COLUMNISTS

ความเสี่ยงสามด้านของสังคม เมื่อครู-ศิษย์ ‘เบี้ยวหนี้’         

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
33

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ครู ศิษย์ เบี้ยวหนี้ เป็นข่าวใหญ่ ที่สื่อทุกสำนัก และทุกประเภทตามติด อย่างใกล้ชิด 

ข่าวแรก ครูวิภา บุญเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งที่กำแพงเพชร ถูกหมายศาลบังคับคดีจะยึดบ้าน ยึดที่ดิน เนื่องลูกศิษย์ 21 คน(จาก 60 คน) ที่ครูเซ็นค้ำประกันให้ กู้กยศ. (กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) เมื่อ 20 ปีก่อนไม่ยอมใช้หนี้

ข่าวระบุว่าครูยอมใช้หนี้แทนไปแล้ว 4 คนวงเงิน 92,000 บาท  ก่อนได้รับหมายศาลหลังลูกศิษย์ที่ครูค้ำประกันอีก 4  คนถูกกยศ.ฟ้อง แต่ไม่มีทรัพย์ให้ยึด กยศ.จึงเบนเป้ามายึดทรัพย์ผู้ค้ำประกัน หรือครูวิภาแทน

debt 1

 ชะตากรรมครูวิภาสะเทือนใจสังคมมาก เพราะครูที่มีเมตตากับศิษย์ขนาดนี้สมควรได้รับการเชิดชูไม่ใช่หมายศาล เมื่อข่าวกระจายออกไปในวงกว้าง ทาง กยศ.ประกาศชะลอการบังคับคดีออกไป ลูกศิษย์ขี้ลืมบางคนเริ่มจำความได้บ้าง และแจ้งความจำนงกับครูว่าจะดูแลหนี้ที่ก่อเอง   หลังเพจดังนำรายชื่อมาโพสต์ เปิดหน้าให้โลกได้รู้จัก

อีกกรณี ครูในเรื่องนี้ต่างจากครูในเรื่องแรกอย่างสิ้นเชิง จู่ๆ มีกลุ่มครูราว 100 คน ส่วนใหญ่เกษียณแล้วรวมตัวกันออกมาประกาศ ปฏิญญามหาสารคาม ว่า จะหยุดชำระหนี้แบงก์ออมสิน หรือภาษาชาวบ้านคือ ประกาศชักดาบ โดยให้เหตุผลหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือ  ดอกเบี้ยแพง (6-6.5%) 

ข่าวนี้แม้แต่ครูด้วยกันยังอึ้ง เพราะเป็นหนี้ต้องจ่ายคือหลักการที่ยอมรับกัน มีเสียงตำหนิกึ่งๆ สั่งสอนคณะครูร้อยคนมาจากรอบทิศ เพราะสังคมยอมรับไม่ได้ที่แม่พิมพ์ของชาติคณะนี้เลือกแก้ปัญหาหนี้ของตัวเองด้วยแนวทางนี้

 กรณี ครูวิภา กับ ครูร้อยคน  สะท้อนให้เห็นภาพสองด้าน

ด้านหนึ่งสังคมกำลังสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสีย 3 สิ่งสำคัญ คือ ความไว้วางใจ เชื่อใจ และ มีน้ำใจ  ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมและเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะกรณีครูวิภา  หากปล่อยให้คุณครูวิภารับมือกับชะตากรรมตามลำพัง ต่อไปคงไม่มีครูคนไหนกล้าเซ็นค้ำประกันให้ลูกศิษย์อีก  เพราะชะตากรรมที่เกิดกับครูวิภาเป็นประจักษ์อยู่  

ครู หรือ คนอื่นๆ คงยอมถูกประณามว่าใจดำปฏิเสธการเซ็นค้ำให้ลูกหลาน  ดีกว่ารับหมายศาลหน้าบ้าน  และความรู้สึกทำนองนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนผู้คนไปสู่สังคมตัวใครตัวมัน  ไม่มีใครไว้วางใจ เชื่อใจ หรือมีน้ำใจ  ให้ใครอีกต่อไป 

 นอกจากนี้ กรณีครู เรื่องข้างต้น  ยังสะท้อนภาพส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้ครัวเรือนอีกด้วย

 หลายปีที่ผ่านมา  รัฐบาลทุ่มเทกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาก  มีทั้งแผนและนโยบายออกมาเป็นระยะๆ การสะสางปัญหาหนี้นอกระบบ ถูกยกให้อยู่ในวาระลำดับต้นๆของรัฐบาล มีการตั้งคลินิกแก้หนี้  ผลักดันร่างกฎหมาย คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรหรือที่อยู่อาศัย หรือเตรียมออกกฎกระทรวง ให้ใช้ไม้เศรษฐกิจ 58 ชนิด เป็นหลักประกันเงินกู้เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนทางหนึ่ง  

 แม้ครบทั้งนโยบายและการปฏิบัติ  แต่แนวรบหนี้ครัวเรือนยังไม่เปลี่ยนแปลง

LMM Cover Images 9

 สัปดาห์ที่หนี้ครูเป็นข่าว  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  กล่าวยอมรับในรายการศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืนว่า ความสามารถในการชำระหนี้ของพี่น้องประชาชนไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะสัดส่วนหนี้เสียยังไม่ปรับลดลง 

 พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าสามเดือนแรกปีนี้ (2561)  หนี้ครัวเรือนยังทรงตัว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 77.6 % (ปลายปีที่แล้ว 78 % ต่อจีดีพี) ….ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ”  นายกฯ ย้ำ

 แบงก์ชาติแจงที่มาปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นระยะๆ เช่นกันว่าเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจโตไม่ทั่วถึง ในทางกลับกันก็บอกว่า ครัวเรือนมีภาระหนี้มากต้องนำ รายได้ไปชำระหนี้ ส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศไม่ขยับตัวมากนัก ซึ่งผูกโยงไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด 

สรุป คือภาพเศรษฐกิจที่ตัวเลขจีดีพีโตสุดในรอบ 4 ปีแต่เสียงบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดียังดังอยู่ เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูงเหนี่ยวรั้งการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจเอาไว้

ส่วนเรื่องศิษย์เบี้ยวหนี้ครู และครูเกษียณร้อยคนประกาศฝ่ายเดียวว่า จะหยุดชำระหนี้แบงก์ เป็นผลข้างเคียงจากปัญหาหนี้สาธารณะอย่างหนึ่ง ที่แสดงตัวออกมา  ปนๆ ไปกับสภาวะหลงลืมของคนกลุ่มหนึ่งว่า เป็นหนี้ต้องใช้