COLUMNISTS

ระบบ ‘โมบายแบงกิ้ง’ ยังวางใจได้ ?

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
21

ความโกลาหลจากระบบโมบายแบงกิ้งของกสิกรไทยล่ม วันสิ้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา แม้ส่งผลกระทบในวงจำกัด แต่กระทบกับความมั่นใจของลูกค้าไม่น้อย

คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธานบริษัทกสิกร บิสิเนส เทคโนโลยีกรุ๊ป แบงกิ้ง ของ กสิกรไทย ออกมาชี้แจงสาเหตุของเรื่องนี้พอสรุปได้ว่า ระบบล่มเกิดขึ้นชั่วขณะในวันที่ 31สิงหาคม และ วันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา

bbbbb

วันแรก (31 ส.ค.) มาจากระบบของธนาคารเอง เพราะผู้ปฏิบัติงานใช้คำสั่งจัดการเครือข่ายไม่ถูก ส่งผลให้อุปกรณ์เครือข่ายหลักทำงานไม่ได้ ก่อนที่บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ ซึ่งดูแลเครือข่ายกลางของระบบตัดระบบของกสิกรไทยออก

ส่วนวันที่สอง(1 ก.ย.) สาเหตุมาจากภายนอก เพราะมีผู้โอนเงินต่างแบงก์ใส่หมายเลขบัญชีผิดเป็นจำนวนมาก เมื่อปริมาณค้างสะสมในระบบมากเข้า ทางบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลฯ เห็นผิดสังเกต จึงตัดกสิกรไทยออกจากระบบกลางอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุขัดข้องลาม และรวนกันไปทั้งระบบ กรณีหลังทางกสิกรไทย นำระบบสำรองมาทดแทนทันที ก่อนเชื่อมกับระบบปกติในวันเดียวกัน

สรุปสิ่งที่คุณสมคิด กำลังบอกว่า ปัญหาเกิดความผิดพลาดของมนุษย์ หรือ นัยหนึ่งคือไม่ใช่เกิดจาก ขีดจำกัดของระบบหรือเทคโนโลยี

วันเกิดเหตุวันแรก ระบบขัดข้องกินเวลาราว 4 ชั่วโมงเศษจึงกลับมาเป็นปกติ แต่สร้างความโกลาหลพอสมควร เพราะกสิกรไทยเป็นผู้นำในตลาดโมบายแบงกิ้ง (8.9 ล้านบัญชี) และที่สำคัญช่วงวันเกิดเหตุเป็นวันเงินเดือนออก วันที่มนุษย์เงินเดือนเกือบทั้งหมด ต้องแจกจ่ายรายรับที่เข้ามาออกไปตามภาระและสัญญา

ความรู้สึกของคนที่ไม่สามารถจัดการด้านการเงินได้ในวันนั้น หากเทียบเคียงอามรณ์ คงไม่ต่างจากตอนเผชิญกับปัญหา ไฟฟ้าดับ น้ำประปาไม่ไหล รถไฟฟ้าขัดข้อง อะไรทำนองนั้น

ต้นสัปดาห์ที่แล้ว ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมธนาคารไทย นัดประชุมสมาชิก และคุณสมคิด ในฐานะประธานชมรมฯ ออกมาให้ข่าวว่า ที่ประชุม มีมติ 6 ข้อ เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง โดยหลักๆ คือ เพิ่มสมรรถนะระบบ ในการรองรับปริมาณธุรกรรมให้ได้อย่างน้อย 2 เท่าในช่วงเวลาที่ ธุรกรรมหนาแน่นสุดๆ รวมทั้งเพิ่ม ความสามารถในการรองรับ ของ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ฯ ให้สมาชิกไปดูแลระบบภายในของตัวเอง ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างธนาคาร เป็นต้น

นอกจากเหตุการณ์ข้างต้นแล้ว คงจำกันได้ ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ แบงก์กสิกร ออกมายอมรับว่า รายชื่อลูกค้าองค์กรราว 3,000 ราย ที่ใช้เว็บให้บริการหนังสือค้ำประกัน ถูกแฮกข้อมูลรายชื่อบริษัท และหมายเลขโทรศัพท์ แม้ไม่ใช่ข้อมูลสำคัญ แต่ลูกค้าที่เป็นเหยื่อของแฮกเกอร์คงเสียวไปตามๆ กัน

อีกรายคือ แบงก์กรุงไทยออกมายอมรับเช่นกันว่า มีความพยายามเจาะข้อมูลลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ แบงก์กรุงไทย แต่ป้องกันได้

ตัวอย่างข้างต้น และเหตุการณ์วันโกลาหลที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ชวนให้สงสัย ณ ตอนนี้ เราไว้วางใจเทคโนโลยี ได้ขนาดไหน

ถ้าจับความจากข้อสรุปที่คุณสมคิดออกมายืนยัน ความโกลาหลที่เกิดขึ้นมาจากความผิดพลาดของมนุษย์ เท่ากับว่าโอกาสที่แบงก์จะออกมาขออภัยระบบขัดข้องยังมีอยู่ เพราะมนุษย์มีโอกาสผิดพลาดได้เสมอ

หรือคิดไปให้ไกลกว่านั้น หากมีกลุ่มความคิดสุดโต่งที่มีเป้าหมายทางลบต่อสังคม ก่อม็อบไซเบอร์นัดผ่านโซเชียล แกล้งโอนต่างแบงก์ใส่หมายเลขบัญชีผิด ในปริมาณมากพอสมควรก็จะสามารถป่วนระบบธนาคารได้ใช่หรือไม่?