COLUMNISTS

เงินดิจิทัลหาที่ยืนระบบ จุดปะทะช่วงเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่าน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight
473

ชญานิน ศาลายา

การออกและแก้ไขกฎหมายรวม 2 ฉบับ เพื่อกำกับตลาดเงินดิจิทัล คือ ร่างพระราชกำหนด (พรก.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) และ ร่างพรก. การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ของรัฐบาล ยังเป็นประเด็นให้ถก ถึงผลดี/ผลเสีย และจุดสมดุลของการกำกับดูแลว่าควรจะอยู่ตรงไหนถึงจะเหมาะสม

ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีเป้าหมายกำกับ ตลาดเงินดิจิทัล ด้วยการจัดเก็บ ภาษีจาก ส่วนต่างกำไร และภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมกำหนดเกณฑ์ปฎิบัติเบื้องต้นขึ้นมา อาทิ เช่น แบ่งทรัพย์สินดิจิทัลออกเป็น 3 กลุ่ม หนึ่ง สกุลเงินดิจิทัล สอง เหรียญดิจิทัล และสาม ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

ตามด้วยข้อบังคับอื่นๆอาทิ ให้คนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อการขายการลงทุนเงินดิจิทัล ต้องขอใบอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์(กลต.)  เพื่อให้แน่ใจว่า ตลาดเงินดิจิทัลจะไม่กลายเป็นสวรรค์ฟอกเงินของเหล่าอาชญากรไซเบอร์

ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังกำหนดให้ผู้ซื้อ-ขายเงินดิจิทัลต้องรายงานที่มาที่ไปของทรัพย์สินต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือ ปปง.ทุกครั้งไปอีกด้วย

อภิศักดิ์ ตันติวรวงต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลที่ต้องออกกฎหมายคุมตลาดเงินดิจิทัล เพราะเป็นเรื่องใหม่ยังไม่มีการควบคุม

การชิงล้อมคอกของกระทรวงการคลัง ครั้งนี้ไม่ได้ต่างจากหลายประเทศ ที่วางกฎกติกาควบคุมการซื้อขายสกุลเงินเสมือนจริงที่มีมากกว่า 1,000 สกุลในตลาดเวลานี้ เพราะ(ทุกประเทศ) ตระหนักดีถึงมหันตภัย จากการลงทุนในเงินดิจิทัล ที่ราคาสามารถเหวี่ยงขึ้น ลงหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในจังหวะสั้นๆ

กฎกติกาตามกฎหมายที่จะนำบังคับใช้เร็วๆนี้ จึงเท่ากับการตีกรอบลดความเสี่ยงการลงทุนในเงินดิจิทัลเอาไว้ระดับหนึ่ง ไม่ใช่ปล่อยเสรีจนก่อหายนะต่อผู้ลงทุนและระบบเศรษฐกิจได้

ข้อดีอีกประการหนึ่ง จากนโยบายเก็บภาษีจากธุรกรรมเงินดิจิทัลของกระทรวงการคลังคือ เท่ากับไทยให้สถานะทางกฎหมายต่อเงินดิจิทัลกลายๆ ไม่ใช่มีสถานะเหมือนเงินตรานอกกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติยืนยันหลายครั้งว่า เงินดิจิทัลไม่สามารถชำระได้ตามกฎหมาย ส่วนกลต.บอกว่า เหรียญดิจิทัล (ไอซีโอ) ไม่ใช่ทั้งหุ้นและหลักทรัพย์

มีเสียงค้านจากเหล่า สตาร์ทอัพ ที่ระดมทุนด้วยการออกสกุลเงินดิจิทัลกันพอสมควรว่า การจัดเก็บภาษีธุรกิจสกุลเงินดิจิทัลในช่วงตลาดเพิ่งตั้งไข่ จะกดดันให้ผู้ระดมทุนเลี่ยงไประดมทุนในต่างประเทศแทน และยังกังวลในประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี(กรมสรรพากร) เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพิสูจน์ธุรกรรมเกิดขึ้น ณ จุดใด คงคล้ายกับธุรกิจให้บริการเครือข่ายสังคมเช่น เฟซบุ๊คที่กิจกรรมเกิดขึ้นในบ้านเราแต่จ่ายภาษีให้รัฐบาลนิดเดียว

แน่นอนว่า มาตรการภาษีที่รัฐบาลงัดขึ้นมาใช้กำกับ ตลาดเงินดิจิทัล มีผลต่อการตั้งต้นตลาดเงินดิจิทัลในบ้านเราบ้าง

แต่ถ้าเปรียบเทียบผลดี/เสียกับ การมีกฎกติกาเป็นกรอบให้ปฏิบัติ เท่ากับรัฐบาลยอมรับสถานะเงินดิจิทัลระดับหนึ่งตามที่กล่าวข้างต้น และยังมีกลไกกำกับดูแลความเสี่ยงเบื้องต้นให้ อย่าลืมว่าตลาดเงินดิจิทัลไม่ได้เสี่ยงจากภาวะผันผวนของมูลค่าเท่านั้น หากยังมีภัยคุกคาม จากโจรกรรมไซเบอร์ เช่นที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นอีกด้วย

การที่รัฐบาลยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรดีกับ เงินดิจิทัลที่ระบาดราวกับไวรัสอยู่เวลานี้ จะวางไว้ในส่วนตลาดเงินก็ไม่กลมกลืน จะฝากไว้กับตลาดทุนก็ดูขัดๆ เงินดิจิทัลที่ดูเหมือนมีที่ทางในเครือข่าย แต่มีที่ยืนจำกัดในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน

ความคลุมเครือเช่นนี้กระมัง กระทรวงการคลัง จึงงัดเอามาตรการภาษีขึ้นมาดูแลไปพลางๆก่อน

กรณีดังกล่าวคือ อาการมึนๆ อันเป็นปรากฏการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ระบบเก่ากับใหม่จะปะทะกัน และคงใช้เวลาอีกนานกว่าสองระบบจะเชื่อมกันสนิท