COLUMNISTS

‘ประชานิยม-ประชารัฐ-ประชายั่งยืน’ อะไรคือคำตอบของประเทศ ประชาชนต้องเลือก

Avatar photo
465

เดือนกันยายนนับเป็นห้วงเวลาแห่งการชี้ชะตาของนักการเมือง ไม่เว้นแม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศตัวแล้วว่า “เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร”

ภาพที่เราจะได้เห็นคือ บรรดาอดีตส.ส.ที่ไว้ตัว รอดูท่าทีว่าจะไปสังกัดพรรคการเมืองไหน ได้ฤกษ์ฟันธงต่ออนาคตทางการเมืองของตัวเอง เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้สัจจะวาจาไว้ว่า จะมีความชัดเจนว่า จะกระโจนเข้าสู่สนามการเมืองหรือไม่ เพราะถึงเวลาที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลให้ คสช.ต้องคลายล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมบางอย่างได้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง รวมถึงการทำไพรมารีโหวต

แม้ว่าจะยังหาเสียงไม่ได้จนกว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ แต่สิ่งที่คนไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่เพียงแค่ว่า ใครจะถูกดูด ถูกซื้อ แต่ต้องให้ความสนใจถึงนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองว่าจะตอบโจทก์การแก้ปัญหาประเทศอย่างยั่งยืนหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาบ้านเมืองเสียหายกับนโยบายประชานิยมที่หยั่งรากฝังลึกมาตั้งแต่ยุคทักษิณเรืองอำนาจ

กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 60 ออกกฎเหล็ก 4 เรื่อง

  • รัฐมีหน้าที่รักษาวินัยการคลัง
  • ต้องแถลงงบประมาณต่อสาธารณะ
  • ห้ามนำเงินนอกระบบงบประมาณมาใช้
  • ต้องกำหนดรายจ่ายให้ชัดเจน มาควบคุมไม่ให้รัฐบาลทำโครงการประชานิยมนำบ้านเมืองไปเสี่ยงกับหายนะ

แต่ที่น่าเสียดายคือ แนวโน้มของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยัง “มุ่งที่จะทำนโยบายประชานิยมมาเป็นกลยุทธ์ในการหาเสียง” แม้แต่พรรคพลังประชารัฐที่กำลังก่อร่าง สร้างตัวเป็นนั่งร้านสืบทอดอำนาจให้ คสช.ก็ชัดเจนว่าจะสานต่อโครงการประชานิยมในร่างทรงประชารัฐของรัฐบาล คสช.ต่อไป

ทางเลือกของประชาชนด้านนโยบายในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าจึงมีสามแนวทางให้เดิน คือเส้นทางประชานิยมลด แลก แจก แถม แบบที่ทักษิณคิดเพื่อไทยทำจะกลับมาตอกย้ำกันอีกรอบ หรือ เส้นทางประชานิยมในเงาประชารัฐสไตล์ คสช. หรือจะเป็นเส้นทาง “สังคม สวัสดิการ สร้างประชายั่งยืน” แบบที่ประชาธิปัตย์ลงหลักปักฐานไว้ โดยจะขอยกตัวอย่างนโยบายด้านการเกษตรที่เห็นชัดเจนมาเทียบเคียง ดังนี้

นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ใช้งบประมาณเกือบล้านล้านบาท รับจำนำในราคาที่สูงเกินจริงเกือบ 50 % เสียหายมหาศาล พิสูจน์แล้วว่าโกงมโหฬาร เพราะนอกจากเงินไม่ได้ถึงมือชาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนที่โฆษณาชวนเชื่อแล้ว ยังเกิดปัญหาขาดทุนจนขาดสภาพคล่องเบี้ยวหนี้ชาวนาด้วย

ส่วนรัฐบาลคสช.กำลังทำนโยบายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก หรือที่เรียกว่า “จำนำยุ้งฉาง” มีวิธีการคล้ายคลึงกับจำนำข้าวเพียงแต่ไม่ได้รับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาด โดย ธกส.จะรับจำนำข้าวไว้ที่ประมาณ 90% ให้ค่าเก็บรักษา 1,500 บาทต่อตัน จ่ายให้พร้อมสินเชื่อก่อน 1 พันบาท และจ่ายให้เมื่อไถ่ถอนคืน 500 บาท ซึ่งเกษตรกรจะต้องมียุ้งฉางหรือสามารถเช่ายุ้งฉางสหกรณ์ได้

ล่าสุดมีการเพิ่มเติมให้ทั้งกษตรกร สหกรณ์-สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไปเช่าคลังโรงสีเก็บข้าวเปลือกได้ ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าโครงการนี้กำลังแปลงร่างเป็นโครงการจำนำข้าวภาคสอง ที่จะทำให้เกิดช่องโหว่การทุจริต จนนายนิพนธ์ พัวพงศกร ทีดีอาร์ไอ ออกมาคัดค้านขอให้ยกเลิก เพราะจะเกิดปัญหาโรงสีเอาข้าวไปขายก่อน ข้าวผิดชนิด ไม่ได้มาตรฐาน โรงสีที่รับฝากข้าวไม่ต้องเสียเงินค้ำประกันเปรียบเหมือนกับเสือนอนกิน ขณะที่โอกาสที่ชาวนาจะไถ่ถอนน้อยมากซึ่งจะเกิดความเสียหายตามมาไม่แตกต่างจากในอดีต

ขณะที่นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ใช้โครงการประกันรายได้เข้ามาช่วยเหลือให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางรายได้ ไม่มีการเข้าไปแทรกแซงตลาด ไม่ต้องมีโกดังเก็บข้าว รัฐบาลจะจ่ายส่วนต่างให้กับเกษตรกรกรณีที่ราคาข้าวต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกันรายได้เอาไว้ แต่ถ้าราคาข้าวสูงกว่าราคาประกันรัฐบาลก็ไม่ต้องควักกระเป๋าไปอุดหนุนแต่อย่างใด

นอกจากนี้การประกันรายได้ยังครอบคลุมถึงกรณีที่เกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม ฝนแล้งจนไม่มีผลผลิต ก็จะได้เงินชดเชยจากรัฐบาลตามราคาที่ประกันเอาไว้ แตกต่างจากการจำนำข้าวและจำนำยุ้งฉางที่จะได้เงินเฉพาะกรณีที่มีผลผลิตไปจำนำเท่านั้น

ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างนโยบายเรื่องเดียวกันแต่วิธีต่างกัน แต่นโยบายภาพรวมที่สำคัญหลายอย่างระหว่างรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ กับคสช. มีความคล้ายคลึงกันมากโดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการก่อหนี้ และมีแนวโน้มจะซุกหนี้สาธารณะไปไว้ในกองทุนต่าง ๆ

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เน้นเรื่องวินัยการเงินการคลัง จัดทำงบประมาณการลงทุนตามภาวะการเงินของประเทศ ไม่ให้เกิดความเสี่ยงในระยะยาว และไม่มีนโยบายที่จะนำอุตสาหกรรมหนักไปลงในพื้นที่ภาคใต้แต่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืนมากกว่า แตกต่างจากทั้งแนวทางของรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์และคสช.ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

นี่คือภาพนโยบายที่ประชาชนต้องเลือกเพื่อชี้อนาคตของประเทศผ่านการเลือกตั้ง เพราะถ้าปล่อยให้ประชานิยมไม่ว่าจะแปลงร่างเป็นรูปแบบใด กลับมายึดครองประเทศอีกครั้ง ความสุ่มเสี่ยงต่อฐานะการเงินการคลังประเทศก็จะมีมากขึ้น อาจไม่เห็นผลภายในวาระสี่ปี แต่ถ้าปล่อยให้ดำเนินนโยบายใช้จ่ายเกินตัวเพื่อแลกกับ ความนิยมของประชาชน สุดท้ายก็อาจลงเอยเหมือนเวเนซูเอล่ากับตุรกี ที่ติดกับดักประชานิยมยาวนาน 20 ปี จนประเทศเข้าสู่ภาวะล้มละลายในขณะนี้

ตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มักถูกแดกดันว่า “แพ้เลือกตั้งซ้ำซาก” จนเลยเถิดไปว่า พรรคมีนโยบายที่ไม่โดนใจประชาชน กดดันไปถึงผู้บริหาร ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วนโยบายของพรรคกลั่นกรองบนพื้นฐานความจริง และความยั่งยืนของประเทศ ยึดหลักถูกต้องไม่ใช่แค่ถูกใจเฉพาะหน้าให้ได้คะแนนเสียงมาเท่านั้น และพรรคจะยังคงเดินตามแนวทางที่จะเป็นผลดีกับประเทศในระยะยาวไม่ว่าพรรคจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม เพราะชัยชนะในการเลือกตั้งไม่ได้สำคัญไปกว่าความมั่นคงยั่งยืนของประเทศชาติ

คนไทยจึงต้องไต่ตรองให้รอบคอบว่าจะเอา “ประชานิยม” “ประชารัฐ” หรือ “ประชายั่งยืน”