COLUMNISTS

เมื่อคลื่นทุนซัดฝั่งเจ้าพระยา

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
643

งานเปิดตัว “ไอคอน สยาม” โครงการมูลค่า 5.4 หมื่นล้านบาท ริมฝั่งเจ้าพระยา ถนนเจริญนครเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกกล่าวถึง และบอกต่อถึงความอลังการของโครงการผ่านสื่อเก่า สื่อโซเชียล และปากต่อปาก ชนิดทำลายสถิติงานเปิดตัวครั้งก่อนๆ ลงอย่างสิ้นเชิง

ไอคอนสยาม ICONSIAM

โครงการที่มีอาคารสูงสไตล์โมเดิร์นเป็นสัญลักษณ์ ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ชุมชนริมเจ้าพระยา สองฝั่ง เจริญกรุง-เจริญนคร ที่มีเรื่องเล่าย้อนหลังกลับไปได้นับร้อยปีลงอย่างสิ้นเชิง

ถนนเจริญกรุงที่ตั้งต้นจากแยกถนนตกไปจรดถนนสนามไชย ระยะทางราว 8.5 กิโลเมตร(กม.) สร้างขึ้นในสมัยรัชการที่ 4 เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในบางกอกช่วงเวลานั้น จนเกิดชุมชนต่างชาติหลายจุดในพื้นที่นั้น และได้เปลี่ยนสภาพชุมชนริมน้ำ ย่านเจริญกรุง ให้กลายเป็นชุมชนนานาชาติไปโดยปริยาย

ตึกฝรั่ง โบสถ์คริสต์ ศาลเจ้า มัสยิด วัด ที่หลายแห่งอายุผ่านหลักร้อย(ปี)ไปแล้ว คือมรดกต่างวัฒนธรรม ที่ชุมชนรุ่นก่อนส่งผ่านมาถึงปัจจุบัน และทำให้ ย่านเจริญกรุงมีลักษณะเฉพาะต่างไปจากย่านอื่นๆ

ส่วนถนนเจริญนคร ฝั่งธนบุรี ที่อยู่ตรงกันข้ามนั้น ( แยกลาดหญ้า-สะพานข้ามคลองดาวคะนอง)ระยะ 4.9 กม. เปิดหลังถนนเจริญกรุง 50 ปีโดยประมาณ ย่านนั้นเดิมเป็นเพียงชุมชนริมน้ำ เมื่อถนนปรากฏตัว ท่าเรือ โกดัง สินค้า ก็แทรกตัวตามมาเข้ามา

หลังยุคการค้าทางเรือ ที่ล่องเรือตามลำน้ำเจ้าพระยามาขนถ่ายสินค้าเข้าโกดังแถวๆ เจริญกรุง-เจริญนคร เสื่อมความนิยมลง จังหวะธุรกิจย่านเจริญกรุง-เจริญนคร และพื้นที่ข้างเคียงก็แผ่วตาม มีเพียงโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ที่ตระกูลกรรณสูตร กับกลุ่มฮ่องกงแลนด์ ถือหุ้นใหญ่ ที่ผูกขาดความโดดเด่นข้ามเวลามาได้อย่างยาวนาน ในช่วงทศวรรษ 2520 มีการลงทุน 2 โครงการใหญ่ คือโรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน ในปี 2525 ตามด้วย โรงแรม แชงกรีลา ในปี 2529

ต่อด้วยยุคบุกเบิกคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากการพัฒนาโครงการรัตนโกสินทร์แมนชัน ฝั่งธนบุรี ใกล้สะพานพระปิ่นเกล้าในปี 2537 และ บางกอกริเวอร์พาร์ค แถวทรงวาด ในปี 2537 ทั้ง 2 แห่งถือเป็นคอนโดมีเนียมริมแม่น้ำรุ่นบุกเบิก

Condo2

จังหวะการลงทุนริมเจ้าพระยาโซน เจริญกรุง-เจริญนคร และพื้นที่ข้างเคียงมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ในช่วงทศวรรษ 2550 ที่ผ่านมานี้เอง เมื่อมีโครงการลงทุนระดับหมื่นล้านปรากฏตัวขึ้นประชันกัน

เริ่มจาก ปี 2550 บมจ. ไรมอนด์แลนด์ เปิดตัวคอนโดมิเนียมริมเจ้าพระยา ฝั่งเจริญนคร(เจริญนคร 13) มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาทบทพื้นที่กว่า 12 ไร่ ซึ่งเป็นคลังสินค้าเดิม ตามด้วยกลุ่มโสภณพนิช (สายเจ้าชาตรีผู้ล่วงลับ) ลงทุนโรงแรมและคอนโดมิเนียมหรูแบรนด์ “ชาเตรียม” (แยกถนนจันทร์ตัด ถนนเจริญกรุง) มูลค่า 4,000 ล้านบาท

ก่อนที่กลุ่มสิริวัฒนภักดี ในนาม บริษัท ทีทีซี แอสเสท พัฒนาโครงการมอลล์ย้อนยุคริมเจ้าพระยา “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์”  เฟสแรก มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทในปี 2555 บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ เดิมเป็นโกดังสินค้าของ บริษัทอีสต์เอเชียติกส์ ที่ เจ้าสัวเจริญ ซิ้อมาพร้อมกับ อาคารสำนักงานใหญ่สถาปัตยกรรมยุโรปมูลค่า 6 พันล้านบาท

กระแสตื่นลงทุนริมฝั่งเจ้าพระยา ช่วงเจริญกรุง-เจริญนคร พุ่งขึ้นสุดขีดในปี 2558 เมื่อกลุ่มเจียรวนนท์ (สายเจ้าสัวธนินท์) จับมือกับบริษัทสยามพิวรรธน์ เปิดตัว ไอคอนสยาม โครงการผสมผสานที่พัฒนาศูนย์การค้า และคอนโดมิเนียมหรูบนพื้นที่ 50 ไร่ ฝั่งเจริญนคร ที่เปิดตัวไปอย่างอลังการสุดๆ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปีเดียวกับที่ไอคอนสยามแจ้งเกิดโครงการนั้น บมจ.คันทรี โดยกลุ่มเตชะอุบล ได้ประกาศเปิดตัวโครงการ เจ้าพระยาเอสเตท พัฒนาโรงแรมและคอนโดมิเนียมหรู ดึงเครือโฟร์ซีซันส์ร่วมบริหารบนพื้นที่ 40 ไร่ เช่าที่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มูลค่าโครงการที่ประกาศคือ 3.2 หมื่นล้านบาท

หลัง 2 โครงการยักษ์เปิดตัว มีโครงการคอนโดหรู โรงแรมหรู เปิดตัวตามอีกหลายโครงการ รวมทั้งโครงการพัฒนาอาคารโรงภาษีร้อยชักสาม (เจริญกรุง36 ) อาคาร สถาปัตยกรรมยุโรปที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่ กรมธนารักษ์มอบสัมปทานให้ บมจ. ยูซิตี้ ของคีรี กาญจนพาศน์ ที่มีแผนพัฒนาเป็นโรงแรมหกดาว

การกลับมาอีกครั้งของ จังหวะธุรกิจชุมชนเจริญกรุง-เจริญนคร หลังขยับตัวอย่างเอื่อยๆ เหมือนสายน้ำเจ้าพระยามาหลายสิบปี มีเหตุจากหลายปัจจัย

นับตั้งแต่เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง อาการคลั่งคอนโดมิเนียมหรูของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำให้นักพัฒนามองหาทำเลที่มีศักยภาพ และทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยา โซน เจริญกรุง-เจริญนคร ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดี เพราะมีจุดเด่นทั้งทำเล และความเป็นชุมชนเก่าแก่หลากวัฒนธรรม ซึ่งเป็นคุณค่าที่นักลงทุนพยายามเชื่อมเข้ามูลค่าโครงการของตัวเอง รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยว

thumbnail 4 วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ความเฟื่องฟูของพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา ย่านเจริญกรุง-เจริญนคร ที่กำลังหวนกลับมา คงส่งผลต่อพื้นริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณอื่นๆ ให้คึกคักตามมาแน่นอน

แต่การคาดการณ์ผลทางธุรกิจจากคลื่นทุนที่ซัดกระหน่ำเข้าฝั่งเจ้าพระยาอยู่เวลานี้ มาพร้อมกับคำถามๆ ที่ว่า วิถีใหม่ ที่กำลังเข้ามา จะสามารถกลมกลืนกับวิถีดั้งเดิมได้หรือไม่