COLUMNISTS

อิ่มบุญ อิ่มใจ ‘กินเจ’ อย่างไรไม่ให้อ้วน เบาหวานไม่ขึ้น

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
628

ย่างเข้าเทศกาลกินเจปีนี้ ผู้อ่านหลายคนพร้อมอิ่มบุญ อิ่มท้อง ด้วยอาหารเจอยู่ใช่มั๊ย? 

แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ของการกินเจ นั่นก็คือ การลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ หลายท่านถือโอกาสนี้เพื่อดีท๊อกซ์ร่างกายบ้าง เพื่อลดความอ้วนบ้าง แม้ว่าอาหารเจนั้น จะดูเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะไม่มีเนื้อสัตว์ (ถึงแม้บางเมนู ปั้นแป้งและทาสีอาหารให้เหมือนเนื้อสัตว์ ผู้เขียนเคย งง เหมือนกันว่า คล้ายหลอกตัวเองว่าเป็นเนื้อสัตว์ แต่แท้จริงคือ แป้ง ดีดีนี่เอง) และด้วยความที่เป็นแป้งเป็นส่วนผสมหลักสักเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้น หากเรากินไม่ถูกสัดส่วน รับรองได้เลยว่าหุ่นที่เราดูแลมาตั้งนานหลายเดือน จะกลมมนได้อย่างรวดเร็ว เพราะในอาหารเจ มีแต่แป้งเท่านั้นยังไม่พอ ส่วนใหญ่เอาไปทอดอีกด้วยสิ วันนี้ ผู้เขียนมีเคล็ดลับมาฝาก ทานเจอย่างไรไม่ให้อ้วน และเบาหวานไม่เด้งขึ้นมาฝากกันค่ะ

กินเจ

กินเจ เพื่ออะไร

ใน “เทศกาลกินเจ” สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้ :-

  • กินเพื่อสุขภาพ

อาหารเจ เป็นอาหารประเภทชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่ง จะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ ปรับระบบไหลเวียนเลือด ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • กินด้วยจิตเมตตา

เนื่องจากอาหารที่เรากินประจำวัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อสัตว์ ผู้มีจิตเมตตา มีคุณธรรมและมีจิตสำนึกอันดีงาม ย่อมไม่อาจกินเนื้อของสัตว์เหล่านี้ได้ ซึ่งมีเลือดเนื้อ จิตใจและที่สำคัญมีความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับเราเหมือนกัน

  • กินเพื่อเว้นกรรม

แม้ว่าไม่ได้เป็นคนลงมือฆ่าเองก็ตาม การซื้อจากผู้อื่น ก็เหมือนกับการจ้างฆ่า เพราะถ้าไม่มีคนกิน ก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย กรรมที่สร้างนี้จะติดตามสนองเราในไม่ช้า ทำให้สุขภาพร่างกายอายุสั้นลง และเมื่อเราทราบกฎแห่งกรรมนี้ จึงหยุดกินฆ่าหันมากินอาหารเจ เพื่อทำใหร่างกายเติบโตได้เหมือนกัน

กินเจ

ใครสามารถกินเจได้บ้าง ?

คำตอบคือ ทานได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่มีข้อแม้จำกัดสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะยังเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารครบถ้วนในการเจริญเติบโต รวมทั้งคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต เพราะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง จะมีภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง เพราะกลุ่มอาหารเจ ส่วนใหญ่เป็นโปรตีนจากถั่วเหลือง จะมีปริมาณฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จึงไม่เหมาะจะทานเจ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

เป็นเบาหวานทานอาหาร “เจ” ได้มั๊ย?

หลายคนคงสงสัยวา อาหารเจ ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้อย่างไร? จริง ๆ แล้ว อาหารเจ แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์ แต่อาหารเจ ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบของแป้ง เป็นหลัก อีกทั้ง เน้นการทอด การผัด เห็นน้ำมันเยิ้มๆ แค่คิดว่าต้องกินถึง 9 วัน ก็เห็นถึงผลเสียที่ที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน ความดันพุ่ง น้ำตาลในเลือดเด้ง

ดังนั้น เราควรต้องระมัดระวังการเลือกทานอาหารเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกทานอาหาร โดยเลือกทานอาหารเจ ที่ไม่ใส่น้ำมันเยอะเกินไป หรือ เลือกทานอาหารที่เป็นผักส่วนใหญ่ เช่น แกงส้มเจ แกงจืดเจ ฯลฯ เลี่ยงทานอาหารประเภทแป้ง อาหารเค็ม และของทอด เพราะนอกจากส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงแล้ว จะทำให้ไขมันในเลือดสูงตามมาด้วย

กินเจ

“กินเจ” ต่างจาก “กินมังสวิรัติ” อย่างไร?

หลายคนเหมารวมว่า “เหมือนกัน” เราต้องมาทำความเข้าใจอาหารมังสวิรัติก่อนว่า แบ่งได้ง่าย ๆ 2 ประเภท คือ มังสวิรัติแบบไม่เคร่งครัด ที่สามารถกินนมและไข่ได้ ส่วนอีกประเภท คือ มังสวิรัติแบบเคร่งครัด ซึ่งจะมีความคล้าย (แต่ไม่เหมือน) กับการกินเจ ตรงที่งดเว้นเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่ มังสวิรัติจะสามารถนำผักทุกชนิดมาปรุงได้ ในขณะที่อาหารเจ มีการปรุงที่เข้มงวดกว่า เช่น งดผักที่มีกลิ่นฉุน รวมถึงยังต้องรักษาศีลให้จิตบริสุทธิ์ด้วย

กินเจอย่างไรไม่ให้อ้วน เบาหวานไม่ขึ้น

  • เมนูที่ทำจากแป้ง ต้องเลือกกินให้เหมาะสม

หยิบมาไว้เป็นข้อแรก เพราะวัตถุดิบหลักที่เรามักจะพบได้ส่วนใหญ่ในอาหารเจ คือ แป้ง นั่นเอง เราต้องเน้นทานแป้งให้น้อย กะปริมาณให้เหมาะสม ควรดูปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้เพียงพอในสัดส่วนที่ร่างกายต้องการ แต่ต้องไม่มากเกินไป ถ้าได้มีการออกกำลังกาย ร่วมด้วย จะดีงามมาก

  • ลดของทอด ของมัน

เผือกทอด เต้าหู้ทอด เมนูสองอย่างนี้ลอยมาเลยกับเทศกาลอาหารเจ เพราะมีทุกเจ้า มีทุกแผงอาหารเจ ไม่ว่าจะมีไชเท้าทอด ปอเปี๊ยะทอด แค่คิดก็อ้วนแล้ว ซึ่งสำหรับผู้อ่านที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ของทอดเหล่านี้ เราควรเลี่ยงค่ะ หรืออาจจะใช้หม้อทอดไร้น้ำมันแทน (เฉพาะโอกาสนี้ ก็ดีนะคะ)

กินเจ

  • เลือกกินอาหารที่ผักเป็นหลัก

สิ่งที่อาหารเจ ผู้อ่านเจอประจำคือ อาหารส่วนใหญ่จะมีผักเป็นส่วนประกอบหลัก แทนที่เราจะทานแป้งเยอะ ก็เปลี่ยนเมนูมาทานผักมาก ๆ จะดีกว่า โดยเฉพาะผักที่มีโปรตีนสูง เช่น พวกถั่วงอก ปวยเล้ง หรือเห็ดต่าง ๆ (ของโปรดผู้เขียน) ก็จะช่วยเพิ่มโปรตีนให้ร่างกายแบบไม่อ้วน นอกจากนี้ อาหารเจ ยังมีเต้าหู้ และถั่วเป็นส่วนประกอบหลักด้วย จึงไม่ต้องกลัวว่าร่างกายจะขาดโปรตีนค่ะ

  • เลือกเมนูที่ปรุงด้วยวิธีต้ม นึ่ง

นอกจากต้องเลือกอาหารที่ไม่ใช่แป้งมากเกินแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญในการช่วยคุมไม่ให้อ้วนคือ การเลือกอาหารที่ปรุงด้วยวิธีต้ม นึ่ง หรือใช้การผัดน้ำแทนค่ะ การปรุงอาหารด้วยวิธีเหล่านี้ จะช่วยลดไขมันจากน้ำมันได้ดีกว่า หรือหากจำเป็นต้องทอดจริงๆ ก็ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันแทนค่ะ

  • เน้นดื่มน้ำ

ดื่มน้ำให้เยอะ จะได้ช่วยการระบาย ถือเป็นเคล็ดลับง่าย ๆ ที่ไม่ทำให้เราอ้วน เพียงแค่ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ เพราะเมื่อเรากินผักมาก ๆ ร่างกายต้องการน้ำมากไปด้วย ถ้าเราดื่น้ำไม่พอ ต้องระวังท้องผูกได้

  • ขยับออกกำลังกาย

สิ่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กับการทานเจ คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่ง เดินเร็ว เต้นแอโรบิก เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญอาหารเจ ที่เราทานเข้าไป ลดความอ้วน อีกทั้งช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กระชับดูอ่อนเยาว์อยู่เสมอ

กินอาหารเจ 9 วัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับสมดุลร่างกายด้วยเคล็ดลับ ทานอาหารเจอย่างไร ไม่ให้อ้วน เบาหวานไม่ขึ้น แถมได้สุขภาพดีเป็นของแถม ถือเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนเริ่มหันมาดูแลสุขภาพกันนะคะ พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ

(เครดิต : สนง.วัฒนธรรมจังหวัดระนอง กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงสาธารณสุข, www.i-kinn.com)

อ่านข่าวเพิ่มเติม