COLUMNISTS

ความทุ่มเทของ ‘ชวน หลีกภัย’ ต้นแบบนักการเมืองไทย

Avatar photo
8334

ช่วงสัปดาห์นี้คงจะเห็นข่าว “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นอาการเดิมที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กำเริบอีกครั้ง จากผลของการทำงานหนัก พักผ่อนน้อยจนร่ายกายอ่อนแอ ต้องนำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

389986

ในฐานะเป็นหนึ่งในทีมงานของท่านทราบดีว่า ท่านให้ความสำคัญกับงานสภามากกว่าสุขภาพร่างกายของตัวเอง (และท่านก็ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเจียดเวลาส่วนตัวที่เหลือน้อยนิดหลังเลิกงาน ชกลม โหนบาร์) แต่อาการป่วยล่าสุดมาจากการทำงานต่อเนื่องหลายวันโดยไม่ได้พักผ่อน ลากยาวตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม มีภารกิจเยือนเซอร์เบีย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาครั้งที่ 141 โดยปฏิบัติภารกิจต่อเนื่อง และกลับมาถึงประเทศไทยเช้าวันที่ 17 ตุลาคม เวลา 5.00 น. แต่แทนที่จะพัก ท่านชวนรีบกลับบ้านอาบน้ำแต่งตัว เพื่อไปทำหน้าที่ประธานพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต่อทันที

ด้วยความที่ต้องเตรียมงานเอกสารหลายอย่าง จึงไม่มีใครรู้ว่า ท่านชวนยังไม่ได้นอนตลอดเส้นทางที่บินกลับจากเซอร์เบียจนมาถึงไทย เรียกว่าวัย 81 ปี ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะใจทุ่มเทเกินร้อย แต่ร่างกายคนเราไม่ใช่เหล็กไหล ห่อหุ้มด้วยเลือดเนื้อ แม้จิตวิญญาณจะแข็งแกร่ง แต่ก็มิอาจทานทนเชื้อโรคที่แทรกซึมเข้ามาในยามที่ร่างกายอ่อนแอได้

เย็นวันที่ 18  ตุลาคม หลังจากเสร็จภารกิจจากสำนักพระราชวัง ท่านกลับถึงสภาด้วยอาการหนาวสั่น แพทย์ที่สภาให้ท่านทานยาแก้ปวด และขอให้ท่านนอนพักบนโซฟาที่ห้องทำงาน มีคุณหมอสุกิจ อัถโถปกรณ์ (ที่ปรึกษาฯ)​ และ ท่านสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล (เลขาฯ)​ เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยความกังวลใจ

ทีมงานหวั่นใจด้วยรู้ว่าโรตติดเชื้อในกระแสเลือดที่ท่านห่างหายไปกว่าสองปี กลับคืนมาแน่นอน ไม่สามารถประเมินความรุนแรงได้ และที่ยากที่สุดคือ ไม่มีใครสามารถรั้งท่านให้พักจากงานที่ท่านตั้งใจจะทำในคืนนี้ได้ ช่วงเวลานั้นยาวนานไม่ถีงชั่วโมง แต่สำหรับทีมงานรู้สึกเหมือนยาวนานมาก บรรยากาศเต็มไปด้วยความกังวล ยิ่งเห็นหมอสุกิจ ขยับผ้าห่มให้ท่าน และก้มหน้าขณะนั่งเฝ้าท่าน ในห้องที่หรี่ไฟให้มีแสงน้อยที่สุดเพื่อให้ท่านได้พักอย่างเต็มที่ ทีมงานถึงกับน้ำตาซึม หลายคนไปรอกันอยู่หน้าห้องเพื่อให้เห็นกับตาในยามที่ท่านตื่น

แต่เหมือนมหัศจรรย์ เมื่อถึงเวลาที่ท่านต้องขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่ ท่านลีมตาถามเวลา ลุกขึ้นมาแต่งตัวและเซ็นเอกสารที่ต้องอนุมัติเพื่อให้ได้เปิดสภาในวันที่ 19 ตุลาคม และเดินออกจากห้องทำงานอย่างรวดเร็ว เหมือนคนแข็งแรงทุกอย่าง ทีมงานถึงขั้นต้องหอบเอกสารวิ่งตาม

ระหว่างการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ท่านชวนไม่แสดงให้ใครรู้ถีงอาการป่วยไข้ของท่านเลย จนทีมงานต้องตัดสินใจแจ้งท่านสุชาติ ตันเจริญ รองประธานคนที่ 1 เพื่อแจ้งขอให้ท่านพักการทำหน้าที่ถึง 2 ครั้ง ส่วนหมอสุกิจนั่งอยู่หลังบัลลังก์คอยสังเกตอาการตลอดเวลา เพราะกลัวอาการแทรกซ้อนระหว่างทำหน้าที่ จนสุดท้ายท่านชวนก็ยอมให้ท่านสุชาติทำหน้าที่แทน โดยไม่บอกถึงความผิดปกติในร่างกาย

คนใกล้ชิดรู้ดีว่าถ้าท่านยอมถอยจากการทำหน้าที่เมื่อไหร่ นั่นหมายความว่าไม่ไหวแล้วจริง ๆ แต่คนภายนอกจะไม่มีทางทราบเลย เพราะท่านยังคงทำตัวตามปกติ ยิ้มแย้ม และเดินให้กำลังใจทั้ง ส.ส. เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ และเจ้าหน้าที่สภาตลอดทางกลับขึ้นรถไปนอนพักที่บ้านในคืนวันที่ 18 ตุลาคม

จนกระทั่งวันที่ 19 ตุลาคม วันสุดท้ายของการประชุมสภาฯ เพื่ออภิปรายหลักการ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ท่านก็มีความประสงค์จะไปทำงานอีก แต่ท่านมีไข้สูงในตอนเช้าขณะทำงานที่รัฐสภา ทีมงานจึงต้องขอให้ท่านเข้าเช็คอาการ และรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยแพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อในกระแสเลือด คาดว่าน่าจะติดเชื้อเพราะร่างกายพักผ่อนน้อย โดยแพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ น้ำเกลือ และขอให้รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล

ท่านยังกำชับกับทีมงานว่าจะไปควบคุมการประชุมในช่วงท้ายก่อนปิดสภาฯ เน้นให้ประสานงานแจ้งความเคลื่อนไหวในสภาให้ท่านทราบเป็นระยะ แต่หลังจากได้รับยา ท่านก็หลับไป ทีมงานจึงตกลงกันว่า ควรให้หลับโดยไม่ต้องปลุก เพราะจะเสี่ยงช็อกจากภาวะติดเชื้อได้ จึงเป็นเหตุให้ท่านชวนไม่ได้อยู่ควบคุมการประชุม และลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563

เช้าวันที่ 20 ตุลาคม ทันทีที่ตื่นท่านชวนก็ถอดน้ำเกลือคาเข็มไว้ที่ข้อมือ ออกมาทานข้าวกับทีมงานให้ทุกคนสบายใจ และสั่งให้เตรียมการสำหรับปฏิบัติภารกิจที่มีการนัดหมายล่วงหน้าไว้แล้วโดยไม่มีการเลื่อนนัด เพราะท่านเป็นห่วงว่าจะกระทบกับเจ้าของงาน เรียกว่าเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลสลับกับการไปปฏิบัติภารกิจ ก่อนจะไปร่วมงานหมั้นบุตรชายของนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่โรงแรมปาร์คนายเลิศ ในช่วงเช้าของวันที่ 21 ตุลาคม เสร็จงานต้องกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกครั้งในช่วงบ่าย ซึ่งแพทย์ย้ำว่าขอให้พักผ่อนมากๆ เพราะค่าเลือดยังไม่ค่อยดี

แม้จะดูเหมือนฝืนไปหน่อย แต่นี่คือสิ่งที่ท่านชวนทำให้พวกเราเห็นตลอดระยะเวลาทำงานการเมืองกว่า 50 ปี ตั้งแต่เป็น ส.ส.สมัยแรกเมื่อปี 2512 จนถึงตอนนี้ปี 2562 ท่านชวน หลีกภัย ในวัย 81 ปี ดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ก็ยังคงทำงาน โดยไม่เคยบกพร่องต่อหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนได้เขื่อมั่นในระบอบรัฐสภา

มากไปกว่านั้น คือในฐานะ “นักการเมือง” ท่านชวนยังคงให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่พบปะประชาชน ทั้งงานบวช งานแต่ง งานศพ หรืองานอะไรก็แล้วแต่ เพราะท่านสอนย้ำอยู่เสมอว่า “ทำงานทุกนาที ทุกเวลาที่ทำได้ ในวันที่เขายังให้ความสำคัญกับเรา” เพราะความรับผิดชอบของนักการเมือง คือการให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ ให้ความสำคัญกับประชาชน เป็นวิธีคิดที่นักการเมืองทุกคนควรเอาเยี่ยงอย่างความทุ่มเทของนักการเมืองต้นแบบที่ชื่อ “ชวน หลีกภัย”