COLUMNISTS

จบปัญหา ‘พาราควอต’ พิสูจน์ภาวะผู้นำ ‘บิ๊กตู่’

Avatar photo
6115

เถียงกันมากว่าสองปีแล้วสำหรับสารเคมี “พาราควอต” ว่าจะแบนหรือจะใช้ต่อ หลังเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560  คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงครั้งที่ 4/2560 ซึ่งมีกรรมการจากสี่กระทรวงเข้าร่วม ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรฯกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเซต เนื่องจากมีข้อมูลบ่งชี้ว่า เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

cfeff9e6eb501c718346f22a131bb19301ed64db

โดยกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้ และระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และต้องยุติการนำเข้า ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560  และยุติการใช้สารเคมีทั้งสองตัวในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 แต่ หน่วยงานที่กี่ยวข้องก็ไม่กล้าเดินตามมตินี้ มีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต มี นายภักดี โพธิศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นประธาน

สุดท้ายโยนเรื่องกลับไปให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นผู้ชี้ขาด คณะกรรมการชุดนี้มีมติครั้งแรกในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ไม่เลิกการใช้สารเคมีทั้งสามรายการ แต่จะจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดกว่าเดิม โดยให้กรมวิชาการเกษตร เสนอมาตรการควบคุม กำกับสารเคมี อาทิ กำหนดให้จำหน่ายในสถานที่ที่กำหนด กำหนดคุณสมบัติของผู้ใช้และผู้รับจ้างพ่นสารเคมี ต้องเป็นผู้ผ่านการฝึกอบรมเท่านั้น เนื่องจากสารเคมีอื่นที่เสนอทดแทนนั้น ไม่สามารถใช้ได้กับพืชทุกชนิด มีประสิทธิภาพไม่ครอบคลุม และมีราคาสูงกว่า

แต่เรื่องก็ยังไม่จบเพราะมีการร้องเรียนไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทั่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ให้กรมวิชาการเกษตรให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสามชนิดภายใน 1 ปี พร้อมทั้งส่งความเห็นไปยังกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และเร่งพัฒนาวิธีทดแทน และแทงเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี ให้นำเรื่งเข้าครม.รับทราบ ถึงกรณี หน่วยงานรัฐไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่นอกจากจะไม่เป็นผลแล้ว คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังออกมติครั้งสองยืนยันมติเดิมสวนทางกับข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินอีกด้วย

tox

โดยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตราย 16 ต่อ 5 ยืนยันไม่เลิกพาราควอต ให้เหตุผลว่าหากยกเลิกทันที่ จะมีผลกระทบต่อเกษตรกร และให้ใช้เฉพาะพืช 6 ชนิด ประกอบด้วย ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนว่าจะเลิกหรือไม่เลิกภายใน 2 ปี หรือภายในวันที่ 1 มกราคม 2564 แต่หากสามารถหาสารทดแทนได้ก็ยกเลิกก่อน 2 ปีได้

ผลจากการปสวนทางปืนของคณะกรรมการวัตถุอันตรายทำให้ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติซ้ำอีกครั้งในวันที่ 25 เมษายน 2562 ให้ยุติการนำเข้าพาราควอต ชี้ว่าอันตรายถึงชีวิต ขีดเส้นตาย 60 วันให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกการใช้ภายในกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเลิกใช้พาราควอต ตามมติผู้ตรวจการแผ่นดิน

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม. สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศเพื่อปรับระดับการควบคุมพาราควอตให้เป็นวัตถุอันตราชนิดที่ 4 หรือห้ามนำเข้าหรือห้ามจำหน่าย ห้ามมีไว้ในครอบครอง ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายก็อยู่ในสภาพเหมือนหมูไม่กลัวน้ำร้อนเพราะถัดมาแค่ห้าวัน คือวันที่ 18 กันยายน ก็มีมติย้ำว่า จะยกเลิกสารเคมีทั้งสามชนิดก็ต่อเมื่อมีสารทดแทน และสารทดแทนดังกล่าวจะต้องไม่กระทรบเกษตรกร ทั้งเรื่องราคา คุณภาพ รวมถึงความเป็นพิษ โดยขอขยายเวลาดำเนินการออกไป 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดราวกลางเดือนพฤศจิกายนนี้

จากที่ลำดับข้อมูลในข้างต้นจะเห็นได้ว่า เรื่องพารา ควอต ไม่สามารถจบได้ที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ต้องมีความชัดเจนในระดับผู้นำรัฐบาลก่อนเป็นอันดับแรกว่า จะเดินไปในทิศทางไหน โดยจะบอกว่าไม่ทราบข้อมูลไม่ได้ เพราะมีการถกเถียงเรื่องนี้มานานกว่าสองปีแล้ว จึงถึงเวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องตัดสินใจได้แล้วว่าจะเอาอย่างไร

เพราะแม้แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ยังมีความชัดเจนในเรื่องนี้แล้ว โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุม การใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากเห็นว่าสารเคมีทั้งสามชนิดคือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเซต เป็นสารอันตราย

เรื่องของ “พาราควอต” จึงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบทั้งต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้นำเข้า ซึ่งผู้นำรัฐบาลต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร แทนที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของข้าราชการว่ากันเอง เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรี

000 1598RH

ทางออกตอนนี้คือต้องรีบตัดสินใจเชิงนโยบาย ด้วยการชั่งน้ำหนักจากข้อมูลทั้งหมดที่มีว่า รัฐบาลจะเดินไปทางไหน หากตัดสินใจยกเลิกพาราควอต รัฐก็ต้องออกขั้นตอนการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร เช่นอาจเริ่มด้วยการจำกัดปริมาณ หรือกำหนดระยะเวลาปรับตัว-ยกเลิก และมาตรการควบคุม-บทลงโทษการใช้พาราควอต รวมถึงต้องคำนึงว่าจะใช้สารอะไรมาใช้ทดแทนที่ดีกว่าพาราควอต โดยคำนึงถึงภาระต้นทุนของเกษตรกรด้วย

แต่หากไม่สามารถหาสารทดแทน หรือกำหนดวิธีอื่นๆมาทดแทนได้ และตัดสินใจให้ใช้พาราควอตต่อไป ก็ต้องมีการอธิบายให้ทุกฝ่ายเข้าใจร่วมกัน ถึงความจำเป็น มีการควบคุมการใช้เช่น การออกมาตรฐานความปลอดภัยและคำเตือนให้ชัดเจน การให้ความรู้และวิธีการใช้งานสารเคมีให้ถูกต้องกับพืช เพราะปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากการไม่ได้ให้ความรู้มาตั้งแต่ต้น จนลุกลามบานปลายมาถึงปัจจุบัน

นอกจากการใช้สารเคมีแล้ว ก็ควรมีการสนับสนุนเรื่องเครื่องมือการเกษตร ที่จำเป็นที่เกี่ยวกับการกำจัดหญ้าให้มีราคาถูกลง และให้ความรู้เรื่องเครื่องมือที่เหมาะสมกับการทำลายวัชพืชแต่ละชนิด หรือแม้แต่การทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน การปลูกพืชคลุมดินไล่วัชพืช ทั้งหมดสามารถทำควบคู่กันไปได้เพื่อลดปริมาณการใช้พาราควอตให้น้อยลง

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นจะชัดเจนไม่ได้ หากนายกรัฐมนตรีไม่กล้าใช้ภาวะผู้นำตัดสินใจในเชิงนโยบาย