COLUMNISTS

‘ล้ม’ ได้ แต่ต้อง ‘ลุก’ เร็ว

Avatar photo
Consulting Partner สลิงชอท กรุ๊ป
452

ในทางวิทยาศาสตร์ บอกว่า เวลามนุษย์ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด ไม่ว่าจะเกิดจากความล้มเหลวของตัวเอง ของคนอื่น ของระบบงาน หรือเกิดจากธรรมชาติ  สมองของมนุษย์ จะถูกครอบงำจากความตึงเครียดนั้น

และจะเกิด 2 สิ่งนี้ตามมา คือ  สมองจะหยุดรับข้อมูลใหม่ และ สมองจะหันไปดึงเอาประสบการณ์ในอดีตออกมาใช้ รับมือกับการความตึงเครียดที่เกิดขึ้น

ถ้าโชคดี ก็อาจจะผ่านความตึงเครียดนี้ไปได้ เพราะเป็นความตึงเครียดที่สมองคุ้นเคย หรือเป็นวิกฤติที่สมองเคยเจอมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้

shutterstock 1911265861

แต่ถ้าโชคไม่เข้าข้าง บังเอิญวิกฤติครั้งนี้ เป็นความท้าทายที่ไม่เคยเจอมาก่อน เราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ใหม่ทั้งหมด และไม่เคยมีแบบแผน หรือกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่จะช่วยชี้ทางออกให้เลย เราจะทำอย่างไร

ในขณะที่สมองกำลังถูกครอบงำจากความตึงเครียด และประสบการณ์เก่า ๆ ก็เอามาใช้กับความบอบช้ำครั้งนี้ไม่ได้ จะสู้หรือหนี ถ้าหนีก็แพ้ แต่ถ้าจะสู้ ก็ต้องสู้แบบมีโอกาสชนะ

ถ้าจะเอาชนะได้ เราก็ต้องมีทักษะสำคัญบางอย่างติดตัว เพื่อลดโอกาสพ่ายแพ้ลง โดยเฉพาะถ้าเราอยู่ในฐานะผู้นำ ไม่ว่าจะนำครอบครัว นำองค์กร หรือนำประเทศ ผู้นำในวิกฤติต้องมี  “ทักษะฟื้นตัวเร็ว” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Resilience Skills” 

ทักษะนี้ เป็นความสามารถของผู้นำ ที่มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่กดดัน สามารถปรับตัวรับมือกับภาวะวิกฤติ ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมายได้ดี

ไม่ได้แปลว่าขึ้นเวทีแล้วห้ามเพลี่ยงพล้ำ แต่เมื่อโดนหมัดหัวทิ่มลงไปแล้ว ต้องลุกขึ้นมาให้ได้อย่างรวดเร็ว

จากงานวิจัยของ Zenger Folkman พบว่า ผู้นำที่มีความยืดหยุ่นสูง และฟื้นตัวได้เร็ว จะเป็นผู้นำที่เก่งกว่าผู้นำคนอื่นในสายตาของลูกน้อง และผู้ที่ทำงานด้วย รวมถึงผู้นำที่มีทักษะนี้ จะเป็นคนกล้าคิด กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ และกล้าพาลูกน้องข้ามวิกฤติไปกับตัวเองด้วย

shutterstock 1612898533

ทักษะนี้ไม่ได้เป็นดีเอ็นเอที่ติดตัวผู้นำมาตั้งแต่เกิด แต่สร้างขึ้นเองได้ โดยต่อไปนี้ คือ 3 วิธีที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถ ในการเป็นผู้นำที่ล้มแล้วลุกเร็ว

  • วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และแรงจูงใจของตนเอง

ด้วยการคิดใคร่ครวญและสะท้อนตัวตน (Self-Reflection) และถามหาคำแนะนำ (Feedback) จากคนที่ไว้ใจ ซึ่งหากเราเข้าใจตัวตนอย่างแท้จริงแล้ว จะทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตได้ดีขึ้น

  • ทบทวนและวางเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจน (Purpose Driven)

เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละวัน เมื่อตื่นขึ้นมา เราต้องทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ เพื่ออะไร และคุ้มค่าหรือไม่ จะได้เลือกทำในสิ่งที่ควรทำ และหยุดทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ซึ่งการทำภารกิจต่าง ๆ อย่างมีเป้าหมาย จะส่งผลให้เกิดความน่าเชื่อถือ และได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติอย่างจริงจัง

  • สร้างเครือข่าย (Cultivating Network)

ด้วยการสานสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ต้องทำงานด้วย ทั้งวงในใกล้ชิด และวงนอกที่อาจจะต้องร่วมมือกันในอนาคต กลุ่มคนเหล่านี้จะมีส่วนช่วยรับมือกับความบอบช้ำที่เกิดขึ้น เพราะความรู้ ความสามารถ และพรสวรรค์ ที่หลากหลายของเครือข่าย จะเปรียบเสมือนอาวุธที่ทรงพลัง ในการทะลุทะลวงผ่านวิกฤติได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ถ้าเชื่อว่า วันหนึ่งวิกฤติอาจมาหาเรา วันนี้ จงเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า ด้วยการพัฒนา “ทักษะฟื้นตัวเร็ว…ล้มได้แต่ต้องลุกเร็ว”

อ่านข่าวเพิ่มเติม