ในปี 2018นี้ ปานจะเรียนจบเศรษฐศาสตร์อินเตอร์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังเต็มตัว ที่บ้านมีโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีพี่ชายช่วยพ่อทำอยู่ แต่ปานอยากทำงานข้างนอกเพื่อหาประสบการณ์ให้มากที่สุด
ปานจัดเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่อายุ 21 ปี จัดได้ว่าเป็น Gen Z ตัวจริงที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตอนเรียนปานก็เป็นคนตั้งใจเรียนได้เกรดค่อนข้างดี บุคลิกเป็นคนมั่นใจและมีความจริงจัง การแต่งเนื้อแต่งตัวจัดว่าหล่อเลยทีเดียว และมีแฟนสวยมาก รักการออกกำลังกายเรียกว่าเข้ายิมสัปดาห์ละหลายวัน
ชีวิตส่วนตัวปานบอกว่าชอบอ่าน ชอบวิเคราะห์เทรนด์ สมัครเป็นสมาชิก Bloomberg ด้วย คือเจอเด็กในวัยเดียวกันมาเยอะ แต่ยังไม่ค่อยเจอใครเหมือนปาน
ถ้าถามว่าอนาคตอยากเป็นอะไร ปานคงมีในใจที่ชัดแต่ยังไม่อยากจะบอกให้ใครทราบ
ตอนเรียนปีสุดท้ายปานได้มีโอกาสมาฝึกงานกับบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งในความฝันคือถ้าเรียนจบปานก็อยากได้ทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาที่ติดอันดับชั้นนำระดับโลก
แต่โลกไม่ได้ให้ทุกอย่างแบบที่เราต้องการเสมอไป ปานต้องมาฝึกงานในแผนกที่ถ้าจะเรียกให้ง่ายก็คืองานขาย ซึ่งไม่เคยอยู่ในความสนใจเลย ไม่เคยคิดว่าเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วเพื่อจบมาเป็นเซลล์
ระหว่างที่ต้องฝึกงานในแผนกนี้ได้มีโอกาสไปเจอลูกค้า แน่นอนลูกค้าก็มีความง่ายยาก แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ปานพบคือว่าสิ่งที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยอาจะไม่ได้สอนทั้งหมดว่าเวลาจะเข้าหาลูกค้าเพื่อสร้างโอกาสขายทำอย่างไร เวลาจะนำเสนอขายให้น่าสนใจ แต่ไม่ดูตลาด เวลาลูกค้าโกรธหรือไม่พอใจเวลาลูกค้าต่อรองหนักๆ ดีลอย่างไรดี อะไรเทือกๆ นี้ ปานอยู่ในสภาวะทำอะไรไม่ถูก เพราะแค่ 1 เดือนในชีวิตจริง เพิ่งจะเริ่มขึ้น และทำอย่างใหม่หมด
มีหลายครั้งที่ท้อและกลับมาถามตัวเองว่า “งานขายจะใช่เราหรือเปล่า”
หัวหน้าของปาน คือ รวิวรรณ เป็นผู้บริหารด้านการขายมาหลายปี ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังเป็นนักขาย จนมาในบทบาทบริหารงานขาย
ในแผนกรวิวรรณไม่มีใครเลยที่จบมาเรื่องการขายโดยตรง ใช่สิ ก็ในมหาวิทยาลัยยังไม่มีหลักสูตรหรือปริญญาที่สอนการขายโดยตรงนี่นา แต่เราจะช่วยทำให้ปานตอบคำถามที่น้องเองก็ยังคาใจว่างานขายใช่เราหรือเปล่าอย่างไรดี แม้ว่าจะมีคอมมิชชั่นที่เร้าใจรออยู่ แต่ปานก็ไม่แน่ใจอยู่ดี
รวิวรรณอ่านงานวิจัยล่าสุดของ World Economic Forum ก็บอกว่าในปี 2020 จะมีหลายงานที่หายไป เพราะเทคโนโลยีมาทดแทน แต่งานขาย โดยเฉพาะการขายแบบที่ปรึกษาคือ คนขายทำมากกว่าการเสนอสินค้าแบบง่ายๆ งานแบบนี้จะเพิ่มมากขึ้น เพราะทุกธุรกิจจะเติบโตได้ แน่นอนว่าต้องมีลูกค้า ก็อยากจะเชียร์ปานว่าทำเถอะ เพราะปานมีความสามารถ แต่เจอลูกค้า และงานกดดันทุกเดือนปานอาจคิดว่าไปทำงานด้านวิเคราะห์คล้ายๆ กับที่เคยเรียนเหมือนที่เพื่อนหลายคนไปทำน่าจะตรงมากกว่า
ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าคุณเป็นรวิวรรณจะช่วยปานอย่างไรได้บ้าง และในตอนต่อไปปานจะยังทำในแผนกขายหรือเปล่า ลองมาเดากันดูนะคะ
บทสรุปตอนที่ 1
ถ้าคุณกำลังมองว่างานขายจะใช่งานที่เหมาะกับคุณหรือเปล่า เราจะทำได้ไหม เชื่อว่าเมื่อเริ่มต้นชีวิตนักขาย ทุกคนคงเจอคำถามคล้ายๆ กัน
แม้ว่าจริงๆ เราเป็นคนแบบไหน เราจะทำงานอะไรก็ได้ แต่ถ้ามีตัวช่วยตัดสินใจได้มากขึ้น ลองอ่านดูนะคะ
แบบทดสอบสั้น ๆ ที่อาจแบ่งเส้นได้เลยว่า เราน่าจะชอบทำงานแบบทัพหน้าเป็นทีมขาย หรือ ทัพหลัง หรือทีมสนับสนุนในองค์กร
เราชอบพบปะผู้คนใหม่ ๆ หรือเปล่า
เพราะงานขายส่วนใหญ่ เราต้องรู้สึกดี หรืออย่างน้อย ๆ ก็ไม่อึดอัดที่ต้อง connect กับคนที่เราไม่ค่อยสนิท ยิ่งถ้าเรารู้สึกสนุกเวลาพบเจอผู้คน อันนี้น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี ว่าเราน่าจะไปได้ดี
เราเป็นคนชอบความท้าทายไหม
เช่นถ้าเราได้ทำงานอะไรที่เรารู้สึกว่ายาก มีความกดดัน เรายิ่งไม่อยากยอมแพ้ งานขายนี่แหละจะทำให้คุณรู้สึกสนุกเหมือนอยู่ในสนามแข่งทุกวัน
ตัวกระตุ้นจูงใจ
บริษัท Success Insight ในสหรัฐอเมริกาทำวิจัยเรื่อง Motivation ของคน มีตัวหนึ่งที่เขาเรียกว่า Utilitarian หรือประโยชน์นิยม ถ้าเอาง่าย ๆ ก็คือพวกรางวัล คอมมิชชั่นที่จับต้องได้ เอาเป็นว่าถ้าเราไม่เคยทำแบบทดสอบหรือลองถามตัวเอง ว่าเรารู้สึกดีไหม ถ้าเราลงทุนลงแรงไปพบลูกค้า ดูแลลูกค้าได้ไม่เหน็ดเหนื่อย เพราะมีค่าคอมฯ รออยู่
เป้าหมายในชีวิตเราชัดเจนแค่ไหน
หากเป้าหมายในชีวิตว่าคุณอยากเป็นอะไร ความสำเร็จในชีวิตของคุณคืออะไร สิ่งที่ได้เรียนรู้ในงานขายวันนี้อาจเป็นบันไดไปสู่สิ่งที่คุณต้องการ เช่น ถ้าบอกว่าอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง การได้ทำงานขายทำให้ได้พบลูกค้าที่ทำธุรกิจหลากหลาย พบคนหลายแบบ ได้เห็นระบบการทำงานหลายอย่าง อาจช่วยให้คุณสำเร็จในชั้นกว่า