COLUMNISTS

สิ่งที่เห็นในกล่องของขวัญนายกฯ ‘ลุงตู่’

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
291

มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม ที่รัฐบาลประกาศ มอบเป็นของขวัญให้ประชาชน เริ่มทยอยส่งถึงมือผู้มีสิทธิรับแล้ว ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในกล่อง มีของขวัญตั้งแต่ส่วนลดค่าน้ำไฟ และเงินสด 500 บาท แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14.5 ล้านคน (รอบแรก 11.4 ล้านคน)

บัตรสัวสดิการแห่งรัฐ
ตัวอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

รัฐบาลจัดงบประมาณส่งมอบความสุขปีใหม่ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.87 หมื่นล้านบาท เกือบ 70 % ( 2.7 หมื่นล้านบาท) ของเงินก้อนนี้ ใช้ดูแลเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ 10 เดือน รองลงมามอบเงินสดให้สมาชิกทุกคนคนละ 500 บาท ส่วนนี้ใช้งบ 7.25 พันล้านบาท

ถัดลงมา อุดหนุนค่าใช้จ่ายเดินทางไปรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ (เกิน 65ปี) 3.5 พันล้านบาท และช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน ผู้สูงอายุมีรายได้น้อย อีก 925 ล้านบาท การดูแลผู้สูงอายุคือสิ่งที่รัฐบาลเติมเข้ามา

นอกจากชุดของขวัญข้างต้นแล้ว รัฐบาลยังจัดแพ็คเกจพ่วงมาอีกชุดใหญ่ อาทิ เพิ่มค่าครองชีพราชการที่บำนาญต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน รวม 559 ล้านบาท เติมเงินบำเหน็จดำรงชีพให้ข้าราชการเกษียณอายุ 70 ปีขึ้นไป รายละ 100,000 บาท 2.47 หมื่นล้านบาท (รัฐต้องจ่ายอยู่แล้วแต่จ่ายให้เร็วขึ้น)

ตามด้วยให้เงินชดเชยดอกเบี้ย ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 3.87 พันล้านบาท นำไปจัดทำโครงการบ้านล้านหลัง มาตรการปรับสมดุลราคาน้ำมันปาล์มอีก 525 ล้านบาท และดูแลราคายางพาราอีก 1.86 หมื่นล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินอีก 4.82 หมื่นล้านบาท

รวมงบประมาณ 2 ส่วนนี้ รัฐบาลใช้งบประมาณเพื่อวาระของขวัญแห่งชาติรวม 8.69 หมื่นล้านบาทโดยประมาณ ยังไม่รวมกระทรวง และหน่วยงานอื่นที่ประกาศมอบของขวัญคืนความสุขให้ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลกันถ้วนหน้า

สัปดาห์ที่แล้ว ดร.สมคิต จาตุรศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ไปบี้ให้เอสเอ็มอีแบงก์เร่งจัดของขวัญให้เสร็จโดยเร็ว กระทรวงการคลังประกาศช็อปช่วยชาติซีซั่นสาม

บทพิสูจน์ ’สมคิด’ เข็น ’บิ๊กตู่’ นั่งนายกฯคนนอก
อุตตม สาวนายน

อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่น้อยหน้า เตรียมมอบของขวัญให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ และอีกหลายกระทรวงที่เร่งห่อของขวัญผูกโบว์แจกประชาชนตามนโยบายคืนความสุขของรัฐบาล

ดูจากภาพรวมแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าปีนี้ เป็นปีแห่งปรากฎการณ์ของขวัญทางการเมืองจริงๆ

รัฐบาลประยุทธ์ผลักดันนโยบาย ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐครั้งแรกในปี 2559 เพื่อแทนมาตรการดูแลชาวบ้านของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่จัดหา รถไฟ รถเมล์ให้ผู้มีรายได้น้อยใช้บริการฟรีแบบเปิดกว้าง เนื่องจากมองว่าแนวทางเดิมเป็นการเหวี่ยงแห มีคนไม่จนจริงผสมโรงใช้บริการร่วมด้วย ทำให้งบประมาณถึงกลุ่มเป้าหมายไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ปีแรกที่รัฐบาลนำเสนอบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้สมัครกว่า 8.3 ล้านคน (ถูกคัดออกเหลือ 7.7 ล้านคนในภายหลัง) โดยมีเกณฑ์คัดเลือกหลักๆ อาทิ ถ้าผู้สมัครมีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน (รายได้ทั้งปีต่ำกว่า 30,000 บาท ) ได้เงินอุดหนุน 3,000 บาทต่อปี กรณีผู้สมัครรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไมถึง 150,000 บาท ได้เงินอุดหนุน 1,500 บาทต่อปี รวมแล้วปีแรกรัฐบาลประยุทธ์ใช้เงินเพื่อการนี้ไปราว 1.7 หมื่นล้านบาท

พอขึ้นปีที่สอง (2560) รัฐบาลเปิดให้สมัคร 2 รอบ ปรากฏว่า ยอดผู้สมัครขอใช้สิทธิถือบัตรสวัสดิการฯ พุ่งขึ้นไป ถึง 14.5 ล้านคน (หลังขยายเวลารับสมัคร) พร้อมกันนั้นรัฐบาลได้อัพเกรดบัตรสวัสดิการฯ โดยใช้เป็นช่องทางหลักในการส่งผ่านความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพทุกประเภท ตั้งแต่ น้ำ ไฟ น้ำมัน รักษาพยาบาล ซื้อของจากร้านธงฟ้า ฯลฯ และเติมเงินให้ผู้ถือบัตรเพิ่ม ก่อนคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเคาะมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

รองนายกฯ สมคิด ยืนยันว่า การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวไม่กระทบงบประมาณฯ เพราะใช้เงินจาก กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากกับสังคม ซึ่งเป็นเหตุผลที่แปลกอยู่พอสมควร เพราะงบประมาณหลักหลักของกองทุนฯ ที่รัฐบาลเพิ่งตั้งขึ้นมานั้น ก้อนใหญ่สุดมาจากงบประมาณ แม้ตามกฎหมายบอกมีเงินบริจาคและผลประโยชน์ของจากทรัพย์สินของกองทุนก็ตาม

aphisak
อภิศักดิ์ ตันติยวรวงศ์ (ภาพ: กระทรวงการคลัง)

ส่วน อภิศักดิ์ ตันติยวรวงศ์ รัฐมนตรีคลัง ไปพูดบนเวทีสัมมนาแห่งหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่า แนวคิดของมาตรการนี้ (แจกเงิน) คือ “ทำให้คนไทยหายคนจริงๆ” แต่รัฐมนตรีคลังไม่ได้แจงรายละเอียดเช่นกันว่า ว่า การแจกเงินอุดหนุนให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านการพิสูจน์แล้วจะทำให้คนไทยหายจนจริงๆ ได้อย่างไร

เปิดกล่องของขวัญที่ นายกฯลุงตู่ ทยอยมอบให้ผู้มีรายได้น้อยพร้อมกันทั่วประเทศ 14.5 ล้านคน ด้วยรักและผูกพันจากรัฐบาลแล้ว สิ่งที่เห็นในกล่อง ให้ความรู้สึก 2 ด้าน

หนึ่ง คือ “สงสัย” ว่า ระหว่าง ประชารัฐ กับ ประชานิยม นั้นมีความแตกต่างกันหรือไม่  จำได้ว่านายกฯ ลุงตู่ย้ำเสมอว่า ประชานิยมต่างจากไทยนิยม เพราะไทยนิยมขยายผลจากประชารัฐ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดจากการระเบิดจากข้างในไม่ใช่ประชาธิปไตยกินได้

และ สอง “กังวล”ว่า ทำไมพี่น้องคนไทย 14.5 ล้านคน ราว 21 % จากจำนวนประชากรรวม 66 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ต้องพึ่ง บัตรประชารัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้หลายๆ คนมีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี ทั้งที่ สศช.ประกาศเสมอว่าคนจนลดลงต่อเนื่อง

คำถามคือ ความมั่งคั่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมานั้น หล่นหายไปไหน ถึงไปไม่ถึงพี่น้องกลุ่มนี้ ขณะที่กลุ่มทุนใหญ่บางตระกูล ครอบครองที่ดินกว่า 6 แสนไร่ หรือ ชนชั้นซีอีโออย่างนายแบงก์มีรายได้เกือบ 10 ล้านบาทต่อเดือน

ตัวอย่างช่องว่างรายได้ดังกล่าว คือ มุมสะท้อนหนึ่งที่เผยให้เห็นจุดอ่อนจากการพัฒนาที่สะสมต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาได้ดี

เวลานี้ พรรคการเมืองเริ่มชูนโยบาย ถมช่องวาง สร้างความเท่าเทียม ในการหาเสียง ถ้าจะให้ดีพรรคการเมืองทั้ง เก่า และ ใหม่ ควรประกาศเป้าหมายลดจำนวนคนจน โดยใช้ฐานผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นเกณฑ์ ไม่ใช่แข่งกันขยายขนาดกล่องของขวัญ เพราะขนาดกล่องขวัญยิ่งใหญ่ ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของการพัฒนา