COLUMNISTS

พลิก ‘วิกฤติแบนสารพิษ’ เป็นโอกาสก้าวสู่ ‘เกษตรอินทรีย์’

Avatar photo
850

มติแบนสารเคมีการเกษตร 3 ชนิด “พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” ที่กำลังจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 หรืออีกไม่กี่วันนี้ กลายเป็นต้องถูกยกเลิกไป เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเอกฉันท์เลื่อนแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วน “ไกลโฟเซต” ให้จำกัดการใช้เท่านั้น

000 1598RE

เหตุผลที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายนำมาอ้างในการทบทวนมติอีกครั้ง คือ พบปัญหาในทางปฏิบัติ ตั้งแต่การจัดการสารเคมีที่ตกค้างกว่า 23,000 ตัน ผลกระทบลูกโซ่ต่อเนื่องภาคอุตสาหกรรม รวมถึง ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรที่คัดค้านต่อเนื่อง หลังจากมีประกาศแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพราะยังไม่มีมาตรการใดๆ มารองรับ และยังไม่มีแนวทางการสนับสนุน ว่าจะใช้แนวทางการเกษตรรูปแบบใดมาทดแทน

เรื่องนี้ ยังมีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหลายคน มองว่าจะกลายเป็นรอยร้าวในรัฐบาลหรือไม่

แต่บทความนี้ขอโฟกัสที่การแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร โดยเห็นว่า “เกษตรอินทรีย์” (Organic) เป็นแนวทางหนึ่งที่จะเป็นทางออกของการเกษตรไทยในอนาคต แต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะเป็นการเกษตรที่ไม่สามารถใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด พืชหรือมูลสัตว์ที่จะนำมาทำปุ๋ยต้องเลี้ยงแบบอินทรีย์ด้วย ซึ่งในแง่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ เพราะมั่นใจได้ว่า จะไม่มีสารตกค้างอยู่ในผลผลิต แต่จะเพิ่มภาระขั้นตอน และต้นทุนในการดูแลสูง เกินกว่าธรรมชาติของเกษตรกรไทยที่จะปรับตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น อาจเป็นที่มาทำให้กลุ่มเกษตรกรออกมาเคลื่อนไหว หลังจากมีมติแบนสารเคมี 3 ชนิด เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ในแง่การตลาด แม้สินค้าเกษตรอินทรีย์จะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ แต่เป็นเพียง 12% ของสินค้าเกษตรที่ส่งออกทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก

ดังนั้น สิ่งที่ต้องกำหนดเป็นอันดับแรกก่อนคือ นโยบายธงนำของรัฐบาลที่ต้องขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง หากจะสนับสนุนให้ใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์จริงๆ ต้องมีช่องทางสนับสนุนเกษตรกรให้ชัดเจน เช่น

  1. การกำหนดราคาที่เป็นธรรม หากราคาแพงเกินไป สินค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะขายไม่ได้อยู่ดี จึงต้องมีมาตรฐานราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ควบคุมได้ ซึ่งรัฐบาลอาจต้องเข้าไปช่วยอุดหนุนหรือชดเชยในบางส่วนเพราะต้นทุน ของเกษตรอินทรีย์สูงกว่าการใช้สารเคมี
  2. เพิ่มช่องทางให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ มีโควต้าหรือที่วางสินค้า ให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ มีการจัดโปรโมชั่นสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มจำนวนการขายให้มากขึ้น ทำให้สถานการณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ดีขึ้น เติบโตขึ้นเองโดยอัตโนมัติ และจะทำให้เกษตรกรทิ้งการใช้สารเคมีไปเอง แต่ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน

gap

นอกจากนี้ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือเกษตรปลอดภัย (GAP : Good Agricultural Practice) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจ เพราะเป็นการเกษตรที่สามารถใช้สารเคมีได้ตามความจำเป็นและถูกต้องตามคำแนะนำ ผลผลิตอาจพบสารตกค้างได้ แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ซึ่งเป็นการเกษตรที่ทำกันมากในทวีปยุโรป และได้รับการยอมรับทั่วโลก

ยกตัวอย่างเช่น หากจะปลูกข้าว ถ้าเป็น GAP สามารถใช้ปุ๋ยเคมีควบคู่ได้ ในปริมาณที่ปลอดภัย ทั้งกับเกษตรกรและผู้บริโภค ต่างจากเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ให้ใช้สารเคมี โดยเด็ดขาด และต้องไม่พบสารตกค้างใดๆ ทั้งสิ้น แนวทางเกษตรปลอดภัยจึงน่าจะเหมาะสมต่อเกษตรกรในระยะเปลี่ยนผ่าน มากกว่าก้าวกระโดดไปสู่เกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบที่มีต้นทุนสูง มีขั้นตอนและการจัดการยุ่งยากกว่า

ส่วนในมุมผู้บริโภค จะบริโภคแบบไหน ก็ไม่มีผลกระทบต่อร่างกายอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ดีต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค GAP น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในช่วงเปลี่ยนผ่าน หากต้องแบนสารเคมีทางการเกษตร เพราะ เกษตรกรใช้ต้นทุนไม่สูง ผู้บริโภคมีความปลอดภัย แล้วค่อยปูทางไปสู่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบในอนาคต

อย่ามองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤติเพียงอย่างเดียว แต่ควรคว้าให้เป็นโอกาส ในการพลิกโฉมการเกษตรไทยจากสารเคมี สู่ GAP ก่อนจะเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ต่อไป จะทำแบบนี้ได้ผู้นำต้องมีความกล้าหาญในการกำหนดนโยบายจึงจะสำเร็จ