COLUMNISTS

อย่าหลับหูหลับตากู้เงิน เพียงเพราะอ้างสัดส่วนหนี้สาธารณะ

Avatar photo
474

หนี้สาธารณะ ขยับเข้าใกล้เพดาน “ความยั่งยืนทางการคลัง” ที่กำหนดไว้ระดับ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ก็เริ่มมี “คนโยนหินถามทาง” เพื่อหาช่องทางกู้เพิ่มให้ทะลุเพดาน

คนแรกคือ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คนปัจจุบัน ที่กระทรวงการคลังขยายเวลารับสมัคร เพื่อรอเดินทางกลับจากต่างประเทศ ทำให้แทบไม่ต้องลุ้นว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าธปท.แทนคนก่อนที่หมดวาระ

หนี้สาธารณะ

ผู้ว่าธปท.บอกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบนี้หนักจริง ๆ ประเทศต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจหากต้องการให้เศรษฐกิจกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงโควิด-19 เสนอให้รัฐบาลกู้เงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่จะให้ดีกู้ประมาณ 3 ล้านล้านบาท เพื่ออัดฉีดเข้าไปช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและประชาชนทั่วไป

หากตามสูตรนี้ หนี้สาธารณะก็จะพุ่งทะยานสูงขึ้นไปที่ระดับ 70-80% ของจีดีพี จากระดับปัจจุบันก็อยู่ที่ 58-59% ซึ่งไม่ต้องกลัวตัวเลขหนี้จะสูงขึ้นระดับนั้น เพราหากในอนาคตเศรษฐกิจโตขึ้น และตัวจีดีพีมากขึ้น สัดส่วนหนี้ก็จะลดลงเอง

หนี้สาธารณะ

แต่อย่าลืมว่ายอดหนี้ก็ยังเท่าเดิม ยอดหนี้สาธารณะที่รัฐบาลกู้มาเพื่อฟื้ฟูผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว 1.5 ล้านล้านบาท และหากจะกู้อีกล้านล้านบาท ก็เท่ากับว่าใช้เงินงบประมาณไปล่วงหน้าหนึ่งปี

ความเห็นของผู้ว่าธปท.ไม่มีใครตื่นเต้นอะไร แต่ก็เป็นการ “โยนหินถามทาง” เพื่อให้รัฐบาลหาทางออกในการแก้วิกฤติของประเทศ

แต่ความเห็นของผู้ว่าธปท. ก็ได้รับการสานต่อจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน(กกร.) ที่เห็นด้วยกับแนวทางกู้เงิน ก็เท่ากับว่าขณะนี้ความคิดเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการกู้เงินมหาศาลอีกรอบกำลังก่อตัวขึ้น

ที่น่าประหลาด ทั้งผู้ว่าธปท.และกกร. มีความเห็นคล้าย ๆ นั่นคือ เป็นการเติมเม็ดเงินเข้าระบบ ผ่านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบรรดาเอสเอ็มอี พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประเทศ

แต่หากดูเบื้องหลังการวิเคราะห์ว่าสาเหตุใดจึงต้องกู้มากมายขนาดนั้น ก็จะพบว่าทุกอย่างล้วนแต่เป็น “สมมติฐาน” ที่อ้างว่าอยู่บนฐานข้อมูลและวิชาการ

แต่เราจะเชื่อเช่นนั้นได้หรือไม่ หากจะมีการกู้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อมาใช้ฟื้นฟูอีกรอบ เพราะเพียงแค่การอ้างตามทฤษฎีว่าเมื่อมีเงินอัดฉีดไปแล้วก็จะเกิดการหมุนเวียน 10 รอบในระบบเศรษฐกิจ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ทฤษฎีก็คือทฤษฎี ในทางความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

อย่างเช่น จ่ายไป 100 บาท เมื่อมีคนแอบเก็บ 20 บาท เงินมันจะหมุนเวียน 1,000 บาทได้อย่างไร?

ประเด็นใหญ่สำหรับการใช้งบประมาณของประเทศในทุกยุคทุกสมัยคือ ประสิทธิภาพในการใช้เงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกยุคไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะการใช้จ่ายเงินรัฐบาล มีกฎหมาย มีกฏระเบียบการใช้ ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง

เรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงิน นับว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในอันดับต้น ๆ หากจะกู้เงินจำนวนมหาศาลมาอีกรอบ แต่ก็นปรากฏว่ามีการพูดถึงประเด็นนี้น้อยมาก และที่ใช้ไปแล้วก็มีการประเมินผลกันน้อยมาก ยกเว้นโครงการที่ช่วยเหลือโดยตรงกับประชาชนในโครงการ “เยียวยาต่าง ๆ”

แต่ประเด็นที่มักอ้างเป็น “เหตุผล”ว่าสมควรกู้หรือไม่ คือ สัดส่วนหนี้สาธารณะ ซึ่งขณะนี้เลิกพูดไปได้ว่าสัดส่วนที่จะเกิน 60% ของจีดีพี หรือไม่ เพราะโอกาสจะเกินทะลุเพดานนั้นสูงมาก เพราะมีการประเมินแล้วหากกู้เงินตามที่อนุมัติกันไปแล้ว หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นประมาณ 58% ของจีดีพีในสิ้นปี 2564

ประเด็นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เราจะต้องพิจารณาให้ดี อย่าไปหลง “กลลวง”ทางตัวเลข

  1. สัดส่วนหนี้สาธารณะ คิดจากจีดีพีเมื่อปีที่แล้ว หากเป็นจีดีพี ณ ปัจจุบัน สัดส่วนอาจพุ่งทะลุเพดานไปเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้  เพราะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง เป็นไปไม่ได้ที่จีดีพีจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการอ้างสัดส่วนต่อจีดีพี จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าใช้ข้อมูลแบบไหน
  2. ไม่ได้มีหลักประกันอะไรว่า แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจจะดีขึ้น จนตัวเลขจีดีพีพุ่งทะยาน เพราะเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง หากบอกว่า 70-80% ของจีดีพี ณ ปัจจุบัน แล้วหวังว่าจีดีพีในอนาคตจะเติบโตขึ้น ก็เป็นเพียงการอ้างจากสมมติฐาน (ซึ่งก็ไม่มีอะไรที่ถูก เพราะแบงก์ชาติก็เคยผิดแทบทุกครั้งเมื่อพยายามประมาณการเศรษฐกิจ) หากจีดีพี “ไม่มาตามนัด” ตัวเลขหนี้ต่อจีดีพีย่อมเพิ่มสูงขึ้นอีก

จากประเด็นการกู้เงิน ก็หวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะบางครั้ง “บรรดากูรู” ก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป (ผิดก็มาก) และต้องตระหนักว่าหากกู้มาแล้ว คนที่รับภาระใช้หนี้คือทุกคนในชาติ เหมือนกับหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ใช้มานานกว่า 20 ปี หนี้ลดไปน้อยมาก ทุกวันนี้ก็ยังทยอยใช้และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะหมดเมื่อไหร่

หากกู้มาจำนวนมหาศาล คนที่รับภาระคือคนไทยในปัจจุบันและอนาคตที่จะเกิดมาพร้อมหนี้ ในขณะที่คนอนุมัติ ผู้ว่าแบงก์ชาติ หรือ คนอื่นที่ได้ประโยชน์ ก็ไปไหนแล้ว เหลือแต่หนี้ก้อนโต

“คนไป แต่หนี้ยังอยู่” เป็นภาระให้กับคนไทยทั้งประเทศ

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: