COLUMNISTS

‘ชวน’ จัดระเบียบกิจการคณะกรรมาธิการ แก้ปัญหาทำงานซ้ำซ้อน ไม่ใช่เกมการเมือง

Avatar photo
1126

กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการในการ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ. 2562 ที่ท่านชวน หลีกภัยประธานสภาผู้แทนราษฎรลงนามเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

68956599 10156205133306791 6879601769177939968 o

ฝ่ายค้านพยายามชี้นำให้คนเข้าใจว่า ระเบียบฉบับนี้มีเนื้อหาให้คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ แจ้งประเด็นที่จะพิจารณา และบุคคลที่จะเชิญเข้ามาชี้แจงให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับทราบ ก่อนที่จะดำเนินการในสัปดาห์ถัดไป เป็นการออกระเบียบเพื่อเตะตัดขา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่พยายามเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงปมถวายสัตย์มาหลายสัปดาห์แล้ว พูดง่ายๆก็คือพยายามกล่าวหาว่าฉันชวน ออกระเบียบเพื่อปกป้องนายกและรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

มาดูข้อเท็จจริงถึงความเป็นมาของระเบียบฉบับนี้กันหน่อย ที่จริงแล้วระเบียบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่มีที่มาจากระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด เรื่องหนึ่ง โดยกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ.2552 ซึ่งใช้มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว สมัยนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นระเบียบที่ออกตามมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อไม่ให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะซ้ำซ้อนกัน

จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็บัญญัติหลักการลักษณะเดิมไว้ในมาตรา 129 ว่าการดําเนินการของคณะกรรมาธิการ ต้องไม่เป็นเรื่องซ้ําซ้อนกัน หากเรื่องใดมีความเกี่ยวข้องกัน ให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาที่จะต้องดําเนินการให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกชุดร่วมกันดําเนินการ จนเป็นหลักปฏิบัติในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 90 ที่กำหนดให้คณะกรรมาธิการรายงานเรื่องที่จะดำเนินการให้ประธานสภาทราบ และต้องไม่เป็นเรื่องซ้ำซ้อนกัน จนเกิดเป็นระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ. 2562

สาระสำคัญตามเนื้อหาของระเบียบกำหนดให้ประธานคณะกรรมาธิการทุกคณะรายงานให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบภายในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ ว่าจะมีการพิจารณาเรื่องใด ประเด็นใด และเชิญผู้ใด หรือหน่วยงานใดเข้าร่วมการพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป

หากประธานสภาพบว่าคณะกรรมาธิการมากกว่าหนึ่งคณะดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน สามารถสั่งให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำเรื่องนั้นไว้ชั่วคราว และจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภา และประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกันคือ

  1. ให้ประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องคณะใดคณะหนึ่ง เป็นประธานในการดำเนินการ หากตกลงกันไม่ได้ ให้ประธานสภาเป็นผู้กำหนด
  2. ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะร่วมกันดำเนินการ โดยให้คณะกรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งเป็นหลัก ส่วนคณะกรรมาธิการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ส่งกรรมาธิการตามจำนวนที่ที่ประชุมกำหนด
  3. ใช้แนวทางอื่นที่เห็นพ้องร่วมแล้วกัน แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้น ให้ประธานสภาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของประธานสภาให้ถือเป็นเด็ดขาด

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นสมมติว่า คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ , คณะกรรมาธิการการทหาร , คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ต้องการเชิญนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาชี้แจงเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณด้านความมั่นคง ในวันและเวลาเดียวกัน ย่อมเกิดปัญหาเกี่ยวกับการจัดการ ระเบียบฉบับนี้จึงเป็นทางออกหากเกิดสถานการณ์ที่คณะกรรมาธิการทำงานซ้ำซ้อนกัน ซึ่งจะช่วยให้การบริหารงานของกรรมาธิการทั้ง 35 คณะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นขณะเดียวกัน ก็ไม่ทำให้ การตรวจสอบ ของ สภา เป็นภาระที่เกินจำเป็นสำหรับหน่วยงานราชการและฝ่ายบริหาร

30988

ด้วยหลักการนี้ จึงยืนยันได้ว่า ระเบียบที่ออกมาเป็นประโยชน์เพื่อการจัดการทำงานของคณะกรรมาธิการและการจัดการด้านธุรการของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งท่านชวน ก็ยืนยันว่าไม่มีเจตนาใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมาธิการ อำนาจการขอเอกสารการเชิญบุคคลมาชี้แจงยังคงเป็นของกรรมาธิการ ไม่มีใครเข้าไปแทรกแซงหรือก้าวก่ายได้

ในทางกลับกัน สิ่งที่ต้องกังวลมากกว่าคือ การใช้กลไกตรวจสอบ ของสภาผู้แทนราษฎรไปในทางที่ผิด ซึ่งกำลังทำให้กฎหมายคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งๆที่กฎหมายฉบับนี้มีหลักการที่ดีในการเสริมสร้างเขี้ยวเล็บ ให้กรรมาธิการ ตรวจสอบได้อย่างเข้มข้น แทนที่จะเป็นแค่เสือกระดาษเหมือนในอดีต ที่ทำได้เพียงแค่ขอความร่วมมือแต่ไม่มีสภาพบังคับให้หน่วยงานราชการหรือฝ่ายบริหารต้องมาชี้แจงกับกรรมาธิการ

แต่ขณะนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมายฉบับดังกล่าวว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ตามคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 60 ตัดข้อความ เรื่องการออกคำสั่งเรียกไปแล้วจึงตีความว่า กฎหมายคำสั่งเรียกมีเนื้อหาเกินเลยไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดถือว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงต้องรอผลคำวินิจฉัยต่อไปว่าศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดอย่างไร

ต้นทางของปัญหา ที่นำไปสู่การส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากปัญหาที่มีคณะกรรมาธิการบางคณะ พยายามใช้อำนาจเรียกนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี แบบไม่สมเหตุสมผลและกำหนดประเด็นที่ไม่สอดรับกับอำนาจหน้าที่ของตัวเอง จนทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นอุปสรรคและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะใช้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบอย่างแท้จริง

ส่วนตัวแล้วเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากแม้ รัฐธรรมนูญ 60 จะไม่ได้บัญญัติคำว่าออกคำสั่งเรียกไว้แล้วแต่ก็ไม่ได้ห้าม กฎหมายจึงมีสภาพบังคับใช้ได้ตามปกติ ไม่ควรมีการทำลายหลักการที่ดีของกฎหมาย เพียงเพราะไปกระทบกับผู้มีอำนาจ เนื่องจากเนื้อหาในกฎหมาย ก็มีการถ่วงดุล กำหนดบทลงโทษในอัตราที่สูง เพื่อไม่ให้กรรมาธิการใช้อำนาจเกินขอบเขต ทำผิดปฏิบัติไม่ชอบมีสิทธิ์ติดคุก 1 ถึง 10 ปี

ขณะเดียวกันก็กำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน กรณีบุคคลที่ถูกเรียกต้องมาชี้แจง หากไม่มามีสิทธิ์ติดคุก 3 เดือน จึงถือว่าเนื้อหาของกฎหมายมีความสมดุล คือให้อำนาจกรรมาธิการ ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ป้องปรามด้วยการกำหนดบทลงโทษที่สูงเพื่อไม่ให้กรรมาธิการ ทำเกินขอบเขต

สิ่งที่ส.ส.ทั้งสภา ควรตื่นตัวและให้ความสนใจจึงควรเป็นการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่ มาทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูม กับระเบียบที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนของกรรมาธิการ