COLUMNISTS

เรื่องที่ต้องรู้ ‘เชื้อดื้อยา’

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
5583

“เชื้อดื้อยา ยาปฏิชีวนะ
หรือกินไม่ครบ ระวังเชื้อดื้อยา
ยาซื้อยากินเอง
ยาปฏิชีวนะ
เดี๋ยว “เชื้อดื้อยา” รักษาไม่หาย
เชื้อดื้อยา ยาปฏิชีวนะ
กินยาไม่ถูกโรค ระวังเชื้อดื้อยา”

ช่วงนี้ได้ยินสปอตเพลงนี้ออกบ่อย ถือเป็นเพลงยอดฮิตที่จดจำง่าย หลานชายวัย 4 ขวบ ร้องคลอไปกับสปอร์ตวิทยุกันทุกเช้าระหว่างเดินทางไปโรงเรียน จริง ๆ แล้วเรื่อง “เชื้อดื้อยา” ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม และก็อย่างที่เพลงร้องว่า ซื้อยากินเอง หรือทานยากันไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง ดังนั้นเราต้อง “เช็คให้ชัดก่อนทานยาปฏิชีวนะ”

ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ในปัญหา “เชื้อดื้อยา” ทำให้การติดเชื้อเพียงเล็กน้อยของแบคทีเรีย เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ แม้ในประเทศไทย ก็พบปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะสูงขึ้นทุกปี ผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ทุกๆ ชั่วโมงในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาปฏิชีวนะเฉลี่ย 2 คน และมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในประเทศไทยมากถึง 19,122 คน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการที่คนไทยสามารถหาซื้อยามารับประทานเอง ตามร้านขายยาได้ง่าย โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ หลายท่านอาจสงสัยแล้วว่า สาเหตุจริงๆ ของการ ดื้อยา เริ่มต้นจากอะไร หรือยาต้านแบคทีเรียที่ทานกัน มันใช่ยาแก้อักเสบ มั๊ย ฯลฯ วันนี้ดิฉันจะมาอธิบายเพื่อเข้าใจอย่างง่าย ๆ กันนะคะ

0DCD1FBC F88E 4516 A46B 4240A6ABF543

“เชื้อดื้อยา” คืออะไร?

คือเชื้อโรคที่ทนต่อยาปฏิชีวนะ เมื่อเจอยา เชื้อจะไม่ตาย ทำใหการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาไม่ได้ผลดีเหมือนเดิม อาจต้องใช้เวลานานขึ้น ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น (โดยไม่จำเป็น) แถมมีผลข้างเคียงของโรคมากขึ้น และเสี่ยงต่อการชีวิตอีกด้วย

สาเหตุคืออะไร?

โดยส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะหาซื้อง่ายตามร้านขายยาทั่วไป อีกทั้งเมื่อคนหรือสัตว์ขับถ่าย เชื้อดื้อยาอาจจะเข้าไปสู่ระบบบำบัดของเสีย ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัว

E2765E98 A470 4313 823E 6A405A414166

แล้วแบบไหนหล่ะ เรียกว่า ทานยาพร่ำเพรื่อ “เป็นหวัด กินยาดักไว้ก่อน” หลายท่านชอบทานยาดักไว้ เพราะคิดว่า กันไว้ก่อน จะได้ไม่เป็นหนัก วันก่อนเพื่อนต่างชาติยังชมชอบเมืองไทย ด้วยเพราะเขาหาซื้อยาปฏิชีวนะง่ายดายมาก แถมไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ด้วย (ไม่เหมือนในต่างประเทศ เข้มงวดมากในเรื่องนี้) และด้วยเพราะเราหาซื้อยารับประทานเองได้ง่าย จึงบางครั้งอาจจะเป็นการทานยาโดยไม่ตรงกับโรค เรามาดูกันว่า เหตุผลไหนบ้างที่เรียกว่า ทานยากันพร่ำเพรื่อ

  • ทานยาปฏิชีวนะที่เหลือจากวันวาน (คราวก่อน)
  • ทานยาปฏิชีวนะร่วมกับคนอื่น (แบบว่า มีอาการคล้ายกัน เลยแบ่งให้ทาน เพราะเข้าใจว่าน่าจะอาการดีขึ้น)
  • ทานยาทุกครั้งที่รู้สึก เจ็บคอ เป็นหวัด ท้องเสีย (จัดยาทานเองเลย)
  • มักซื้อยาทานเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ทานยาที่แพทย์สั่ง แต่..ทานไม่ครบ
  • ขอร้องให้แพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะให้ (เผื่อป่วยครั้งหน้า อาการเดียวกัน จะได้มียาทาน)

ข้อแตกต่างอย่างไรบ้างหล่ะ กับการซื้อยาเอง กับ ไปพบแพทย์ให้จ่ายยา

ถือเป็นคำถามยอดฮิต พบบ่อย ทำบ่อย ซื้อเอง สะดวกกว่าเยอะ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ข้อแตกต่างของยาที่ซื้อจากเภสัชกรกับยาที่ได้จากแพทย์นั้น แตกต่างกันที่ “การวินิจฉัย” อธิบายง่าย ๆ คือ เภสัชกรจะไม่สามารถวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้แม่นยำเท่ากับแพทย์ ในขณะที่แพทย์เองอาจจะไม่มีความรู้เรื่องการจ่ายยาเท่ากับเภสัชกร และนอกจากนี้ยังมีตัวยาบางประเภท ที่คนทั่วไปนั้น มีความเข้าใจผิดอยู่คือ ยาต้านเชื้อแบคมีเรีย หรือที่เรียกว่า “ยาแก้อักเสบ” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะยาต้านแบคทีเรียและยาแก้อักเสบนั้นแตกต่างกัน…

ดังนั้น หากผู้ป่วยซื้อยารับประทานเอง ก็มีโอกาสที่จะได้ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาต้านแบคทีเรียมา โดยที่เข้าใจว่าคือยาแก้อักเสบ ซึ่งทานแล้วหายได้ทุกโรค จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น นั่นเอง

แล้วยาต้านแบคทีเรีย มันใช่ ยาแก้อักเสบ หรือเปล่า?

ต้องอธิบายอย่างนี้ว่า สาเหตุของการอักเสบ เกิดได้จากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบคทีเรียเลย เช่น การบาดเจ็บ เป็นต้น ดังนั้น ยาต้านแบคทีเรีย จึงไม่ใช่ยาแก้อักเสบ และนี่คือสาเหตุที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดอย่างมาก เพราะบางครั้ง เราทานยาต้านแบคทีเรีย เพราะเข้าใจว่า มันช่วยลดการอักเสบลงได้ ทำให้เกิดการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่สมเหตุผล จึงเป็นสาเหตุหลักให้เกิดการ ดื้อยา ในที่สุด!

A77E9FFA 03F6 4C13 AE54 8D24025EC9F4

แล้วปัญหาเชื้อดื้อยา ส่งผลร่างกายอย่างไร?

ทราบไหมว่า ประเทศไทย มีคนติดเชื้อดื้อยามากถึง 80,000 คนต่อปี และมูลค่าการใช้ต้านแบคทีเรียมากกว่า 10,000 ล้านบาท อัตราเสียชีวิตมากกว่า 38,000 คนต่อปี อยากจะบอกว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านแบคทีเรียมากกว่าคนในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ถึง 8 เท่า !

แล้วโรคไหนบ้างที่ไม่ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรีย ข้อนี้โดนใจหลายท่านเพราะเราจะได้รู้ ถูกไหม

  • โรคหวัด ไอ เจ็บคอ (หลายท่านเป็นบ่อย ช่วงอากาศเปลี่ยน) 80% เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาต้านแบคทีเรียฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น การกินยาต้านแบคทีเรีย จึงไม่รักษาโรคหวัด ไอ เจ็บคอ เลย อาการเจ็บคอส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เกิดจากโรคหวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ต้องกินยาต้านแบคทีเรีย ส่วนอาการเจ็บคอเพียงเล็กน้อย คือ 20% เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และอาจต้องได้รับยาต้านแบคทีเรีย โดยเราต้องสังเกตจากการมีอาการดังนี้
    – ไม่ไอ
    – มีไข้
    – ต่อมทอนซินมีจุดขาวหรือเป็นหนอง

หากมีอาการครบ 3 ข้อบน แนะนำ ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องดีกว่าค่ะ “เป็นไข้หวัดธรรมดา มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ ไม่ต้องทานยาต้านแบคทีเรีย”

  • โรคท้องเสีย แบบเฉียบพลัน 90% เกิดจากเชื้อไวรัส หรือ อาหารเป็นพิษ เพราะท้องเสียส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากแบคทีเรีย ท้องเสียส่วนใหญ่เกิดจาก อาหารเป็นพิษ มีอาการถ่ายเหลว หรือ ถ่ายเป็นน้ำ แต่ยาต้านแบคทีเรียใช้ได้ผลดีกับอาการท้องเสียที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ดังนั้นการทานยาต้านแบคทีเรียทุกครั้งที่ท้องเสีย เสี่ยงต่อการแพ้ยา และทำให้เชื้อดื้อยา อีกด้วย วิธีแนะนำที่ดีที่สุด คือ ดื่มน้ำเกลือแร่ ทดแทนเกลือแร่ที่เสียไป งดอาหารรสจัด และไม่ควรดื่มนม
  • โดนบาดแผล เช่นแผลถลอก แผลมีดบาด ไม่ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยทำความสะอาดบาดแผล แผลจะไม่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเลย เพราะเมื่อแผลไม่ติดเชื้อ รักษาความสะอาดอย่างดี แผลก็หายเองได้ แต่ถ้ามีอาการบวม แดง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

อ่านมาถึงตรงนี้ เราจะเห็นว่าอาการดื้อยาในร่างกายของคนเรา สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ถึงแม้จะใช้ยาที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตาม แต่หากร่างกายได้รับยาที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการดื้อยาโดยไม่จำเป็น ช่วงนี้บ้านเราก็รณรงค์เรื่องนี้กันมากขึ้น ต้องขอชื่นชมกับทุกหน่วยงานความรับผิดชอบ สำหรับผู้ที่สนใจสื่อความรู้เชื้อดื้อยา สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ http://atb-aware.thaidrugwatch.org

อากาศเย็นลงช่วงนี้ รักษาสุขภาพนะคะ พบกันใหม่ฉบับหน้า วันนี้ สวัสดีค่ะ

(เครดิต : สสส. , www.med.mahidol.ac.th, facebook.com/thai.antibiotic.awareness)
www.kinn.co.th
#KINN_Biopharma
#KINN_Holistic_Healthcare