราะในมังคุดมีสารต้านการอักเสบช่วยแก้เรื่องร้อนใน และยังมีน้ำในปริมาณมาก การกินทุเรียนกับมังคุดจึงเข้ากันดี มีใยอาหารสูง แต่ต้องระวังเรื่องน้ำตาลที่แฝงมาในผลไม้
  5. ระวังการทานทุเรียนแปรรูป เช่น ทุเรียนกวน ทุเรียนทอด ทุเรียนเผา เนื่องจากมีน้ำตาลสูงกว่าทุเรียนสด
  6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเผาผลาญแคลอรี่ส่วนเกินที่ได้จากการกินทุเรียน

จะเห็นว่ากินทุเรียนไม่ให้อ้วน เบาหวานไม่พุ่ง คือการกินทุเรียนอย่างมีสติ ไม่ทานเยอะเกินไป หรือถ้าอยากทาน ก็ทานพอรู้รส ก็พอ (ในกรณีคนที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือ ไขมันสูงอยู่แล้ว) การทานทุเรียนในปริมาณที่ไม่มาก ก็มีประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะมีสารอาหารที่มีคุณค่าจำเป็นต่อร่างกายหลายอย่าง ทานทุเรียน น้ำหนักตัวขึ้นเร็วมาก ดังนั้น อย่าลืมออกกำลังกาย จะเป็นวิ่งรอบหมู่บ้าน หรือเดินเร็ว ได้ เพียงเท่านี้ เราก็สามารถทานทุเรียนอย่างมีความสุขได้ พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ

(เครดิต : www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ทุเรียน, www.calorieking.com, how many calories in raw durian, สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการในอาหารไทย), หมอชาวบ้าน, ไทยพีบีเอส, www.i-kinn.com)

อ่านข่าวเพิ่มเติม