COLUMNISTS

มาตรการดี..สัญญาณร้าย

Avatar photo
4418

หากใครเชื่อแบงก์ชาติ ที่มักจะสร้างโมเดลและใช้ตัวเลข เพื่อประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ คงต้องเตรียมตัวเตรียมใจ จากมาตรการล่าสุดที่ออกมาช่วยเหลือภาคธุรกิจระดับเอสเอ็มอี

แบงก์ชาติ

เพราะคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบตามที่แบงก์ชาติ และกระทรวงการคลัง เสนอความจำเป็นเร่งด่วนในการออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม ที่เรียกว่า”มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ)” วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท

เป็นมาตรการช่วยเหลือเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอี เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด โดยมีระยะเวลาเบิกเงินกู้ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และขยายต่ออายุได้อีก 1 ปีหากมีเหตุจำเป็น

เหตุที่ต้องออกเป็นกฎหมาย เพราะว่าการให้ความช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้นของภาครัฐแก่ลูกหนี้ในปัจจุบัน ผ่าน “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan)” ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 จึงยังไม่เพียงพอรองรับสถานการณ์ที่ยาวนานกว่าที่คาดไว้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: มาตรการทางการเงินช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19

และเหตุที่ต้องออกมาตรการเพิ่มเติม เพราะว่าประเมินดูแล้วภาคธุรกิจไทยจะ “ย่ำแย่”ไปอีกนาน

แบงก์ชาติระบุว่า “เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการระบาดของ COVID-19 นับตั้งแต่ปี 2563 แม้ปัจจุบันจะทยอยฟื้นตัวได้ แต่ต้องใช้เวลา โดยคาดว่าเศรษฐกิจกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้ในไตรมาส 3 ปี 2565”

“นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ยังไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว อาทิ กลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีการจ้างงานสูงกว่า 10 ล้านคน และต้องใช้เวลา 4-5 ปี กว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเข้าใกล้ระดับก่อนการระบาด”

“สถานการณ์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและยังมีความไม่แน่นอนสูงดังกล่าว ทำให้ภาคธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น รวมถึงบางส่วนที่มีหนี้เดิมค้างชำระอยู่ อาจมีข้อจำกัดในการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ยังไม่สามารถประเมินรายได้และกระแสเงินสดได้”

แบงก์ชาติคาดการณ์เศรษฐกิจไทยเพื่อผลักดันมาตรการนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการคาดการณ์ใหม่ เพราะมี “ข้อมูลใหม่” ทำให้ต้องประเมินกันใหม่ และ ออกมาตรการใหม่

หากมาตรการที่ออกมาสามารถช่วยเหลือได้ตามเป้าหมาย ก็นับว่าเป็น “มาตรการดี” แต่เป็นการส่ง “สัญญาณร้าย”ให้คนไทยได้รับทราบ

แต่การประเมินของแบงก์ชาติก็บอกแล้วว่าเป็น “คาดการณ์” ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นจริงตามนั้น เพราะจากการ “คาดการณ์”ของแบงก์ชาติในอดีต ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าแม่นยำแค่ไหน

แต่เหตุผลที่อธิบายครั้งนี้ก็ดู”พิลึก” เพราะคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นสู่ระดับก่อน COVID-19 ในไตรมาส 3 ปี 2565 แต่ใครที่พอรู้เรื่องเศรษฐกิจก็รู้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในระดับก่อน COVID-19 ได้ ก็ต่อเมื่อภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวฟื้นตัว แต่แบงก์ชาติประเมินว่าจะใช้เวลาอีก 4-5 ปี

แล้วจะฟื้นเท่าระดับก่อน COVID-19 ได้อย่างไร?

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาก็นับว่าเป็น “มาตรการที่ดี” แต่ถือเป็นการส่ง “สัญญาณร้าย” ก็เรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่ายังอีกนาน และยิ่งร้ายไปกว่านั้น ก็ตรงการคาดการณ์ที่ดูขัด ๆ กันในตัวเองนี่แหละ ทำให้ฟังแล้ว “งง” ว่าจะฟื้นช่วงไหนกันแน่

แบงก์ชาติต้องอย่าให้การ “คาดการณ์” กับ “คาดเดา” คือ สิ่งเดียวกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม: