COLUMNISTS

ผู้สูงอายุ…ควรรับมือกับโรคความดันโลหิตสูงอย่างไร?

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
6254

โรคความดันโลหิตสูง ถือเป็น ฆาตกรเงียบ” เนื่องจากไม่ได้แสดงอาการ จึงเป็นเหตุให้หลายคนต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ โรคความดันโลหิตสูง สามารถพบได้กับผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นเมื่ออายุมากขึ้น ความดันก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงเป็นสาเหตุที่พบโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ มากกว่า คนที่อายุน้อย และรวมถึงคนที่มีน้ำหนักตัวมาก (อ้วน นั่นเอง) ภาวะอ้วน ก็เป็นสาเหตุทำให้แรงต้านทานของเส้นเลือดที่อยู่ในร่างกายสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

โรคความดันโลหิตสูง ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากรทั่วโลก ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงถึง 7.5 ล้านคน คาดว่าในปี 2568 ผู้ป่วยจะเพิ่มเป็น 1.56 พันล้านคน และแน่นอน สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค รายงานว่า มีแนวโน้มผู้ป่วยจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 5,186 คนในปี 2556 เป็น 8,525 คนในปี 2562 สมาคมโรคความดันโลหิตสูงนานาชาติ (International Society of Hypertension) ได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก โดยในปี 2562 ยังได้ให้คำขวัญเพื่อรณรงค์ คือ “Know Your Number” ให้รู้ค่าความดันโลหิตของตัวเอง

bangkokสูงอายุกับโรคความดันสูง 01

ความดันโลหิตสูง สำคัญอย่างไร?

ถือเป็นโรคที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งมักจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ จึงเป็นภัยเงียบที่กว่าจะรู้ตัวว่าความดันโลหิตสูง ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้นแล้ว เช่น ภาวะหัวใจวาย ภาวะไตวายเรื้อรัง แต่ให้ดีที่สุด การที่เรารู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่เนิ่น ๆ ย่อมสามารถควบคุมความดันโลหิตที่สูงให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ ก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ค่ะ

ความดันโลหิตสูง เป็นอย่างไร? (Hypertension)

ภาวะความดันโลหิตสูง หมายถึง การมีค่าความดันโลหิตตัวบน 140 มม.ปรอท หรือมากกว่านั้น และมีค่าความดันตัวล่าง 90 มม.ปรอท หรือมากกว่านั้น โดยอาจจะวัดค่าภายหลังที่นั่งพักประมาณ 5 นาที และแนะให้วัดซ้ำอีกครั้งใน 2 – 3 วันต่อมา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีนิยามของโรคความดันโลหิตสูง ตามคำแนะนำใหม่ 2020 ของสมาคมโรคความดันเลือดสูงนานาชาติ (ISH 2020) ดังต่อไปนี้

นิยามโรคความโลหิตสูง ตามคำแนะนำใหม่ 2020

  • ความดันเลือดปกติ (Normal BP) = ไม่เกิน 130/85 มม.
  • ความดันเลือดปกติค่อนข้างสูง (High-normal BP) = 130-139 / 85-89 มม.
  • โรคความดันเลือดสูงเกรด 1 = 140-159/90-99 มม. (มาตรฐานเดิมก่อนหน้านี้คือ 130-139/80-89)
  • โรคความดันเลือดสูงเกรด 2 = 160/100 มม.ขึ้นไป (มาตรฐานเดิมก่อนหน้านี้คือ 140/90 ขึ้นไป)

สาเหตุของความดันโลหิตสูง

มากกว่า 90% เป็นความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ และมักพบบ่อยในรายที่ประวัติครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง และอายุมากเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่มีสาเหตุ เช่น โรคต่อมไร้ท่อบางชนิด โรคไต โรคของหลอดเลือดบางประเภท และปัจจัยที่เป็นตัวส่งเสริมให้มีความดันโลหิตสูง เช่น อายุ พันธุกรรม เชื้อชาติ น้ำหนักตัวเกิน ฯลฯ

hypertension 867855 1280

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

มักจะมีอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย เวียนหัว มีเลือดกำเดาออก การเต้นของชีพจรจะผิดปกติ หงุดหงิดง่าย ขาบวม เหนื่อยง่ายผิดปกติ ฯลฯ

แนวทางการลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูง

นอกจากยาแผนปัจจุบันที่สามารถลดความดันโลหิตสูง แต่ยังมีสมุนไพรธรรมชาติ สามารถลดความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน แถมปลอดภัยกับสุขภาพในกรณีที่จำเป็นต้องทานเป็นประจำ นอกจากการรับประทานยาแล้ว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ต้องใช้ยาร่วมด้วย ดังต่อไปนี้

  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มของมึนเมา เพราะมีงานวิจัย ค้นพบว่า หากคนที่เป็นความดันโลหิตสูงที่ชื่นชอบการดื่ม ถ้าสามารถลดการดื่มลงได้ ความดันโลหิตก็จะลดลงแน่นอน
  • งดสูบบุหรี่
  • ลดความเครียด ความกังวล เพราะความเครียดทำให้ความดันสูง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อยวันละ 15 – 30 นาทีต่อสัปดาห์
  • ควบคุมน้ำหนักตัวเอง โดยเน้นทานอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันน้อย งดอาหารเค็มจัด มันมาก ลดน้ำตาล ลดอาหารประเภทไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และเน้นการทานธัญพืชพวกผักใบเขียว ถั่ว แนะนำดื่มน้ำสมุนไพรที่ช่วยลดความดันได้ เช่น น้ำทับทิม น้ำบีทรูท
  • ฝึกสติ สมาธิ (Meditation / mindfulness) ช่วงฝึกแรก ๆ อาจจะยากสักหน่อย แต่แนะนำให้ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน เพราะมีงานวิจัยฯ มีส่วนช่วยลดความดันได้เป็นอย่างดี
  • อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สบายใจ หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เพราะทำให้เกิดความดันเลือดสูงได้

โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคเรื้อรังที่พบมากในวัยผู้สูงอายุ หากไม่ได้รับการรักษาและควบคุมอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ทางที่ดี แนะนำในกรณีบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่ด้วย ควรมีเครื่องวัดความดันโลหิตที่บ้าน ไว้ใช้ส่วนตัว จะเป็นเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดปรอท (เหมือนที่โรงพยาบาล) หรือเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดดิจิตัว ก็อ่านค่าได้แม่น แถมสะดวก กะทัดรัดดีด้วยค่ะ สำหรับผู้เขียนเอง ที่บ้านมีคุณพ่อวัย 82 ปีอยู่ จึงจำเป็นต้องมีติดบ้านไว้เช่นกัน โดยจะวัดช่วงเช้า-ช่วงเย็นเลยค่ะ เพื่อความปลอดภัยของญาติผู้ใหญ่ พบกันใหม่ฉบับหน้า รักษาสุขภาพกันนะคะ สวัสดีค่ะ

(credit : www.heathline.com/health/high-blood-pressure-hypertension#causes, www.visitdrsant.blogspot.com)

#KINN_Holistic_Healtcare
www.kinn.co.th

อ่านข่าวเพิ่มเติม