COLUMNISTS

ใครได้ประโยชน์ สูงสุด จาก ‘ชิม ช้อป ใช้’

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
17414

ยอดผู้สมัครร่วมโครงการ ชิม ช้อป ใช้ เต็มโควตา 1ล้านคนต่อวัน ต่อเนื่องนับจาก เปิดให้สมัครวันแรกเมื่อวันที่  23 กันยายน ที่ผ่านมา และคาดว่าจะครบเป้าหมาย 10 ล้านตนสัปดาห์หน้าก่อนกำหนด (15 พ.ย.)ถึงเดือนเศษสถิติดังกล่าวนับเป็นปรากฎการณ์เลยทีเดียว  

หากพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่หนุนให้โครงการ ชิม ช้อป ใช้  เปลี่ยนสถานการณ์ปุบปับ  จากเดิมก่อนเปิดให้ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ดูเหงาๆ ขนาดกระทรวงการคลัง ยังกังวลว่าจะมีร้านสมัครร่วมโครงการต่ำกว่าเป้าหมาย พลิกกลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณชน คือ จุดเด่นของโครงการที่ชูมอบวงเงิน 1,000 บาท เป็นจุดขายแล้ว          

ลงทะเบียนชิมช้อปใช้          

การนำเสนอของสื่อรายงานความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ของมาตรการที่เปิดให้สมัครเป็นรายวันเต็มโควตา ล้าน แล้วปิดรับสมัคร จนเกิดการกระแสตามข่าวว่า วันนี้ผู้สมัครจะเต็มโควตาก่อนวันก่อนหน้าหรือไม่ และกระแสยิ่งสะพัดเมื่อชาวเน็ตแชร์ประสบการณ์ในการสมัครของแต่ละคนเหมือนการประลองกันอยู่ในที   

นอกจากนี้ การเปิดกว้างให้ ผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป  มีสิทธิสมัคร และให้สมัครผ่านช่องทางออนไลน์  ทำให้การสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อขอรับสิทธิวงเงิน 1,000 บาท  เหมือนการเล่นเกม ใครได้ ใครยังไม่ได้ ได้แล้วต้องไปค้นหาจังหวัด ดูแผนที่หาร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ บรรยากาศที่ต้องลุ้นหน่อยช่วยสร้างกระแสให้โครงการดังกล่าวเป็นอย่างดี  

สัปดาห์ที่แล้ว  นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาแถลงข่ให้ข้อมูลผู้สมัครรายภาคว่า  ณ วันที่ 26 กันยายน  ผู้ลงทะเบียนร่วมโครงการว่า 43% อยู่ภาคกลางรองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ16  %  ภาคตะวันออก 15%  ภาคใต้ 11 % ภาคเหนือ 9% และตะวันตกอีก 6% เมื่อแยกตามช่วงอายของผู้สมัคร 54 % อยู่ในช่วงอายุ 31-60 ปี  (วัยทำงาน ) 32% ช่วงอายุ 22-30 ปี (เริ่มต้นทำงาน) 18% ช่วงอายุ 18-21 ปี (นักศึกษา) และ 6% อายุ60 ปีขึ้นไป (วัยชรา)

ชิม ช้อป ใช้ เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำหนด วงเงินไว้ 10,000 ล้านบาท เพื่อมอบให้ผู้เข้าร่วมโครงการ 10 ล้านคน รายละ 1,000 บาท  รูปแบบ เหมือนนำมามาตรการช้อปช่วยชาติและเที่ยวเมืองรองที่ รัฐบาลประยุทธ์ 1 ให้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีในช่วงปี 2561 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย มารวมกัน 

หากโครงการ ชิม ช้อป ใช้ มีจุดต่างจากโครงการเดิมๆ ตรงที่มุ่งเพิ่มเงินสดในมือ แทนการขอคืนภาษีที่ต้องรอข้ามปี ด้วยการมอบวงเงิน 1,000 บาท และพร้อมคืนเงินสดตามสัดส่วนจากการใช้จ่ายเพิ่ม โดยหวังให้เกิดการใช้จ่ายข้ามจังหวัดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว  และหวัง (ต่อ) ด้วยว่ารายได้จะไหลเข้าชุมชน และกระเป๋าของชาวบ้าน  ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบ และดันให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ชิม ช้อป ใช้

แม้โครงการ ชิม ช้อป ใช้ออกตัวแรงหากยังมีความกังวลว่า ร้านค้าที่ร่วมโครงการ โดยเฉพาะรายย่อยจะเข้าร่วมไม่มากพอ สะท้อนจากที่ ประสงค์ พูนธเรศ ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาเชิญชวนให้ ร้านข้าวเหนียว ส้มตำ ร้านข้าวเหนียวหมูปิ้ง เข้าร่วมโครงการเนื่องจากเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยว

ข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง ระบุจำนวนร้านค้าที่ เข้าร่วมโครงการ ชิม ช้อป ใช้ ว่ามีอยู่ราว 150,000 ราย  คลิกดูจาก  www. ชิมช้อปใช้.com มี ร้านค้าจากทั่วประเทศเข้าร่วมทั้งจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านท่องเที่ยวและจังหวัดที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดว่าจะไปเที่ยว

กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการ ชิม ช้อป ใช้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนี้ให้ขยายตัวไม่น้อยกว่า 0.2% แต่มีคำถามตามมาว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ใครที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยในจังหวัดรอง หรือ กลุ่มธุรกิจใหญ่ จังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ เพราะมาตรการเปิดกว้าง สำหรับผู้ประกอบการทุก ขนาด ตั้งแต่ร้านกล้วยปิ้ง ที่กำแพงเพชร ไปจนถึงศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ  

แน่นอน  ผู้ได้รับประโยชน์ทางตรงจากโครงการคือผู้เข้าร่วมโครงการ 10 ล้านคน ที่จะได้รับมอบวงเงินคนละ 1,000 บาท  หากเป็นเรื่องยากจะคาดเดาว่า  ท้ายที่สุดการจับจ่ายจะเกิดขึ้นที่เมืองรองเป็นหลัก  หรือผู้ใช้สิทธิแค่เดินทางข้ามจังหวัดที่กรุงเทพฯ และ คนกรุงเทพฯที่ได้สิทธิแค่เดินทางไปช้อปปิ้ง ตามห้างชานเมืองย่านปริมณฑลมากกว่านำไปใช้เพื่อชิมเพื่อใช้หาประสบการณ์ใหม่ๆ

ถ้าเป็นอย่างหลังคงไม่ต้องระบุว่า“ใครได้รับประโยชน์”สูงสุด