COLUMNISTS

7 เรื่องที่ต้อง ‘รู้งี้’ ก่อนน้ำตาลในเลือดสูงปรี๊ดด!!

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
17474

“พี่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ค่ะ” เพิ่งเริ่มรู้ตัวว่าเป็นมาได้ 4 เดือนเอง โดยมีอาการที่เห็นได้ชัดคือ ร่างกายแทบไม่มีแรงค่ะ น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย แบบผิดสังเกต เลยไปหาหมอ ปรากฏน้ำตาลขึ้นสูง 300

ผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า เจ้าตัวเบาหวานนี่มันมีกี่ชนิด และคนปกติ ระดับน้ำตาลในเลือด ควรจะเป็นเท่าไหร่ และทราบหรือไม่ว่า ถ้าเบาหวานขึ้นสูงมาก จะมีอาการ “เบาหวานขึ้นตา” อาการเหล่านี้ถือว่า เป็นอันตรายที่เกิดจากโรคเบาหวาน แต่ก่อนที่เราจะลงลึกไปในรายละเอียด ผู้เขียนจะพามาดูสถิติคนเป็นเบาหวานในประเทศไทยกันก่อน โรคยอดฮิตติดอันดับในประเทศไทย อย่าง “โรคเบาหวาน”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานนท์ – นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า สถานการณ์ประเทศไทย ตอนนี้ มีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ราว 5 ล้านคน หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ได้ว่า 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คนต่อปี และพบผู้ป่วยเบาหวาน 3.5 ล้านคน โดยมีมูลค่าการรักษามากถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี และในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย โดยในจำนวนนี้ มีเพียง 1 ใน 3คน ที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในประเทศไทย สูงมากถึง 200 รายต่อวัน!

bangkok เรื่องที่ต้อง รู้งี้ ก่อนน้ำตาลในเลื

แล้วโรคเบาหวาน มีกี่ชนิด?

โรคเบาหวาน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามนี้เลยค่ะ

  • เบาหวานประเภทที่ 1

พบได้น้อย ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานในคนไทย โดยประเภทนี้ เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องฉีดอินซูลินสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะขาดอินซูลิน นั่นเอง มักพบมากใน เด็ก , วัยรุ่น

  • เบาหวานประเภทที่ 2

ประเภทนี้สิ พบบ่อยมาก ! ประมาณร้อยละ 95 เลยในคนไทย และพบมากในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยสาเหตุเกิดจากตับอ่อน ไม่สามารถสร้างอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน เบาหวานประเภทที่ 2 นี้ หากขาดการรักษาที่ถูกวิธี ก็สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังได้ ซึ่งอันตรายเฉียบพลันได้เช่นกัน

  • เบาหวานประเภทที่ 3

ถือเป็นเบาหวานที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ (แน่นอน พบบ่อยในเพศหญิง)

  • เบาหวานประเภทที่ 4

เป็นเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่นความผิดปกติของพันธุกรรม หรือ โรคจากตับอ่อน เป็นต้น

ฮอร์โมนอินซูลิน มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร

ด้วยเพราะโรคเบาหวาน เป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับการเผาผลาญอาหารซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน จึงส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ส่วนเจ้าตัวอินซูลิน ถือเป็นฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งของร่างกาย เพราะโดยปกติแล้ว พวกเราต้องทานอาหารทุกวัน ภายหลังทานอาหารแล้ว ระบบร่างกายภายในจะเปลี่ยนแป้ง โปรตีน ให้เป็นน้ำตาล และหากไม่มีอินซูลิน ก็จะส่งผลให้ร่างกาย ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ และยังทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน

ใครบ้างเสี่ยงเบาหวาน ?

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นผู้มีน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกาย ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือตั้งแต่ 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในเอเชีย
    ผู้ที่มีความดันเลือดสูง
  • อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป (แต่ปัจจุบัน วัยรุ่น ผู้อายุน้อย ก็มีสิทธิเป็นเบาหวานได้เช่นกัน)
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • ดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ไวน์
  • ชื่นชอบการสูบบุหรี่
  • ผู้ที่มีไขมันชนิด HDL น้อยกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ ไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง (High Cholesterol)

แล้วระดับน้ำตาลในเลือด ควรเป็นเท่าไหร่ ?

ในกรณีคนปกติ (ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน) แพทย์จะวินิจฉัยตรวจจากระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเป็นหลัก โดยพิจารณาร่วมกับข้อมูลด้านอื่นประกอบด้วย เช่น ประวัติทางการแพทย์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการรับประทานในชีวิตประจำวัน โดยปกติการตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting Blood Glucose) เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารและน้ำเป็นเวลาอย่างต่ำ 8 ชั่วโมง มักตรวจในตอนเช้า โดยค่าระดับน้ำตาลในเลือดปกติควรต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากอยู่ระหว่าง 100 – 125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจจะอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และเมื่อสูงกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน

ในกรณีคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จะมีเกณฑ์แสดงภาวะนี้แตกต่างกัน ดังนี้

  • ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 59 ปี ค่าระดับน้ำตาลในเลือดควรอยู่ระหว่าง 80 – 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัวหรือความผิดปกติของร่างกาย เช่นโรคหัวใจ โรคไต หรือ โรคตับ ค่าระดับน้ำตาลในเลือด ควรอยู่ระหว่าง 100 – 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

photo 1562245376 3f9dae9f0e73

7 เรื่องที่ต้อง “รู้งี้” ก่อนน้ำตาลในเลือดสูงปรี๊ดด!!

  • ความเครียด

หยิบมาเป็นข้อแรกเลย เพราะหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ความเครียด นั่นเอง ! เพราะเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาก และเจ้าฮอร์โมนตัวนี้ จะกระตุ้นให้ร่างกายให้ปล่อยพลังงานออกมากในรูปแบบของน้ำตาล สังเกตยิ่งเครียด ยิ่งน้ำตาลในเลือดสูงปรี๊ดเลยค่ะ

  • นอนไม่หลับ

ถือเป็นปัญหาคลาสสิคที่เจอกันทุกบ้าน เพราะแน่นอนด้วยวัยที่มากขึ้น ด้วยภาระความรับผิดชอบที่สูงขึ้น และด้วยความเครียด จะทำให้นอนหลับได้อย่างไร ถูกมั๊ย ? มีงานวิจัยพบว่า หากนอนไม่หลับน้อยกว่าวันละ 4 ชั่วโมง จะส่งผลให้ความไวต่ออินซูลินลดลง 14 – 21% จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และที่แย่ไปกว่านั้นคือ ถ้าเราพักผ่อนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล มากขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเมื่อสุขภาพทรุดโทรม สุขภาพจิต ก็จะไม่ดีตามไปด้วย

  • ชื่นชอบอาหารทอด อาหารมัน ๆ

อาหารประเภททอด หรือ อาหารที่มัน ๆ ส่งผลเสียให้กับร่างกาย เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายต้องเสี่ยงกับภาวะไขมันในเลือดสูงแล้ว ไขมันยังส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ได้ช้าอีกด้วย เพราะไขมันไตรกลีเซอไรด์ จะเข้าไปชะลอกระบวนการดูดซึมกลูโคสเข้าในเซลล์ อาหารจำพวก หมูทอด ไก่ทอด ปลาทอดมัน เฟรนฟราย พิซซ่า ที่มีคาร์โบไฮเดรทสูง ทำให้เกิดปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูงแน่นอน

  • ดื่มแอลกอออล์ เหล้า เบียร์ ไวน์

นักดื่ม ทั้งหลายทราบดีว่า การดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากทำลายตับแล้ว ยังเป็นสาเหตุของระดับน้ำตาลในเลือดสูงด้วย เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (ย้ำว่า ทุกชนิดนะคะ) ที่เต็มไปด้วยน้ำตาล ยิ่งถ้าดื่มมาก น้ำตาลในเลือดก็ยิ่งสูง ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเบาหวานโดยตรง และเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์แดง 1 แก้ว มีน้ำตาล 1.2 กรัม ส่วนเบียร์ก็มีปริมาณน้ำตาลสูง ภายหลังดื่มแล้ว ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นมากทีเดียว

  • เครื่องดื่มเกลือแร่

เครื่องดื่มเกลือแร่ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเวลารู้สึกเหนื่อย หรือช่วงภาวะอากาศร้อน สังเกตดูได้เลย ภายหลังเราดื่ม จะรู้สึกสดชื่นขึ้นมาทันที เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้ มีน้ำตาลสูงมาก โดยเครื่องดื่มเกลือแร่ 1 ขวดปริมาณ 250 มิลลิลิตร จะมีน้ำตาลอยู่ถึง 1.7 ช้อนชา หรือประมาณ 7 กรัม ซึ่งดื่มแล้วสดชื่นก็จริง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยระดับน้ำตาลที่สูงเท่าตัว

  • ยาสเตียรอยด์

ข้อนี้ ยกตัวอย่างใกล้ตัวผู้เขียนเลย คือคุณแม่ผู้เขียนเอง ซึ่งท่านป่วยเป็นรูมาตอยด์ (ภูมิคุ้มกันตัวเองบกพร่อง) ท่านต้องฉีดยาสเตียรอยด์ ทุก 2 เดือน สังเกตคุณแม่ได้อย่างชัดเจนเลยว่า ภายหลังฉีดสเตียรอยด์ ท่านจะรู้สึกสดชื่น อยากทานอาหาร ครั้นพอเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อวัดน้ำตาล ปรากฏน้ำตาลเกิน 150 ทีเดียว อันนี้คือประสบการณ์จากคนใกล้ตัวของจริง ที่ยาสเตียรอยด์ มีผลทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ยังอาจทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้อีกด้วย

  • สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

ข้อนี้ หลายคนเลี่ยงทานน้ำตาล แต่ทานสารให้ความหวานชงในกาแฟ หรือปรุงอาหาร ทดแทนกันเยอะเลย การรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ส่งผลให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นกว่าเดิมได้ หากเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดให้พลังงาน ได้แก่ สารให้ความหวานกลุ่มฟรุกโทส เพราะสารเหล่านี้ จัดเป็นคาร์โบไฮเดรท แม้ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ได้น้อยกว่าน้ำตาล แต่ก็ถูกดูดซึมไปอยู่ในรูปของกลูโคสอยู่ดี ซึ่งอาจมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้เช่นกัน

จากเหตุผลข้างต้น จะเห็นว่า ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้สุขภาพทั้งคนป่วยเบาหวาน หรือคนทั่วไป ก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้ ดังนั้น หากต้องการลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง จะดีที่สุด พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ

(เครดิต : Risk factors for prediabetes, www.healthline.com, Cause of Diabetes – What cause Diabetes ?, www.diabetes.co.uk, www.pobpad.com, www.phukethospital.com, www.i-kinn.com)

อ่านข่าวเพิ่มเติม