COLUMNISTS

3 เทคนิค Upskill คนทำงานแบบฉบับผู้นำยุคดิจิทัลระดับโลก

Avatar photo
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารธุรกิจ บริษัท สลิงชอท คอนซัลทิง จำกัด
6806

“ผมรู้สึกว่า พนักงานเราเกินครึ่ง ไม่พร้อมสำหรับอนาคต”

“เรารู้แล้วว่าต้อง Upskill ให้พนักงานคนไหนบ้าง แต่ไม่รู้ต้องทำยังไง”

“จ้างคนใหม่ ที่มาพร้อมกับ Future Skill เข้ามาเลยดีมั้ย”

“คนเดิมๆ ที่มีอยู่ พัฒนาได้จริงหรือ”

หลังจากผ่านช่วงตื่นตูมกับคำว่าดิจิทัลกันไปแล้ว เราก็เข้าสู่ยุคถัดไป คือ “ยุคกำลังพัฒนา” ตอนนี้คำถามที่คนทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาคนอย่างดิฉัน และทีมงาน บริษัทสลิงชอท กรุ๊ป เจอแทบทุกวัน คือ  “มีวิธีอะไรใหม่ ๆ ที่บริษัทจะช่วย Upskill ให้พนักงานปัจจุบันของเราได้บ้าง”

เมื่อองค์กรพบว่า พนักงานปัจจุบันเกินครึ่งขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต แต่เราก็จนปัญญาในการจัดการ ก็คงถึงคราวที่ต้องหาไอเดียจากข้างนอกบ้างแล้ว

ในเมื่อเรากำลังพัฒนาผู้นำไทยไปสู่มาตรฐานโลก ดิฉันเลยนำตัวอย่างโปรแกรมการพัฒนาคนจากบริษัทไอทีระดับโลก 3 แห่งมาเล่าให้ฟังกัน โดยเฉพาะคนที่  “ไม่ใช่สายดิจิทัล” ให้สามารถเดินหน้าไปกับองค์กรต่อไปได้

ที่สำคัญโปรแกรมที่ยกมาวันนี้กวาดรางวัลระดับโลกมาจากหลากหลายสำนักแล้วอีกด้วยในปีที่ผ่านมา อาทิ รางวัลจาก Association for Talent Development ประเทศสหรัฐอเมริกา มาดูกันค่ะ

17574547 303

 SAP 8 วัน อัพเกรดพนักงานขายให้ทันดิจิทัล

เชื่อไหมว่า แม้แต่บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์สัญชาติเยอรมนีที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก อย่าง SAP ยังต้องเจอกับความท้าทายในการ Upskill คน ให้สามารถเข้าใจเทคโนโลยีขั้นสูงและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สมกับความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของบริษัทได้

เมื่อ SAP ประกาศปรับกลยุทธ์มาแข่งขันในตลาดซอฟต์แวร์ที่เป็น Cloud-Based มากขึ้น The Academy for Sales Leaders ตั้งขึ้นในปี 2014 เพื่อเป็นที่อัพเกรดทักษะให้พนักงานขายของ SAP ผ่านเวิร์คชอป 8 วันเต็มในแคลิฟอร์เนีย

หลายคนอ่านถึงตรงนี้แล้วบอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอก งานเยอะ แต่ SAP ทำได้ค่ะ แถมยังรู้ว่าแค่ 8 วันคงไม่สามารถทำให้คนเราพัฒนาได้อย่างเต็มที่ SAP เลยตั้งโปรแกรมไว้ให้นับถอยหลังก่อนหน้านั้นถึง 30 วัน ด้วยการให้ทุกคนเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านวิดีโอ การอ่านบทความ และ e-learning ก่อนมาก่อนเข้าเวิร์คชอปนั่นเอง

วันที่ 1-3 ปรับพื้นฐานผ่านเวิร์คชอปในแคลิฟอร์เนีย พนักงานขายของ SAP เรียนรู้พื้นฐานการเป็นผู้นำทั้งในเชิงกลยุทธ์และเชิงปฏิบัติการก่อน

วันที่ 4-5 เข้าสู่โลกดิจิทัล เรียนเรื่องนวัตกรรมที่บ้านเกิดของมัน นั่นคือ Silicon Valley เพื่อให้พนักงานเห็นภาพ เข้าถึง และได้ทำความรู้จักกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอความช่วยเหลือกันในอนาคต โดยมีศูนย์การเรียนรู้ของตัวเองชื่อว่า SAP’s Silicon Valley Innovation Lab

วันที่ 6-8 นำไปใช้ แต่ละคนต้องขายไอเดีย (Pitching) การยกระดับงานของตัวเองจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ ผ่านการฝึกเขียนเรื่อง การเล่าเรื่อง และการพูดคุยแบบผู้บริหาร (Executive Conversations)

แต่ยังไม่จบเท่านั้น หลังจาก 8 วันอันหนักหน่วง พนักงานขายยังต้องผ่านการเรียนรู้ผ่าน Conference Call และการแลกเปลี่ยนข้อคิดจากความสำเร็จและความล้มเหลวในการนำไปใช้จริงอีกด้วย เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดจากรุ่นสู่รุ่น

SAP ในปี 2016 มียอดขายผ่านพนักงานขายเพิ่มขึ้นถึง 38% และถ้านับเฉพาะคนที่ผ่านโปรแกรมนี้ สามารถทำยอดขายได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ผ่านโปรแกรมถึง 23% เลยทีเดียว พอมาถึงตรงนี้ หลายคนบอกว่าคุ้มแล้วกับการลงทุนทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาคนครั้งนี้

Tencent

Tencent สร้าง Digital Geek ให้เป็นผู้นำผ่าน WeChat

เมื่อมองมุมกลับ คลาสสิกเคสอีกเรื่องของคนยุคนี้คือ คนที่มีทักษะดิจิทัล ส่วนมากจะเป็นคนที่ไม่มีทักษะการบริหาร

Tencent เคยเจอปัญหานั้นหนักๆ ในปี 2011 วิธีที่เขาใช้จัดการกับปัญหานี้คือ สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้ ซึ่งแบ่งเป็นการเรียนทั่วไปในห้องเรียน หรือการถกกรณีศึกษากัน กับอีกวิธีคือใช้ของใกล้ตัวที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์

แน่นอนว่า Tencent เลือกใช้ WeChat ที่เป็นสินค้าหลักของบริษัท เป็นเครื่องมือในการประเมินคน สร้างพื้นที่ให้ผู้จัดการเล่าประสบการณ์ตัวเองในการบริหารองค์กร และสร้างบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนไอเดีย และความรู้ของพนักงานผ่านการพูดคุยในห้องแชทของ WeChat นั่นเอง

เมื่อมาดูที่ผลลัพธ์ความพึงพอใจต่อผลการปฏิบัติงานของพนักงานเพิ่มขึ้นจาก 78% เป็น 96% และปัญหาด้านผลการปฏิบัติงานของพนักงานเข้าใหม่ ลดลงจนเหลือศูนย์ในปี 2017

ดิฉันเชื่อว่า พนักงานทุกคนมีโปรแกรมแชทในมือถือไม่ว่าค่ายใดค่ายหนึ่งแน่นอน แต่วันนี้เราใช้ประโยชน์จากมันเพื่อการเรียนรู้อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง หลายองค์กรมองหาเทคโนโลยีแพง ๆ แต่สุดท้ายก็ต้องถอยด้วยราคาที่แสนแพง แต่หากมองโมเดลนี้ดูไม่แน่เราอาจไม่จำเป็นต้องซื้อโปรแกรมแพง ๆ เลยก็ได้ค่ะ

cognizant training office
ศูนย์ฝึกอบรม Cognizant

Cognizant ทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สร้างได้จริง

มาถึงบริษัทสุดท้ายในวันนี้ Cognizant Technology Solutions อาจจะไม่คุ้นหูในบ้านเรานัก แต่ Cognizant เป็นบริษัทใน Fortune 500 และ NASDAQ-100 ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี

โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้คนของเขามีทักษะดิจิทัล เพื่อให้ไม่ตกยุค

Cognizant เริ่มต้นด้วยการค้นพบว่า “ทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง” และ “ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ” เป็นทักษะในอนาคตที่บริษัทต้องการ หลังจากนั้นบริษัทได้ออก 4 โปรแกรมพัฒนาคน ได้แก่

  • Digital Curriculum หลักสูตรหมายเลข 101-301 ที่ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดิจิทัล
  • D’Gym ฝึกฝนการใช้ความรู้ที่เรียนมา นำมาใช้จริงผ่านการทดลองและโปรเจคต่าง ๆ
  • D’Stadium สนามประลองทักษะ (Skillathons) และไอเดีย (Hackathons) ผ่าน Gamification
  • D’Bytes พื้นที่เปิดในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

โปรแกรมดังกล่าวมียอด site visit กว่า 3 ล้านคน ยอดลงทะเบียนกว่า 118,000 ครั้ง และมีผู้ผ่านการอบรมกว่า 79,000 คน Cognizant บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้โปรแกรมนี้สำเร็จอยู่ที่ วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ (Learning Culture) และ การใช้เกม (Game-Based Learning) เพื่อจูงใจให้คนเข้าร่วมโปรแกรม โมเดลนี้สามารถใช้ได้ทั้งกับคนที่ไม่มีพื้นฐานเลยไปจนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญที่ต้องการฝึกฝีมืออีกด้วยค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 3 โมเดลที่นำมาเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่างวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้ลอกเขาทันที แต่เรียนรู้จากเขา เผื่อเป็นไอเดียในการปรับใช้ให้เหมาะกับคนไทยและบริษัทของเรานะคะ

ที่ต้องบอกอย่างนี้เพราะหลายองค์กร พอมีคนเล่าตัวอย่างบริษัทอื่นให้ฟังก็เอาเลย ทำเลย ให้พนักงานไปทำทันทีกลางที่ประชุม โดยยังไม่ได้ดูว่าเหมาะกับคนของตัวเองหรือไม่

แต่ละบริษัทมีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน คนต่างกัน เป้าหมายต่างกัน อย่างนี้โอกาสประสบความสำเร็จก็จะน้อยลง แถมพนักงานยังรู้สึกแย่กับบริษัทอีกด้วย ครั้นจะทำใหม่ก็ใจฝ่ออีก

จริงอยู่ที่ว่า ดิจิทัลให้ความสำคัญกับความเร็ว (Speed) แต่ประสบการณ์ที่ได้รับ (People Experience) และกระบวนการการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Build-Measure-Learn) ก็สำคัญไม่แพ้กันนะคะ