COLUMNISTS

ไม่มีขบถที่ไหนในโลก ‘พูดจาสุภาพ’

Avatar photo
4598

การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร หรือกลุ่มอื่น ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเด็นที่พูดถึงกันมากที่สุดคือมารยาท” “คำพูดที่มองกันว่าหยาบคาย” “ไม่เหมาะสม” “หมื่นคนอื่น

ท่าทีล่าสุดของนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาย้ำประเด็นนี้อีกครั้ง (เหมือนกับที่คนในรัฐบาลเคยพูดเป็นร้อยครั้ง) ว่า รัฐบาลไทยมิได้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ตราบใดที่การชุมนุมดำเนินการด้วยความสงบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

คำหยาบคาย

รัฐบาลสนับสนุนการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่สร้างสรรค์  ไม่ก้าวร้าวหรือมีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น หรือใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยเคารพมุมมองของผู้ที่เห็นต่าง

นายอนุชาบอกอีกว่า “การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายและต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ”

เมื่อพูดถึงบทบาทเจ้าหน้า นายอนุชา บอกว่า “บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะนี้คือการให้ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย โดยใช้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งนี้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนที่สัญจรในบริเวณโดยรอบที่ชุมนุม สำหรับกรณีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมบางรายนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ละเมิดกฎหมาย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด และผู้ถูกกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม”

คำพูดของนายอนุชา ดูไปแล้วอาจมองว่าโถ..ช่างอินโนเซนซ์ทางการเมืองเหลือเกิน แต่หากมองลึกลงไป อาจจะเห็นภาพความขัดแย้งชัดเจนขึ้น อันเนื่องมาจาก “ภาษา”

เมื่อฟังความคิดเห็นของนายอนุชา ก็ต้องบอกว่าเป็นคำพูดของ รัฐ เต็มรูปแบบและเป็น คำพูดที่ใช้กันมาบ่อยครั้งมาก ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของฝ่ายไหนในอดีต หากมีท่าทีแสดงให้เห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจรัฐ ก็จะปรากฏ คำพูดในลักษณะนี้ออกมาเป็นระยะ เพื่อปราบปรามการชุมนุม หรือ ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมบางคน

ที่น่าแปลก “คำพูดลักษณะเดียวกันนี้” มีการนำมาใช้ทั้งรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร หรือมีทหารหนุนหลัง ชี้ให้เห็นว่าคำพูด หรือที่มักเรียกกันอีกอย่างในความหมายที่กว้างกว่า คือ วาทกรรม ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ แต่เป็นคำพูดจาก อำนาจรัฐ

หมายความว่าไม่ว่าใครมีอำนาจเป็นรัฐบาล คำพูดเหล่านี้ก็จะมาโดยอัตโนมัติ เหมือนกับว่า อำนาจรัฐ เป็น มือที่มองไม่เห็น และพร้อมที่จะยัดใส่ปากคนที่มีตำแหน่งในรัฐบาล หากเห็นว่ามีการคุกคามเกิดขึ้น

แต่ทำไมผู้ชุมนุม (ไม่ใช่เฉพาะคณะราษฎร หรือม็อบเด็ก ๆ เหมือนที่มองกัน) จึงใช้คำที่ไม่เหมาะสม “หยาบคาย” “ด่าทอ” ฯลฯ

คำตอบสำหรับคำถามนี้ ก็คือ พวกเขาเป็น ขบถ ต่ออำนาจรัฐอย่างไงละ ซึ่งขบถก็หมายถึงการต่อต้านอำนาจรัฐ ดังนั้น หากรัฐห้ามอะไร กลุ่มผู้ชุมนุมก็จะฝ่าฝืน (ไม่ใช่เฉพาะม็อบนี้ ม็อบกีฬาสีเหลืองแดงก่อนหน้านี้ก็เหมือนกัน) เมื่อคนในรัฐพบปะพูดคุย ใช้ภาษาสุภาพ” “ท่านครับท่านค่ะ ก็ไม่น่าแปลกที่ม็อบจะใช้ภาษาตรงกันข้าม ก็เพราะพวกเขา ขบถ

หากมองให้ลึกลงไปอีกหน่อย ความพยายามพูดให้ม็อบใช้ภาษาสุภาพ ก็เป็นกลยุทธ์ของรัฐ ในการใช้ภาษา เป็น”เครื่องมือทางการเมือง” เพื่อควบคุมม็อบและหากแนวร่วมอื่น ๆ จะเห็นว่ารัฐดีอยู่แล้ว แต่ใช้เพื่อควบคุมม็อบนั้นคงเปล่าประโยชน์ ได้เพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมเรียกร้องการสนับสนุนอาจจะได้ผล

ดังนั้น การใช้ประเด็นเรื่อง ภาษา เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง (ทั้งสองฝ่ายก็ใช้) และเลิกคิดได้แล้วว่า ภาษามีความเป็นกลาง ซึ่งอาจจะทำให้เราเข้าไป ตรงประเด็นมากขึ้นถึงความขัดแย้ง ที่มากกว่าเรื่อง ภาษา

เราต้องคิดเสมอว่าไม่มีขบถที่ไหนในโลก ใช้ภาษาสุภาพ

อ่านข่าวเพิ่มเติม :