COLUMNISTS

ปฏิวัติข้าราชการพลังงานมุ่งสู่ ‘เศรษฐกิจฐานราก’

Avatar photo
515

มีความพยายามในการปรับโครงสร้างการทำงานของข้าราชการกระทรวงพลังงานมาตามลำดับ เพื่อตอบโจทย์การทำงานในเชิงพื้นที่มากขึ้น แต่ก็มาสำเร็จเอาในยุคนี้ โดยเฉพาะแขนขาของกระทรวงพลังงานในระดับพื้นที่อย่าง “พลังงานจังหวัด” ที่ก่อนหน้านี้ถูกมองข้ามไป แม้ถามใครในจังหวัดว่า “ผู้ใดเป็นพลังงานจังหวัดก็อาจไม่มีใครรู้จัก ทำหน้าที่อะไรก็ไม่มีใครรู้”

แต่เมื่อโลกเปลี่ยน การทำงานเชิงพื้นที่อย่างมีกลยุทธ์ คือกลไกความสำเร็จของการบริหารราชการแผ่นดิน และการขับเคลื่อนประเทศในเวลานี้ และอนาคต ให้ทุกคนก้าวไปพร้อมกัน “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” กลไกสำคัญของกระทรวงพลังงาน อย่าง “พลังงานจังหวัด” จึงต้องเร่งปรับกันยกใหญ่

โดยเฉพาะยุคนี้ด้วยแล้ว นโยบาย “พลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อาจถึงขั้นไปไม่ถึงฝัน หากไม่มีแขนขาราชการทำงานในพื้นที่ เขา จึงจับจ้องมาที่ “พลังงานจังหวัด” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับคนที่นั่งในตำแหน่งนี้ ให้ต้องรู้ความเป็นไปทั้งหมดของพลังงาน เก็บข้อมูลส่งต่อ และรับลูกจากส่วนกลางอย่างมีศักยภาพ และกำหนดกลยุทธ์พลังงานในระดับพื้นที่ได้ด้วย

เมื่อกาลเปลี่ยนแปลง กระทรวงพลังงานจึงกำหนดให้มีตำแหน่งพลังงานจังหวัด รวมถึงรักษาการครบถ้วน 76 คนใน 76 จังหวัด และปรับระดับให้เป็น ซี 9 ทั้งหมด ลงนามแล้วล็อตแรก 22 คน และจะมีอีก 2 ล็อตล็อตละ 22 คนตามมา ที่เหลือ 17 คนเป็นซี 9 ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้สอดรับกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น

 

ARC 8574 1

ไม่แค่ปรับโครงสร้าง แต่ต้องปรับจูน และปลุกการทำงานด้วย  “ไม่ให้เกียร์ว่างล่วงหน้าเสียก่อน”  หรือปฏิเสธ เพราะเลือกข้าง วันก่อนเขาเลยจัดใหญ่ พร้อมแต่งชุดข้าราชการครั้งแรกของการนั่งเป็นรมว.พลังงาน หวังให้เข้าบรรยากาศ โดยเกริ่นว่า

“พอดูถึงพลังงาน ไม่อยากให้นึกถึงแต่คนรวย การไฟฟ้า ปตท.หรือบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นึกถึงแต่ความมั่งคั่งของคน เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อยากเห็นพลังงาน ที่ไม่กระจุกตัวเฉพาะคนตัวใหญ่ แต่เป็นพลังงานเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง “

และยังย้ำถึงพลังานจังหวัด อีกว่า ตอนนี้ยกระดับเป็นระดับซี 9 แปลว่ามีความสำคัญ เป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานแล้ว ไม่อยากให้การเป็นซี 9 เพียงแค่การปรับโครงสร้าง แต่ต้องเป็นกลไกของกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนของกระทรวงในการปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดต่างๆ และแน่นอนผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ก็ต้องสำคัญเสมือนกัน ไม่ใช่ตำแหน่งมาพัก แต่ต้องเข้ามาดูแลพลังงานจังหวัด ให้ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย

“อยากให้พลังงานจังหวัด แสดงความสามารถ ทำงานอย่างเข้มแข็ง ไม่ใช่ได้รับการบรรจุเป็นซี 9 แล้ว ไม่ Active รอเกษียณที่บ้านเกิด นี่ถือเป็นด้านลบของการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ถ้าผมมาเร็วกว่านี้อาจไม่ถูกปรับเป็น ซี 9 ทั้งหมดทุกจังหวัด เพราะจากซี 8 เป็นซี 9 ได้ต้องผ่านการหมุนเวียน ต้องผ่านความท้าทาย ตามหลักการนิ้วทั้ง 5 จะเท่ากันไม่ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อเป็น ซี 9 แล้วอยากให้ทุ่มเท และพลังงานจังหวัดที่มีผลงาน ยังมีเส้นทางเดินต่อได้ด้วย สามารถขยับมาเป็นซี 10 เป็นอธิบดีได้ “

การนำนโยบายไปขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค บนแนวทาง Area Based Management  และมี Strategy Location เป็นหน้าที่ของพลังงานจังหวัดที่นายสนธิรัตน์ อยากเห็น  เพราะถือว่าเป็นคนที่เข้าใจบริบทของจังหวัดดีที่สุด

เขา ยังบอกถึงมุมมอง และปฏิกริยาที่มีต่อข้าราชการกระทรวงนี้ด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่เคยล้วงลูก ไม่เคยข่มขู่  และกดขี่ ไม่เคยคิดจะทำลาย ไม่สร้างความแตกแยกใดๆ  แต่ให้เกียรติ เคารพข้าราชการ และชื่นชมในศักดิ์ศรี เพราะเคารพในข้าแผ่นดิน จึงอยากให้ท่านเสียสละ ทุ่มเท แม้จะมีแรงกดดันเยอะ แต่ผลสัมฤทธิ์ที่ได้ คือ ความภูมิใจของชีวิตท่านเอง

“เป็นความโชคดีที่ท่าน อยู่ในอำนาจรัฐ สามารถนำอำนาจรัฐที่มี ไปสร้างประโยชน์ให้ประชาชน คนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการทำไม่ได้ ถือเป็นศักดิ์ศรีของข้าราชการเท่านั้น หากทำตามความสามารถ และเข้มแข็ง ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร ความสำเร็จของงาน จะมีการสานต่อไป ไม่มีใครมากล้าเปลี่ยนแปลงได้ “

18837

สอดรับกับปลัดกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ที่ย้ำว่า ต่อไปนี้พลังงานจังหวัดต้องทำงานใกล้ชิดประชาชน และ เกษตรกรมากขึ้น และต่อไปพลังงานจังหวัดไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตรวจปั๊มน้ำมันอย่างเดียวแล้ว ต้องเก็บข้อมูลด้วยว่าพื้นที่ไหนขาดแคลนอะไร และส่งต่อข้อมูลมายังส่วนกลาง ทั้งต้องทำงานใกล้ชิดผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานอื่นๆ ด้วย

“ต่อไปพลังงานจังหวัดจะมีเส้นทางการเติบโต หมุนเวียนมาที่ส่วนกลาง เป็นผู้อำนวยการ รองอธิบดี และอธิบดีได้ และเราจะประชุมร่วมกันทุก 1-2 เดือนจากนี้ “

นอกจากการปฏิวัติโครงสร้างข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ให้กลไกพลังงาน และข้าราชการทำงานเข้าถึงประชาชนฐานรากแล้ว ยังจะมีการปฏิวัติระบบข้อมูลด้วย โดยจะนำ Big Data มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพยากรณ์พลังงานในอนาคตให้แม่นยำขึ้น และกำหนดนโยบายให้ไปทิศทางที่ควรจะเป็น

โดยเริ่มต้นจะมีลงนามบันทึกความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในกระทรวงพลังงานวันที่ 13 ธันวาคมนี้ เพื่อลิงก์ข้อมูลเชื่อมโยงกันทั้งหมด และมาร์กจุดได้ว่าตรงไหนมีตรงไหนยังขาดแคลนพลังงาน  และต้องใส่ทรัพยากรอย่างไรเข้าไป ให้ตรงเป้าหมาย ภายใต้นโยบาย “พลังงานชุมชน” โดยกระทรวงพลังงาน กำลังจับมือกับหลายภาคส่วน ทั้งองค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data ที่จะมาปฏิวัติข้อมูลพลังงานให้แม่นยำ และเชื่อถือได้

ถือเป็นบรรยากาศที่ดี และเป็นความหวัง ในการปรับเปลี่ยนให้กระทรวงพลังงานที่เคยแหงนมองสูง เป็นกระทรวงวิชาการที่เกี่ยวข้อง ข้องแวะ และให้ประโยชน์กับคนเฉพาะกลุ่ม มาก้มมองให้ต่ำลง และทะลุถึงเป้าหมาย ให้ประชาชนฐานรากได้ประโยชน์จากทุกนโยบายพลังงาน 

ARC 8121 1