COLUMNISTS

‘งบฯ ขาดดุล’ ไม่ใช่ปัญหา ถ้าผลตอบแทนคุ้ม

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
1616

คาดว่าในที่สุด ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 คงผ่านความเห็นชอบจากสภาตามที่หลายๆฝ่ายคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า และการอภิปรายต่อเนื่อง 3 วัน คงไม่ได้ทำ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ ต่อ ร่างงบประมาณฯ ฉบับนี้แต่ประการใด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การประชุมสภา พิจารณาร่างงบประมาณ พ.ศ. 2566 1

ร่างงบฯ 2563 มีวงเงินรวม 3.2 ล้านล้านบาท จัดทำงบฯ แบบขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท แยกเป็น รายจ่ายประจำ 2.39 ล้านล้านบาท หรือ 74.8 % ของงบฯรวม ส่วนงบลงทุน 6.55 แสนล้านบาท หรือ 20.5 % แบ่งเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 6.26 หมื่นล้านบาท หรือ 1.9 % ชำระคืนต้นเงินกู้ 8.9 หมื่นล้านบาท หรือ2.8 %

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงว่า หลักในการจัดทำงบประมาณชุดนี้เพื่อรับ มือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก และขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และย้ำบ่อยๆ ด้วยว่า อยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง

การที่ร่างงบประมาณ 2563 คือฉบับแรกในยุคหลัง คสช. ที่มีการอภิปรายกันอย่างจริงๆจัง และร่างงบประมาณฉบับนี้บังคับใช้ล่าช้ากว่ากำหนด 4 เดือนจากเหตุผลทางการเมือง ทำให้ร่างงบประมาณฉบับนี้ มีความพิเศษกว่าฉบับก่อนๆในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ประเด็นหลักๆ ที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาอภิปรายคือ การจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องหลายปี และทำสถิติสูงสุดในปีงบประมาณนี้ การเพิ่มขึ้นของงบฯกระทรวงกลาโหม หรือการอภิปราย ของ ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้หน่วยงานรับผิดชอบจัดทำงบประมาณเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดสรรงบประมาณโดยด่วน

พิสิฐอภิปรายว่า ปัจจุบัน กระทรวงภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นกระทรวงเก่าแก่หรือกระทรวงใหญ่ จะได้รับจัดสรรงบประมาณ 70-80 % ของเม็ดเงินที่ยื่นขอ ขณะที่กระทรวงใหม่ได้จัดสรรเพียง 40 % ของตัวเลขที่เสนอ เนื่องจากหน่วยงานที่ดูแลด้านงบประมาณมองไม่ได้ประโยชน์จากกระทรวงใหม่ ผลที่ตามมาคือกระทรวงนั้นๆ ไม่สามารถผลักดันอะไรใหม่ๆ ออกมาได้เลย

อีกตัวอย่าง การอภิปรายจากพรรคฝ่ายค้านที่ว่า การจัดสรรงบประมาณที่รวมศูนย์ ทำให้การจัดสรรงบประมาณไม่ได้จัดลำดับความจำเป็นของจังหวัดต่างๆ เช่นจังหวัดที่ยังไม่พัฒนาได้งบประมาณน้อยกว่าจังหวัดที่เจริญแล้ว ฯลฯ โดยภาพรวมแล้ว การอภิปรายจากพรรคร่วมฝ่ายและพรรคร่วมรัฐบาล เป็นการกล่าวถึงวิธีการจัดทำมากกว่า จะมุ่งนำเสนอเชิงแนวคิดว่า ควรหรือไม่ควร ที่รัฐบาลต้องทำงบขาดดุล เพื่อเป็นหัวหอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ประเทศไทยทำงบขาดดุลต่อเนื่องมาหลายปี เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่จัดทำงบประมาณในลักษณะนี้ และอดีตรัฐมนตรีคลังเกือบทุกคนในช่วง 10 ปีเศษที่ผ่านมา มักมีแผนจัดทำงบสมดุล หากไม่ได้ยึดถือเป็นเรื่องจริงจังนัก เช่นเป้าหมายจัดทำงบสมดุลในปี 2559 ก่อนเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

เช่นเดียวกับ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน ที่ประกาศจะทำงบสมดุลในปี 2573 ซึ่งเชื่อว่าในท้ายที่สุดคงจบด้วยการเลื่อนแผนออกเช่นเดียวกับครั้งที่แล้วมา เพราะการทำงบขาดดุลเป็นเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจ ในยุคที่ความไม่แน่นอนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในโลกเศรษฐกิจปัจจุบัน

ในทางเทคนิค ประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่อง การรักษาวินัยการเงินการคลัง ดังสะท้อนจากสัดส่วนการคลังที่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทั้งสิ้น เช่น มีงบลงทุนไม่น้อยกว่า 20 % ของงบรวม สัดส่วนการชำระหนี้ภาครัฐอยู่ที่ 2.5-3.5 % ของงบฯรวม หนี้สาธารณะไม่เกิน 60 % ของจีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และ หนี้รัฐบาลต่อประมาณการรายได้ไม่เกิน 35 % เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การพิจารณา การจัดทำงบประมาณ นอกจากสถิติขาดดุลต่อเนื่องหลายๆ ปี และตัวเลขชาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์ ที่ฝ่ายค้านพูดซ้ำๆกันหลายคนแล้วยังต้องพิจารณาด้วยว่า การก่อหนี้เพื่อจัดทำงบประมาณขาดดุลนั้น ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่ ทั้งในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ