ผู้เขียนได้สอนหนังสือ หนึ่งในผู้เรียนเป็นผู้บริหารระดับสูง อายุ 52 ปี ได้มีโอกาสรู้จักผู้บริหารท่านนี้มาสักระยะหนึ่ง แต่ไม่ได้สนิทมาก ไม่ทราบว่าที่ผ่านมาท่านทำงานอะไรมา
พอเริ่มเรียนไปสักพัก เนื่องจากเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่อง Personality จึงมีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องส่วนตัวกันมากขึ้น
ผู้บริหารท่านนี้เล่าว่า ท่านมักมองเห็นความเสี่ยงได้รวดเร็วกว่าคนอื่น ๆ เวลามีใครเสนออะไร ท่านจะมองเหมือนเหรียญ คือมันต้องมีทั้งด้านดีและไม่ดี ท่านจะแนะนำและชี้ให้คนอื่นเห็นปัญหาหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แต่มันก็ทำให้ท่านเครียดมากกว่าคนส่วนใหญ่
ท่านบอกว่า “ผมรู้ว่าผมเครียดมาก แต่นี่ผมเครียดน้อยกว่าเมื่อ 7 ปีก่อนมากนะ”
ท่านจึงเล่าต่อว่าเมื่อตอนอายุ 46 ท่านเป็น GM อยู่ในบริษัทน้ำมันยักษณ์ใหญ่ระดับโลก งานก็แน่นอนว่าต้องเครียด กดดัน ต้องเดินทางบ่อย ไม่ค่อยได้พักผ่อน ไม่ค่อยออกกำลังกาย และแน่นอนว่าเรื่องการดูแลสุขภาพนี่ ท่านก็ทำได้เพียงตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ ท่านจำได้ชัดเจนว่าเดือนธันวาคมไปตรวจสุขภาพ ตรวจละเอียดทุกอย่าง และมีวิ่งสายพาน ผลตรวจออกมาดี ไม่มีอะไรให้ต้องตกใจ ท่านก็สบายใจ
ต่อมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในวันนั้นก็ไปทำงานปกติ อยู่ ๆ เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ต่อมาทราบภายหลังว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจล้มเหลว
แล้วท่านรอดมาได้อย่างไร เพราะวันนี้เจอท่าน ก็ยังดูปกติ
ท่านบอกว่าโชคดีว่าเกิดขึ้นที่ทำงาน และที่บริษัทมีแพทย์ พยาบาล รถพยาบาล มีแม้กระทั่งเครื่องปั๊มหัวใจ ท่านบอกว่าวันนั้นท่านรู้สึกถึงช่วงที่ไปเห็นโลกสีขาวมาแวบหนึ่งด้วย พอปั๊มหัวใจ ตัวท่านดีดขึ้นมานั่ง คือฟื้นกลับมาอีกครั้ง
ท่านบอกว่าภายนอกอาจดูเหมือนเดิมแต่จริง ๆ หัวใจที่เคยล้มเหลวไปครั้งนั้นทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนมันตายไปด้วย และช่วงนี้ท่านก็รู้สึกได้เลยว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ พรุ่งนี้ท่านมีนัดตรวจ Echo หัวใจ และนี่ผ่านมา 7 ปี คล้ายๆ ว่ามันจะกลับมาอีกครั้ง…. พังแล้ว จึงถามท่านว่า วันนี้ ท่านจะกลับไปพักก่อนไหม ท่านบอกไม่ได้ เพราะรอเรียนมาปีหนึ่งแล้ว ซึ่งทำให้เราแอบกังวลเงียบๆ
ระหว่างพักกลางวัน ได้นั่งทานข้าวโต๊ะเดียวกัน ในวันนี้มีเมนูหลากหลายให้เลือก ผู้เขียนก็สังเกตว่าท่านจะทานอะไร
ท่านเลือกทานไก่ย่างติดหนังกับข้าว พร้อมราดซอสซองโตไปบนไก่กองนั้น เราก็ตกใจถามว่า ทานเค็ม ทานหนังไก่ได้หรือ (เคยได้ยินหมอบอกว่า ถ้าเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจไม่ควรทานเค็ม และหนังไก่ก็น่าจะเกี่ยวกับคอเลสเตอรอลด้วย)
ท่านบอกว่า “กลางวันจะทานอย่างที่อยากทาน” แล้วตอนเย็นค่อยลด แต่เมื่อได้ยินเมนูมื้อเย็นก็นิ่งไปนิดหนึ่ง ก่อนถามท่านต่อว่า หลังจากที่ท่านผ่านวิกฤติตอนอายุ 46 จนวันนี้ก็ 7 ปีแล้ว มีพฤติกรรมอะไรที่ทำไปจากเดิมหรือไม่ ท่านก็บอกว่าทำคล้ายเดิมมาก ก็ยังไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ค่อยดูแลเรื่องความเป็นอยู่ ที่สำคัญตอนนี้ ย้ายงานแล้ว คิดว่าความเครียดน่าจะน้อยลง แต่กลับเป็นว่าปัจจุบันเครียดกว่าเดิม
เพื่อนบางคนเคยบอกว่า “ถ้าคนเราเจอวิกฤติในชีวิต เดี๋ยวจะเปลี่ยนตัวเองได้ เช่น ถ้าเคยป่วยหนักมาก่อน ก็จะหันมาดูแลสุขภาพ”
มันอาจไม่จริง!
เพราะการเปลี่ยนความเคยชิน นั้นโคตรยากเลย ตัวเองก็ไม่เคยคิดว่าจะเปลี่ยนได้ คิดว่าจะออกกำลังกาย ก็ทำๆ หยุดๆ หรือออกกำลังกายหนัก แต่ยังปรับเรื่องกิน เรื่องเครียดไม่ได้เลย ทำไมยากจัง
ฟอร์บส์ได้เคยมีบทความเรื่อง 5 เหตุผลที่คนเปลี่ยนยาก
1. ไม่รู้จะทำไปได้สักกี่วัน หมดแรงใจง่ายดาย เช่น ออกไปวิ่งสักวันก็ว่ายากแล้ว แต่ทำอย่างไรให้มีวินัยต่อเนื่อง
2. มีความอยากแต่ขาดวิธีการหรือเครื่องมือ
3. อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืน ออกกำลังกาย 1 ชม. คาดว่าพรุ่งนี้จะผอมเลย
4. ความเชื่อมั่นต่อตัวเองว่าทำได้ถูกบั่นทอนง่ายดายเหลือเกิน
5. ในขีวิตมีหลายสิ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา จึงยากในการจัดลำดับความสำคัญ เรามักจะหา 30 นาทีไปออกกำลังกายไม่ได้ แต่มีเวลา 2 ชม.ไปทำกายภาพบำบัดได้
ในบทความแนะนำว่า ถ้าอยากเปลี่ยน ต้องมีโค้ช นั่นซิ ตอนที่ตัวผู้เขียนเองได้มีโอกาสไปเข้าเข้าโปรแกรม LeadingWell ต้องฝึกฝน ฝึกเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ กลับมาจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
อยากได้ ต้องลงมือทำ พาตัวเองไปสู่จุดที่ค่อยๆ ดีขึ้น แต่ถ้าใจไม่แข็งพอ เดินคนเดียวมันเหงา มาเข้ากลุ่ม LeadingWell Community กับสลิงชอทซิคะ
ขอส่งกำลังใจให้ผู้อ่านบทความนี้ให้ทุกท่านเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ