COLUMNISTS

ภาพลวงตา ‘หนี้สาธารณะ’ เมื่อรัฐบาลขวัญผวา ลดวงเงินกู้เหลือ 5 แสนล้าน

Avatar photo
304

การออกพระราชบัญญัติให้กระทรวงการคลัง กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เป็นที่กล่าวถึงกันมาก เพราะเมื่อปีก่อน รัฐบาลเพิ่งกู้เงินไป 1,000,000 ล้านบาท

หนี้สาธารณะ

คนภายนอกแวดวงรัฐบาลพูดถึงความเหมาะสม รวมถึงการใช้จ่ายเงิน แต่รัฐบาลได้กลับมาเน้นอีกเรื่องที่คนกลัวกันมาก นั่นคือ สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี

คนจากกระทรวงการคลัง รวมถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบย้ำในประเด็น “วินัยทางการเงินการคลัง” นั่งยันนอนยันว่าถึงอย่างไรหนี้สาธารณะจะไม่เกินกรอบความมั่นคงทางการคลัง ที่กำหนดไว้ที่ 60% ของจีดีพี โดยย้ำว่า “เรามีวินัยทางการเงินการคลัง” ไม่เช่นนั้นหน่วยงานด้านการจัดความน่าเชื่อถือต่างประเทศคไม่ให้คะแนนเราค่อนข้างดี ก็เนื่องจากเรามีสิ่งที่เรียกว่า “วินัยทางการเงินการคลัง”

แต่การวัดหนี้สาธารณะต่อจีดีพี มีความอ่อนไหว เพราะยอดหนี้เมื่อกู้มาแล้วย่อมเป็นตัวเลขคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยกเว้นจะมีการใช้คืน แต่ตัวเลขจีดีพี มีการเปลี่ยนแปลงได้ตามภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว จีดีพี จะขยับขึ้นทุกปีตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่เช่นนั้นเสมอไป บางปีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ตัวเลขมูลค่าจีดีพีกลับลดลง อย่างเช่นในปี 2563 มูลค่าจีดีพีของไทย 15.69 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่จีดีพี 16.89 ล้านล้านบาท

ดังนั้น ที่กระทรวงการคลังบอกว่าเงินกู้ก้อนนี้ 500,000 ล้านบาท ถึงสิ้นปี หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ก็อยู่ที่ประมาณ 58-59% ก็เป็นการประมาณการเท่านั้นว่า จีดีพีไทยในปีนี้จะขยายตัวขึ้น ก็จะทำให้รัฐบาลโล่งอกไปว่าเมื่อใส่สมการแล้ว สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลง

แต่หากบังเอิญเกิดสถานการณ์ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงจากปีก่อน ตัวเลขหนี้สาธารณะก็มีโอกาสพุ่งทะลุเพดานที่ 60% ไปได้อย่างไม่ยากนัก

 

Screen Shot 2564 05 28 at 15.22.27

หากดูข้อมูลตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตามตารางนี้ จะเห็นว่าหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด แม้รัฐบาลจะพยายามจัดทำงบประมาณแบบสมดุล กล่าวคือ รายรับเท่ากับรายจ่าย โดยไม่กู้เงินมาใช้เหมือนปัจจุบัน

แต่หลังจากที่สังคมไทย “บ้าคลั่งประชานิยม” กันอย่างมาก ทำให้ไม่มีการพูดถึง “งบประมาณสมดุลกันอีกเลย” ทั้ง ๆ ที่มีข้อตกลงกันระหว่างหน่วยงานรัฐกับรัฐบาลในการวางกรอบให้งบประมาณของประเทศเข้าสู่สมดุล

หากดูกราฟข้างต้น จะเห็นว่าหนี้สาธารณของประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พุ่งทะยานเท่าตัว แต่ทำไมหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จึงต่ำอยู่ได้ไม่เกิน 60% ซึ่งมีบางปีที่พุ่งทะยานไปเกือบ 60% ในปี 2543 ก่อนจะปรับลดลงมาต่ำ

คำตอบก็คือ เพราะเศรษฐกิจไทยขยายตัว ไม่ใช่ว่าเพราะหนี้ลดลง 

แต่จีดีพีของประเทศในปีนี้จะอยู่ที่เท่าไร? หากดูจากการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการกพัฒนาเศรษฐกิจและสับคมแห่งชาติ(สศช.) ที่ปรับประมาณการณ์ล่าสุด จีดีพีของประเทศในปีนี้จะมีมูลค่า 16.25 ล้านล้านบาท จีดีพีขยายตัวจากปีก่อน 1.5-2.5%

ส่วนหนี้ของประเทศ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2564 อยู่ที่ 8,472,186.98 ล้านบาท คิดเป็น 54.28% ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะชี้ให้เห็นว่ากู้อีก 500,000 ล้านบาทจะไม่เกิน 60% ของจีดีพีอย่างแน่นอน แต่หากจีดีพีเกิดดิ่งเหวขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น?

เพราะจีดีพี ไม่ใช่มีแต่ขึ้นอย่างเดียว มันอาจลดลงได้หากเศรษฐกิจตกต่ำ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ดูเหมือนไม่กังวลมากนัก เพราะบอกว่าเงินกู้นี้จะดันจีดีพีเพิ่มจากประมาณการของสศช.ไปอีก 1.50% ซึ่งก็ไม่รู้ประเมินจากฐานอะไร?

แต่หากดูหนี้สาธารณะในปัจจุบัน จะเห็นว่าน่าหวาดเสียอย่างยิ่งว่าไทยจะมีหนี้ทะลุ 60% ของจีดีพีในไม่ช้า เพราะหากประเมินเศรษฐกิจที่เจอโควิด-19 ซึ่งยังไม่รู้จะกลับมาเหมือนเดิมเมื่อไหร่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาติ ที่เป็นรายได้สำคัญ แม้โควิด-19 คลี่คลาย เปิดรับนักท่องเที่ยวได้ แต่ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิมจริงหรือไม่

จากความไม่แน่ใจของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี ซึ่งตรงนี้เองเป็นคำตอบว่าทำไมพ.ร.ก.เงินกู้ครั้งนี้จึงลดวงเงินจาก 700,000 ล้านบาท เหลือ 500,000 ล้านบาท

จากความวิตกสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะทะลุเพดาน ทำให้วิธีการในพ.ร.ก.ฉบับนี้จึงประหลาด ๆ ไม่มีรายละเอียดชัดเจน อีกทั้งเปิดช่องให้ปรับใช้วงเงินได้ด้วยโดยคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังไม่ได้กำหนดช่วงเวลาการใช้จ่ายที่ชัดอีกด้วย เพียงแต่กำหนดเป็นกรอบเวลาการกู้เงินถึงปีหน้า ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดในการประคองสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี (เพราะต้องคิดกันปี/ปี) หากจะมีการกู้ทีเดียวก้อนใหญ่

เมื่อฟังแถลงหลังจากครม.อนุมัติ ก็ดูทีมเศรษฐกิจยังไม่มั่นใจอะไรเลย พูดแต่ภาพความจำเป็น ใครได้ฟังก็ยิ่งสงสัย (โดยเฉพาะในช่วงที่คนขาดความเชื่อมั่นรัฐบาล) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกเพียงว่าที่ลดวงเงินเพราะเห็นว่ามีความจำเป็นเท่านี้ แต่เหตุผลหลักคือกลัวสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี จะเอาไม่อยู่ที่เพดาน 60%

ขอเอาใจช่วย ประคอง “ตัวเลข” เอาไว้ดี ๆ เพราะอย่างน้อยก็มีเวลาอีกนานกว่าตัวเลขจีดีพีจะประกาศออกมา!

อ่านข่าวเพิ่มเติม: